ภาวะหมดไฟ

“อนามัยโลก” รับรอง ภาวะหมดไฟ เป็นกลุ่มอาการที่ควรได้รับการดูแลจากแพทย์

เข้มงวด เจ้าระเบียบ

การเป็นคนมีระเบียบวินัยนั้นถือเป็นสิ่งที่ดี  แต่หากใครที่ยึดถือกฎเกณฑ์ต่างๆอย่างเคร่งครัดเกินไป  จนไม่เคยรู้จักคำว่า “ยืดหยุ่น” บ้าง  ก็อาจก่อความเครียดให้ตัวเองได้

เนื่องจากคนที่มีนิสัยเจ้าระเบียบมักจะชอบเคี่ยวเข็ญตัวเองให้ใช้ชีวิตอยู่ในกรอบตลอดเวลา  นอกจากนั้นยังคาดหวังว่า
ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัว  เช่น  ครอบครัว  เพื่อนร่วมงานองค์กร  ฯลฯ  จะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์หรือข้อบังคับต่างๆ ด้วยเช่นกัน บางครั้งคนกลุ่มนี้จึงติดนิสัยเผด็จการ  ชอบบังคับให้คนอื่นทำทุกอย่างตามมาตรฐานของตนเอง

ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตยังบอกด้วยว่า  การเป็นคนเจ้าระเบียบมากเกินไปมีส่วนทำให้ความสุขในชีวิตลดลง  เพราะคนประเภทนี้ยึดถือแนวคิดในการทำงานแบบเพอร์เฟ็กชั่นนิสต์ จึงต้องทำงานหนักและเหนื่อยกว่าคนอื่นหลายเท่า  เพื่อให้ผลงานออกมาสมบูรณ์แบบทุกกระเบียดนิ้ว อีกทั้งการไม่รู้จักยืดหยุ่นและชอบคาดหวังให้ผู้อื่นทำทุกอย่างตามมาตรฐานของตัวเอง  ยังทำให้คนกลุ่มนี้หงุดหงิดง่าย  เพราะเมื่อใดที่ต้องทำงานร่วมกับคนที่มีแนวทางปฏิบัติต่างจากตนเอง พวกเขาจะรู้สึกไม่พอใจอยู่เสมอ  โดยไม่เคยย้อนกลับมาคิดว่า
มนุษย์แต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน  จนทำให้ตนต้องแบกรับความเครียดไปโดยไม่รู้ตัว  และเป็นสาเหตุก่อโรคหัวใจและโรคอื่นๆ  เช่น  ไมเกรน  ความดันโลหิตสูงตามมา

ผู้หญิงทำงาน

เวิร์คกิ้งวูแมนตัวแม่

“ทำงานตัวเป็นเกลียว  หัวเป็นนอต”  คือนิยามของคนทำงานยุคนี้  และดูเหมือนว่าค่านิยมในการทำงานหนักจะเป็นสิ่งที่ใช้วัดคุณค่าของคนได้เป็นอย่างดี  แต่เชื่อหรือไม่คะว่า  การมุ่งมั่นทำงานหนักจนไม่มีเวลาพักผ่อนแบบนี้  นอกจากจะทำให้เสียสุขภาพแล้ว  ยังส่งผลรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต!

เรื่องนี้ชีวจิตไม่ได้โม้  แต่การทำงานหนักจนตายมีกรณีศึกษาให้เห็นกันจริงๆในแดนปลาดิบ  โดยมีการค้นพบโรคชนิดหนึ่งชื่อว่า โรคคาโรชิ(Karochi Syndrome)  ที่หมายถึงการเสียชีวิตเพราะทำงานหนัก

โรคที่ว่านี้เกิดจากลักษณะนิสัยของชาวญี่ปุ่นที่มีความมุ่งมั่นกับการทำงานเป็นอย่างมาก  บางคนก็ทุ่มเทให้การทำงานล่วงเวลาจนไม่ยอมพักผ่อนและเกิดความเครียดสะสม  ซึ่งเป็นเหตุให้หัวใจและสมองต้องทำงานหนักมากขึ้น  นำไปสู่การเกิดโรคคาโรชิ ซึ่งมีอาการคล้ายกับโรคใหลตาย  คือนอนหลับแล้วเสียชีวิตไปเฉยๆบนโต๊ะทำงานหรือสถานที่ต่างๆ  เช่น  รถไฟฟ้า  สวนสาธารณะ  ฯลฯ  แค่คิดภาพตามก็น่ากลัวแล้วค่ะ

ประหม่า กังวล ตีตนไปก่อนไข้

หลายคนเคยมีอาการหัวใจเต้นแรง  หายใจติดๆขัดๆ เหงื่อออก  และมือไม้สั่น  ในเวลาที่รู้สึกกลัว  วิตกกังวล  หรือประหม่าเมื่อต้องทำอะไรต่อหน้าคนหมู่มาก  ซึ่งอาการดังที่กล่าวมาคงเป็นตัวบ่งบอกได้ว่า  ลักษณะนิสัยของคนกลุ่มนี้มีส่วนเชื่อมโยงกับหัวใจอย่างไร

