ข้อบ่งชี้ของการผ่าตัด
ส่วนใหญ่การรักษาด้วยยาดังกล่าวมักได้ผลดีประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วย แต่การผ่าตัดก็ยังนำมาใช้ในกรณีที่
- เมื่อมีความผิดปกติทางกายภาพของจมูก ซึ่งมีผลต่อการระบายของโพรงไซนัส เช่น ดั้งจมูกคด
- มีริดสีดวงจมูกที่รักษาด้วยยาพ่อจมูกและยารับประทานไม่ได้ผล
- ผู้ป่วยไซนัสอักเสบที่รักษาด้วยยา 4-6 เดือนไม่ได้ผล
- ในรายที่มีโรคแทรกซ้อน เช่น ฝีในสมอง เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หลอดเลือดดำในสมองอักเสบ
ถ้าปล่อยโรคไซนัสอักเสบไว้ไม่รักษาจะเกิดอะไรขึ้น
หากปล่อยให้เป็นโรคโดยไม่รักษา อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมา เช่น
- การอักเสบอาจลุกลามเข้าสู่ลูกตา ทำให้เกิดการอักเสบของลูกตาเป็นหนองในเบ้าตา
- การอักเสบอาจลุกลามเข้าสู่สมอง เกิดเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ฝีในสมอง ซึ่งเป็นโรคที่อาจทำให้เสียชีวิตได้
แม้ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้จะไม่ได้เกิดกับผู้ป่วยทุกราย แต่เนื่องจากเป็นแล้วอันตราย จึงไม่ควรเสี่ยงค่ะ
รักษาหายไปแล้วจะเป็นใหม่อีกได้ไหม
เมื่อรักษาจนหายเรียบร้อยดี เชื้อโรคตายหมดแล้ว (ไม่ว่าโดยการกินยา เจาะล้าง หรือผ่าตัด) ก็อาจเป็นใหม่ได้ถ้ามีเชื้อโรคใหม่ลงไปในโพรงไซนัสอีก โดยเฉพาะคนไข้ภูมิแพ้ เช่น โรคแพ้อากาศ โรคหืด ที่ไม่ได้รับการดูแลที่ดี จะมีสภาพในโพรงจมูกเอื้ออำนวยให้เกิดไซนัสอักเสบได้ง่ายกว่าคนปกติ
เราจะลดโอกาสเป็นไซนัสอักเสบได้อย่างไร
- รักษาสุขภาพโดยรวม เช่น ออกกำลังกายเป็นประจำ รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำมากๆ หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ
- หากเป็นหวัดไม่ควรปล่อยไว้นาน ควรรีบรักษา
- หากมีโรคแพ้อากาศ ต้องดูแลรักษา
- ควรหลีกเลี่ยงมลพิษต่างๆ เช่น ควันบุหรี่ ท่อไอเสียรถยนต์
- หากมีโรคในโพรงจมูก เช่น ริดสีดวงจมูก ดั้งจมูกคด ควรรับการรักษา
ข้อมูลจาก หนังสือโรคภูมิแพ้ สำนักพิมพ์คลินิกสุขภาพ
บทความน่าสนใจอื่นๆ
สูตรชีวจิต แก้ไซนัสอักเสบ ฉบับง่าย ทำได้แน่ๆ
ดูแลตัวเองด่วน ก่อนจมูกเน่าเพราะไซนัส
ประสบการณ์สุขภาพ เยียวยาไซนัส ขั้นรุนแรงด้วยน้ำอาร์ซีชีวจิต