น้ำมันปาล์ม ดีหรือไม่ดี ต่อสุขภาพ ?

น้ำมันปาล์ม ตัวร้ายสุขภาพจริงหรือ ?

น้ำมันปาล์ม มีประโยชน์ต่อสุขภาพ หรือเป็นโทษมากกว่า เรามีคำตอบจากผู้เชี่ยวชาญครับ

ข้อมูลจาก Celeste Robb-Nicholson, Former M.D.Editor in Chief, Harvard Women’s Health Watch ระบุไว้ดังต่อไปนี้

1. น้ำมันปาล์มได้มาจากผลของต้นปาล์มน้ำมัน (Elaeis guineensis) เป็นหนึ่งในไขมันที่สามารถบริโภคได้ และผลิตกันอย่างแพร่หลายมากที่สุดในโลก

2. สำหรับปาล์มน้ำมัน ให้ผลผลิตน้ำมัน 2 ประเภท คือ สกัดจากเนื้อของผลไม้ (เรียกว่าน้ำมันปาล์ม) และเมล็ด (น้ำมันเมล็ดในปาล์ม) จึงทำให้น้ำมันปาล์มมีการบริโภคกันอย่างเเพร่หลาย

3. น้ำมันปาล์ม หรือน้ำมันเมล็ดปาล์ม และน้ำมันมะพร้าว มีข้อเสียที่ทุกคนรู้กันดี คือ ถูกจัดเป็นไขมันไม่ดี เพราะมีส่วนประกอบของไขมันอิ่มตัวสูง

4.โดยในน้ำมันปาล์มประกอบด้วยไขมันอิ่มตัว ประมาณ  50 เปอร์เซ็นต์  และมีปริมาณของกรดไขมันอิ่มตัวที่มากกว่าน้ำมันเมล็ดในปาล์มกับน้ำมันมะพร้าว ประมาณ 85 เปอร์เซ็นต์

5.ไขมันอิ่มตัวในน้ำมันปาล์ม ช่วยเพิ่มปริมาณคอเลสเตอรอลที่ไม่ดี และไตรกลีเซอไรด์ในเลือด ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อการเกิดโรคหัวใจ

6.โดยทั่วไปหากเก็บไขมันที่มีปริมาณกรดไขมันอิ่มตัวสูงในอุณหภูมิห้อง จะทำให้ไขมันแข็งตัวได้ ทำให้น้ำมันปาล์มมีลักษณะกึ่งแข็งที่อุณหภูมิห้อง แต่สามารถนำมาแปรรูปเป็นน้ำมันปรุงอาหารเหลวได้

น้ำมันปาล์ม
ใช้น้ำมันปาล์มนั้นดีกว่าเลือกใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจน และอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าเนย

อย่างไรก็ตามในปัจจุบันเป็นรู้กันอยู่เเล้วว่าการเลือกใช้น้ำมัน เเละคุณภาพของไขมันชนิดต่างๆมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะไขมันที่ไม่ดี อย่างเช่นไขมันทรานส์ ซึ่งในปัจจุบันถูกห้ามใช้เเล้วในประเทศไทย

ไขมันทรานส์ ไม่เพียงเพิ่มระดับไขมันเลว LDL และไตรกลีเซอไรด์เท่านั้น แต่ยังมีผลลดระดับไขมันดี HDL อีกด้วย ไขมันทรานส์ส่วนใหญ่สร้างขึ้นโดยการเติมไฮโดรเจน

น้ำมันที่เติมไฮโดรเจน ส่วนใหญ่ใช้ในระบบอุตสาหกรรม ขนมอบ ขนมขบเคี้ยวที่ผ่านกระบวนการแปรรูปจำนวนมาก และอาหารทอดต่างๆก็เป็นแหล่งสำคัญของไขมันทรานส์เช่นกัน

ทางออกของผู้ผลิตอาหารและร้านอาหารจึงจำเป็นต้องหาทางเลือกอื่นเพื่อทดแทน ไขมันทรานส์ หนึ่งในนั้นคือน้ำมันปาล์ม ที่มีกรดไขมันอิ่มตัวน้อยกว่าเนยและไม่มีไขมันทรานส์ แต่ไม่ได้ถึงกับแย่เหมือนทรานส์ไขมัน และไม่ใช่ไขมันดี เป็นอาหารเพื่อสุขภาพเหมือนไขมันดีอื่นๆ ที่มีกรดไขมันอิ่มตัวน้อย

เเต่อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการของฮาร์วาร์ด ระบุว่า ใช้น้ำมันปาล์มนั้นดีกว่าเลือกใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจน และอาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าเนย

เลือกน้ำมันใช้ให้ถูก ได้ประโยชน์

น้ำมันดอกคำฝอย

น้ำมันดอกคำฝอยสกัดจากเมล็ดดอกคำฝอย ซึ่งประเทศที่ปลูกต้นคำฝอยมาก ได้แก่ ประเทศอินเดีย เม็กซิโก และ สหรัฐอเมริกา

น้ำมันดอกคำฝอยได้รับความนิยมเนื่องจากเป็นน้ำมันพืชที่มีปริมาณกรดไขมันอิ่มตัวต่ำ มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่งสูง ซึ่งมีข้อมูลรายงานว่า น้ำมันดอกคำฝอยสามารถลดปริมาณคอเลสเตอรอลชนิดร้ายในเลือด ป้องกันไขมันในหลอดเลือดอุดตัน และช่วยลดความเสี่ยงโรคหัวใจได้

