การรักษา HIV และความก้าวหน้าการรักษาในปัจจุบัน

การวิจัยและการรักษา  HIV

นพ.ยูจีน  ครูน (Dr. Eugene Kroon) ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า เอชไอวี คือเชื้อไวรัสชนิดอาร์เอ็นเอ จัดอยู่ในกลุ่มรีโทรไวรัส (Retrovirus) เอชไอวีเปลี่ยนอาร์เอ็นเอของไวรัสเป็นดีเอ็นเอ และทำการแทรกดีเอ็นเอของมันเข้าไปในดีเอ็นเอของมนุษย์ เซลล์ส่วนมากที่มีดีเอ็นเอของไวรัสอยู่จะสามารถสร้างอนุภาคใหม่ของไวรัสออกมา และเซลล์นั้นจะตายไปจากภาวะเหนื่อยล้าหรือถูกกำจัดด้วยภูมิคุ้มกันของร่างกาย

อย่างไรก็ตาม บางเซลล์ที่มีดีเอ็นเอไวรัสอยู่ เรียกว่า “เซลล์ในภาวะแฝง” ซึ่งเซลล์นี้อาจจะถูกกระตุ้นและผลิตไวรัสได้อีกในภายหลัง ภูมิคุ้มกันของร่างกายจะไม่เห็นว่าเซลล์ที่มีเชื้อหลบซ่อนอยู่นี้จัดเป็นเซลล์ผิดปกติ ทำให้ไม่ถูกกำจัดและคงอยู่ในร่างกายได้เหมือนเซลล์ปกติอื่น ๆ ความสามารถในการหลบซ่อนของเชื้อ HIV หรือแหล่งสะสมของเชื้อเอชไอวี เป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ในการกำจัดเชื้อให้หมดไปจากร่างกาย เพราะการรักษาด้วยยาต้านไวรัสจะไม่สามารถกำจัดเชื้อที่ซ่อนอยู่ในเซลล์เหล่านี้ได้

เมื่อผู้ป่วยได้รับยาต้านไวรัส มักจะมีแหล่งสะสมเชื้อขนาดใหญ่อยู่แล้ว และจะลดลงด้วยอัตราครึ่งชีวิตที่ 44 เดือน ผู้ที่เริ่มยาต้านไวรัสเอชไอวีในระยะติดเชื้อเฉียบพลัน (ผู้ติดเชื้อในระยะเฉียบพลัน คือผู้ที่มีเชื้อเอชไอวีอยู่ในร่างกายหรือตรวจพบว่ามี viral load แต่ยังไม่สามารถตรวจหาแอนติเจนของเชื้อและแอนติบอดี้ต่อเชื้อได้) จะมีขนาดของแหล่งสะสมเชื้อเอชไอวีน้อยกว่าคนที่ได้รับยาต้านเมื่อติดเชื้อมานาน โอกาสที่จะพบคนที่ติดเชื้อในระยะเฉียบพลันนี้ได้ค่อนข้างยาก อย่างไรก็ตามตั้งแต่ปี 2009-2019 เราสามารถตรวจหาผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวีในระยะเฉียบพลันจำนวน 777 รายจาก 333,713 รายของผู้ที่เข้ามารับการตรวจที่คลีนิคนิรนาม ศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย

มีเพียง 2 รายในโลกที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ 100% ทั้ง 2 รายนี้ได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูกซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โดยทำการปลูกถ่ายด้วยเซลล์จากผู้บริจาคที่ดื้อหรือต้านทานต่อเชื้อเอชไอวี (พบประมาณ 1% ของชาวยุโรป) การรักษานี้อันตราย (อัตราการตายสูง) กระบวนการรักษาทำได้ยาก ราคาแพงและยังไม่เป็นที่แพร่หลาย ส่วนเทคโนโลยีการรักษาให้หายขาดอื่น ๆ   ยังอยู่ในขั้นทดสอบในสัตว์ทดลอง

การศึกษานี้ได้ถูกตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศ “เนเจอร์ คอมมูนิเคชั่น (Nature Communication)” เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน พบว่าการใช้เทคโนโลยีคริสเปอร์ (อังกฤษ: CRISPR)  (กระบวนการหรือเทคนิคการแก้ไขดัดแปลงพันธุกรรมหรือยีน โดยการตัดแล้วต่อส่วนของสารพันธุกรรมที่รู้จักกันดีว่า ดีเอ็นเอ) ร่วมกับการใช้ยาต้านเอชไอวีนั้นสามารถกำจัดเชื้อเอชไอวีในหนูได้ ถ้าเทคโนโลยีนี้สามารถพัฒนาต่อได้และอาจจะนำมาใช้ในคน การวิจัยเพื่อพัฒนาให้การรักษานี้มีความปลอดภัย และทำให้ราคาไม่แพงจะเป็นความท้าทายอย่างมากและอาจต้องใช้เวลานาน

