ตับ ตับอักเสบ ตับแข็ง โรคตับ ไขมันพอกตับ มะเร็งตับ ตับอ่อน

“ตับ” ของเราป่วยด้วยอาการใดได้บ้าง

“ตับ” ของเราป่วยด้วยอาการใดได้บ้าง

แม้ ตับ จะเป็นอวัยวะมหัศจรรย์สักแค่ไหน แต่ตับก็ป่วยได้เช่นกัน โดยสาเหตุของการป่วยมีทั้งจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของมนุษย์ที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการป่วย และเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ทั้งนี้อาการป่วยยอดฮิตที่สามารถเกิดกับตับได้มีดังนี้

 

ไขมันพอกตับ

ไขมันพอกตับ (Non – alcoholic Fatty Liver Disease) เรียกอีกชื่อว่า ไขมันเกาะตับ ไขมันคั่งในตับ หรือไขมันจุกตับ แล้วแต่จะเรียก ความหายคือ ภาวะที่มีไขมัน โดยเฉพาะไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) เข้าไปสะสมอยู่ในตับมากกว่าปกติ (โดยไม่ได้มีสาเหตุจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์) โดยปกติแล้วตับของเราจะมีไขมันน้อยกว่าร้อยละ 5 หากมากกว่านั้นถือว่า “เริ่มมีภาวะไขมันพอกตับ” อาจแบ่งระดับไขมันพอกตับได้เป็น 3 ระดับ ดังนี้

ระดับที่1 หากมีไขมันในตับมากกว่าร้อยละ 5 ถึงประมาณ 1 ใน 3 ของตับทั้งหมด เรียกว่าไขมันพอกตับน้อย

ระดับที่2 หากมีไขมันพอกตับตั้งแต่ 1 ใน 3 ถึง 2 ใน 3 เรียกว่า ไขมันพอกตับปานกลาง

ระดับที่3 หากมีไขมันสะสมในตับมากกว่า 2 ใน 3 เรียกว่า ไขมันพอกตับมาก

ไขมันพอกตับเป็นโรคที่พบได้ในกลุ่มคนทุกเพศ ทุกวัย ยิ่งผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไปก็ยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น โดยมักพบประมาณ 1 ใน 4 ของประชากรวัย 35 ปีขึ้นไป โรคไขมันพอกตับจึงถือเป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุดในบรรดาโรคตับทั้งหมด โดยผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคไขมันพอกตับมากที่สุดคือ ผู้ที่เป็นโรคอ้วน

จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกรายงานว่า พ.ศ.2557 ทั่วโลกมีประชากรที่น้ำหนักเกินประมาณ 1,900 ล้านคน และในจำนวนนี้กว่า 600 ล้านคนเป็นโรคอ้วน ขณะที่ประเทศไทย กรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข รายงานว่า เมื่อ พ.ศ.2556 มีผู้เป็นโรคอ้วนถึง 16 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 26 ของคนไทยทั้งประเทศ โดยอาจกล่าวได้ว่า ผู้ป่วยโรคอ้วนแทบทุกคนมักมีภาวะไขมันพอกตับแทบทั้งสิ้น (แม้ไม่อ้วนก็อาจพบได้)

ทั้งนี้โรคไขมันพอกตับนับเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเกิดโรคตับอักเสบ จนอาจลุกลามไปสู่โรคตับแข็งและมะเร็งตับในที่สุด ไขมันพอกตับจึงเป็นโรคสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม

ภาวะไขมันพอกตับอาจแบ่งระยะการดำเนินโรคได้เป็น 4 ระยะ ได้แก่

ระยะที่หนึ่ง เป็นระยะมีไขมันก่อตัวอยู่ในเนื้อตับ ซึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดผลใดๆ กล่าวคือ ไม่มีการอักเสบหรือพังผืดเกิดขึ้นในตับ

ระยะที่สอง เริ่มมีอาการอักเสบของตับ หากปล่อยให้การอักเสบดำเนินไปเรื่อยๆ นานเข้าอาจกลายเป็นตับอักเสบเรื้อรัง

ระยะที่สาม เกิดการอักเสบรุนแรง เซลล์ตับค่อยๆ ถูกทำลายลง กลายเป็นพังผิดในตับ

ระยะที่สี่ เซลล์ตับถูกทำลายไปมากจนตับไม่อาจทำงานได้ตามปกติอีกต่อไป กลายเป็นตับแข็ง และอาจลุกลามกลายเป็นมะเร็งตับได้

ทั้งนี้การอักเสบของตับนั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณของไขมันที่มาเกาะตับว่ามากหรือน้อยอย่างเดียวเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับลักษณะทานพันธุกรรมของแต่ละคน บางคนที่มีไขมันเกาะตับมาก แต่ร่างกายมีกระบวนการต้านการอักเสบได้ดี ก็อาจไม่ก่อให้เกิดการอักเสบก็เป็นได้ ขณะที่อีกคนหนึ่งมีไขมันเกาะตับไม่มาก แต่ร่างกายมีกระบวนการต้านการอักเสบไม่ค่อยดี ก็อาจส่งผลให้เกิดตับอักเสบได้ นอกจากนี้ยังมีเหตุปัจจัยอื่นๆ เช่น เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง และการใช้ยาหลายชนิดที่ช่วยส่งเสริมให้โรครุนแรงมากขึ้น

ตับ ตับอักเสบ ตับแข็ง โรคตับ ไขมันพอกตับ มะเร็งตับ ตับอ่อน

 

สาเหตุของโรค

ส่วนใหญ่มักเกิดจากการรับประทานมากเกินความจำเป็น โดยเฉพาะการรับประทานของมัน ของทอด และของหวาน ซึ่งเป็นอาหารประเภทที่ให้พลังงานสูง ร่วมกับการไม่ออกกำลังกาย ตับซึ่งมีหน้าที่สำคัญคือ เก็บพลังงานสำรองไว้ใช้ยามจำเป็นก็จะทำหน้าที่เก็บพลังงานเหล่านั้นในรูปของไขมัน เมื่อสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ จากตับที่มีสีแดงเรื่อๆ ก็กลายเป็น “สีเหลือง” แทน เพราะมีไขมันพอกเต็มไปทั่ว โดยไขมันไม่ได้พอกที่ตับเพียงเท่านั้น หากผ่าท้องผู้ป่วยที่อ้วนลงพุดจะพบว่า ไขมันได้พอกอวัยวะอื่นๆ ด้วย

นอกจากนี้ “การลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว” และภาวะพุงโภชนาการ” ก็ทำให้เกิดภาวะไขมันพอกตับได้เช่นกัน

 

 

 

 

<< อาการภาวะตับอักเสบ เป็นอย่างไร อ่านได้ที่หน้า 2 >>

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.