แนะนำ ผัด ทอดและทำน้ำสลัดได้

น้ำมันเมล็ดทานตะวัน อีกหนึ่งน้ำมันที่น่ามีติดบ้าน สำหรับทำอาหารได้หลากหลายเมนู

น้ำมันเมล็ดทานตะวัน

น้ำมันเมล็ดทานตะวันสกัดจากเมล็ดทานตะวัน พื้นที่ที่มีการปลูกต้นทานตะวันมากคือ ประเทศรัสเซีย แคนาดา สหรัฐอเมริกา ฮังการี และอาร์เจนตินา

มีปริมาณกรดไขมันอิ่มตัวต่ำ มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่งสูง เช่นเดียวกับน้ำมันดอกคำฝอย แต่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียวสูงกว่า มีรายงานการวิจัยระบุว่า น้ำมันเมล็ดทานตะวันมีส่วนช่วยลดปริมาณคอเลสเตอรอลร้ายชนิดแอลดีแอลคอเลสเตอรอล แต่ไม่ช่วยลดปริมาณไขมันไตรกลีเซอไรด์หรือเพิ่มปริมาณคอเลสเตอรอลดีชนิดเอชดีแอลคอเลสเตอรอล

แนะนำ ผัด การทอดโดยใช้ไฟแรง และใช้ทำน้ำสลัด

น้ำมันงา

น้ำมันงาสกัดจากเมล็ดงา ผลิตมากในประเทศจีน อินเดีย พม่า แอฟริกา เม็กซิโก ประเทศแถบอเมริกากลางและอเมริกาใต้ น้ำมันงามีสีเหลืองอ่อน มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว

ผลวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Yale Journal of Biology and Medicine ระบุว่า เมื่อนักวิจัยให้ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงอายุ 35 – 60 ปี ที่ได้รับการรักษาด้วยการกินยาขับปัสสาวะ กินอาหารที่ปรุงจากน้ำมันงาแทนน้ำมันชนิดอื่น โดยใช้น้ำมันงาปรุงอาหารเฉลี่ยวันละ 35 กรัม หลังจากนั้น 45 วัน นักวิจัยจึงทดลองให้ผู้ป่วยกลับมากินอาหารที่ปรุงด้วยน้ำมันชนิดเดิมที่เคยใช้

ผลการทดลองพบว่า น้ำมันงาทำให้ค่าความดันโลหิตทั้งตัวบนและตัวล่างกลับสู่ระดับปกติ ผู้ป่วยมีน้ำหนักตัวและค่าดัชนีมวลกายลดลงแต่หลังจากหยุดกินน้ำมันงา ค่าสุขภาพต่างๆ กลับเพิ่มสูงขึ้น

ผลการทดลองดังกล่าวสรุปว่า น้ำมันงาช่วยลดความดันโลหิตในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตที่กินยาขับปัสสาวะร่วมด้วยได้

แนะนำ ไม่เหมาะกับการทอดที่ต้องใช้ไฟแรง เพราะอาจเสี่ยงต่อการเกิดสารก่อมะเร็ง เหมาะสำหรับการผัดโดยใช้ไฟแรงปานกลาง หรือทำน้ำสลัด

น้ำมันมะพร้าว

มะพร้าวมีถิ่นกําเนิดอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยประเทศไทยปลูกมะพร้าวมากเป็นอันดับ 6 ของโลก รองจากประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดีย บราซิล และศรีลังกา สกัดจากเนื้อมะพร้าวแห้งซึ่งมีน้ำมันประมาณร้อยละ 63 – 68 โดยใช้วิธีบีบแยกน้ำมันออกมา

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วันทนีย์ เกรียงสินยศ อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการมหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูล ว่า “แม้ว่าน้ำมันมะพร้าวจะมีกรดไขมันอิ่มตัวมาก แต่ต่างจากน้ำมันชนิดอื่นตรงที่ส่วนประกอบของน้ำมันมะพร้าวประมาณครึ่งหนึ่งมีความยาวโมเลกุลปานกลาง

“เมื่อร่างกายได้รับจะย่อยง่ายและดูดซึมได้ง่าย ทำให้มีการสะสมในร่างกายน้อยกว่าน้ำมันชนิดอื่น  ที่มีกรดไขมันอิ่มตัว เช่นเดียวกัน จึงพบว่ามีการรับประทานเป็นอาหารเสริม แต่หากกินร่วมกับน้ำมันอื่นจนได้รับปริมาณเกินเกณฑ์ก็ไม่ดีต่อสุขภาพ ดังนั้นควรใช้ในการประกอบอาหาร แต่ไม่ควรกินเป็นอาหารเสริม”

น้ำมันมะพร้าวนับว่ามีประโยชน์ที่ดูดซึมง่าย ร่างกายสามารถนำไปใช้เป็นพลังงานได้อย่างรวดเร็ว ทั้งยังมีรายงานการศึกษาที่น่าสนใจจากประเทศบราซิล โดยการทดลองให้อาสาสมัครกินน้ำมันมะพร้าววันละ 30มิลลิลิตร ร่วมกับอาหารพลังงานต่ำและออกกำลังกายสัปดาห์ละ 4 วัน

หลัง 12 สัปดาห์พบว่า น้ำหนักตัว ค่าดัชนีมวลกาย ระดับคอเลสเตอรอลรวมและคอเลสเตอรอลร้ายชนิดแอลดีแอลคอเลสเตอรอลไม่เปลี่ยนแปลง แต่มีผลเพิ่มระดับไขมันดีชนิดเอชดีแอลคอเลสเตอรอลในเลือด

HOW TO COOK

น้ำมันมะพร้าวมีกรดไขมันอิ่มตัวสูงสามารถใช้ทอดหรือปรุงอาหารด้วยความร้อนสูงได้

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ที่มา
Harvard Women’s Health Watch

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.