อย่างไรก็ตาม เรารู้ว่าบางคนที่ได้รับยาต้านไวรัสเร็วตั้งแต่ติดเชื้อเอชไอวีระยะเฉียบพลัน สามารถควบคุมเชื้อเอชไอวีได้นานหลายปีหลังหยุดยาต้านไวรัส การควบคุม หมายถึง ตรวจไม่พบปริมาณเชื้อไวรัสในเลือดด้วยการตรวจวิธีปกติ (routine test)  นอกจากนี้อาจจะมีปริมาณไวรัสในเลือดเพิ่มขึ้นได้เล็กน้อย  และปริมาณเม็ดเลือดขาวซีดีสี่ปกติ (แสดงถึงสภาวะภูมิคุ้มกัน) บุคคลกลุ่มนี้ก็เหมือนกับบุคคลอื่น ๆ ที่ยังกินยาต้านไวรัส คือเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีแต่มีสุขภาพดี เรารู้ว่าอาจเกิดจากปริมาณของเชื้อที่หลบซ่อนอยู่น้อยมากร่วมกับการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันทำให้สามารถควบคุมเชื้อได้

ปัจจุบันพวกเราได้พยายามช่วยการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในอาสาสมัคร 67 รายที่เริ่มการรักษาในระยะติดเชื้อเฉียบพลัน  อย่างเช่น การให้วัคซีน และแอนติบอดีต่อเชื้อเอชไอวีและหยุดยาต้านไวรัส เพื่อดูประสิทธิภาพของการรักษาด้วยวัคซีนหรือแอนติบอดี้  เราพบว่าหลังการหยุดยาต้าน พบปริมาณเชื้อไวรัสกลับมาเพิ่มขึ้นในเลือด และอาสาสมัครทั้ง 67 รายเมื่อเมื่อตรวจพบปริมาณเชื้อไวรัสเพิ่มขึ้น จะกลับมาเริ่มยาต้านไวรัสและพบว่าสามารถควบคุมเชื้อไวรัสในเลือดได้ ปัจจุบันมุ่งเน้นไปที่การรักษาด้วยหลายวิธีร่วมกัน พบว่าการรักษาด้วยหลายวิธีร่วมกันนี้ในลิงที่ติดเชื้อเอชไอวี สามารถควบคุมเชื้อไวรัสในลิงได้ดี

ผลที่ตามมาของการรักษาเอชไอวีก่อนที่ภูมิคุ้มกันต่อเอชไอวีจะพัฒนาอย่างสมบูรณ์ คือ การตรวจแอนติเจน/แอนติบอดีของเอชไอวีตามวิธีปกติแล้วผลยังคงเป็นลบ  หรือ ไม่สามารถสรุปผลได้  และการทดสอบเดียวเท่านั้นที่จะใช้ตรวจสอบ คือการตรวจสอบไวรัสโหลด (viral load) ซึ่งจะให้ผลเป็นบวกอย่างชัดเจนในช่วงที่ติดเชื้อในระยะเฉียบพลัน เมื่อบุคคลที่มีผลการตรวจเป็นบวกพร้อมกับได้เริ่มยาต้านไวรัสเอชไอวีเร็วในระยะติดเชื้อเฉียบพลัน อาจทำให้เกิดการลดระดับของระบบภูมิคุ้มกันต่อเชื้อเอชไอวี และทำให้การตรวจแอนติเจน/แอนติบอดีที่เป็นผลบวกนั้นอาจจะกลายเป็นผลลบได้อีก ยาต้านไวรัสเอชไอวีจะทำให้ปริมาณไวรัสลดลงจนไม่สามารถวัดได้ในเลือด

หากประชาชนต้องการคำปรึกษาเกี่ยวกับ HIV สามารถติดต่อได้ที่ 1663

อ่านบทความอื่นๆ

เอดส์ : ภัยร้ายของวัยไร้เดียงสา

วาเลนไทน์ ห่วงวัยรุ่นมีเซ็กส์เพศสัมพันธ์ เสี่ยงโรคเอดส์

ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ ฯ เตือนความรุนแรงของกามโรค

ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี ภัยเงียบที่คุณควรรู้

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.