ดังที่ดร.วัลลภ  ปิยะมโนธรรม และดร.ปรัชญา  ปิยะมโนธรรม สองนักจิตวิทยาชื่อดัง  กล่าวไว้ในหนังสือ พัฒนาจิตพิชิตงานว่า  คนทำงานที่มีนิสัยขี้กลัว  ขี้ประหม่า  จะรู้สึกอึดอัดและเครียดง่ายกว่าคนทั่วไป  เพราะพวกเขามักจะคิดว่าตัวเองถูกจับจ้องอยู่ตลอดเวลา  อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องการปรับตัวเข้ากับผู้อื่น  สุดท้ายจึงต้องเก็บทุกอย่างไปคิดมากและร้องไห้ตามลำพัง
จนกลายเป็นคนเก็บกด  ซึ่งส่งผลเสียต่อทั้งร่างกายและจิตใจ

ส่วนในวารสารอเมริกัน  คอลเลจ  ออฟ  คาร์ดิโอโลจี (Journal of the American College of Cardiology) ได้ระบุเช่นกันว่า  การวิตกกังวลกับสิ่งต่างๆเกินกว่าเหตุมีส่วนก่อโรคหัวใจและทำให้ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเสียชีวิตเร็วขึ้น

เนื่องจากระดับความวิตกกังวลส่งผลให้ผนังหลอดเลือด  ซึ่งเป็นทางผ่านของเลือดและออกซิเจนที่จะส่งไปเลี้ยงหัวใจเกิดการอุดตัน  จนก่อให้เกิดอาการหัวใจวายและเจ็บแน่นหน้าอกเพราะหลอดเลือดหัวใจตีบได้

เครียด ทำงาน

ขี้น้อยใจ

ใครๆก็เคยน้อยใจกันทั้งนั้น  แต่หากคุณผู้อ่านท่านใดที่มักจะเก็บทุกสิ่งทุกอย่างมาน้อยใจ  หรือรู้สึกว่าตัวเองต่ำต้อยด้อยค่าอยู่บ่อยๆจนแทบจะกลายเป็นกิจวัตรประจำวัน  คงต้องคอยระวังโรคหัวใจถามหา

เพราะข้อมูลจากมหาวิทยาลัยคอลเลจ  ลอนดอน (University College London)  ประเทศอังกฤษ  ได้ทำการศึกษาวิจัยพบว่า  ผู้ที่รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและอาจหัวใจวายง่ายกว่าคนทั่วไป

การศึกษาครั้งนี้มีการสอบถามกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นข้าราชการที่ทำงานให้รัฐบาลอังกฤษ  จำนวน 8,000 คน  ปรากฏว่า  กลุ่มตัวอย่างที่เห็นด้วยกับประโยคที่ว่า  “ผม/ดิฉันมีความรู้สึกว่าตัวเองได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม”  จะมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจสูง  เนื่องจากความไม่พอใจที่ไม่ได้รับสิ่งต่างๆตามความคาดหวังจนต้องเก็บไปทุกข์  คิดมาก  และเกิดความเครียดตามมาจึงส่งผลเสียต่อการทำงานของหัวใจค่ะ

ชอบคิดลบ

นิสัยสุดเสี่ยงในข้อสุดท้ายที่อันตรายไม่แพ้ข้ออื่น  คือ  การชอบคิดลบ  มองโลกใบนี้เป็นสีดำมืดไปหมด  จนบางคนอาจถึงขั้นคิดไปเองว่าชีวิตของเราช่างไร้ความสุขเสียจริงๆ  คนที่ชอบคิดลบแบบนี้จึงเกิดความเครียดและซึมเศร้าได้ง่าย  จนเป็นเหตุให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น

ดังที่วารสาร ไซโคโลจิคอล  บูลเลติน (Psychological Bulletin) ระบุถึงงานวิจัยชิ้นหนึ่งซึ่งกล่าวว่า  การมองโลกในแง่ดีช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์  คนที่ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขจึงมักจะมีสุขภาพดีตามไปด้วย  ซึ่งตรงข้ามกับคนที่ชอบมองโลกในแง่ร้าย  เพราะนอกจากคนกลุ่มนี้จะมีหน้าตาหมองหม่นไม่สดใสแล้ว  ทัศนคติที่เป็นลบยังส่งผลให้เกิดความเครียดง่ายและทำให้หัวใจทำงานผิดปกติ

ผลวิจัยยังอธิบายเพิ่มเติมว่า  การหัวเราะที่ออกมาจากใจจริงบ่อยๆยังมีส่วนช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือดที่หัวใจให้ดียิ่งขึ้น

ดังนั้น  ผู้ที่มักจะคิดลบจนไม่ค่อยได้หัวเราะจึงเท่ากับเป็นการทำให้หัวใจอ่อนแอลงในทางอ้อมด้วย  จึงยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจค่ะ

เครดิท : WHO


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

12 อาหารต้านเครียด รับรองกินแล้วอารมณ์ดี ไม่เหวี่ยงวีน

วิธีแก้ ออฟฟิศซินโดรม ด้วยท่าออกกำลังกายแบบง่ายๆ

เรื่องต้องรู้ ก่อนนวดรักษา โรคออฟฟิศซินโดรม

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.