โรคทอนซิลอักเสบ, ทอนซิลอักเสบ, เจ็บคอ, ไอ, โรคของคอ

โรคทอนซิลอักเสบ โรคของคอ

ข้อบ่งชี้ในการรักษาโรคทอนซิลด้วยการผ่าตัด

ข้อบ่งชี้ในการรักษาโรคทอนซิลด้วยการผ่าตัด ซึ่งแนะนำโดย The American Academy of Otolaryngology – Head and Neck Surgery (AAO – HBNS) ได้แก่

  • ทอนซิลมีขนาดโตมากจนอุดกั้นทางเดินหายใจ ผู้ป่วยมีปัญหาในการหายใจการกลืน นอนกรน และ/หรือโรคหยุดหายใจขณะหลับ
  • เกิดหนองรอบทอนซิล และรักษาไม่ได้ผลด้วยยาปฏิชีวนะ
  • ทอนซิลมีลักษณะเหมือนว่าอาจเกิดจากโรคมะเร็ง หรือมีทอนซิลโตเพียงข้างเดียว (มักเกิดจากโรคมะเร็ง) เพื่อให้ได้ผลชิ้นเนื้อตรวจทางพยาธิวิทยา
  • เกิดทอนซิลอักเสบตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปใน 1 ปี ทั้งๆ ที่ได้รับการรักษาถูกต้อง
  • มีกลิ่นปากเรื้อรังจากทอนซิลอักเสบเรื้อรัง รักษาแล้วไม่ดีขึ้นด้วยยาปฏิชีวนะ
  • เป็นโรคทอนซิลอักเสบเรื้อรัง และเป็นพาหะโรคสเตร็ปโทรต ทั้งนี้โดยไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ

 

อาการภายหลังผ่าตัดทอนซิล

ใน 1 สัปดาห์ภายหลังผ่าตัดทอนซิลมักมีอาการดังนี้

  • เจ็บคอมาก
  • อาจมีไข้ต่ำๆ จากการขาดน้ำ เพราะอาจดื่มน้ำได้น้อยเนื่องจาเจ็บคอ
  • อาจมีคลื่นไส้อาเจียนได้บ้าง
  • อาจมีเจ็บหูร่วมด้วย
  • น้ำลาย เสมหะมีเลือดปน (ไม่มาก)
  • บริเวณทอนซิลมีเมือกสีเหลือง หนา ปกคลุม
  • มีกลิ่นปาก

โรคทอนซิลอักเสบ, ทอนซิลอักเสบ, เจ็บคอ, ไอ, โรคของคอ

ผลข้างเคียงจากการผ่าตัดทอนซิล

ผลข้างเคียงจากการผ่าตัดทอนซิลพบได้น้อย ที่อาจพบได้ ได้แก่เลือดออกจากแผลผ่าตัด แผลผ่าตัดติดเชื้อ และภาวะขาดน้ำเนื่องจากดื่มน้ำน้อย เพราะเจ็บคอ/เจ็บแผลผ่าตัด (เนื้อตัวและปากแห้ง น้ำลายเหนียวมาก ไม่มีน้ำลาย ปัสสาวะน้อย สีเหลืองเข้ม)

 

การดูแลตนเองหลังผ่าตัดทอนซิลและการพบแพทย์

การดูแลตนเองหลังผ่าตัดทอนซิลและการพบแพทย์ ได้แก่

  • ปฏิบัติตามแพทย์และพยาบาลแนะนำ
  • รับประทานยาต่างๆ ให้ครบถ้วน ถูกต้อง
  • หยุดงานหรือหยุดโรงเรียนตามแพทย์และพยาบาลแนะนำ
  • พักผ่อนให้มาก งดว่ายน้ำ ออกกำลังกายแต่เพียงเบาๆ
  • พักใช้เสียงให้มากๆ ลดการพูดคุย เพราะแผลจะเจ็บมากขึ้น
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน ป้องกันการติดเชื้อซ้ำซ้อน
  • กินอาหารน้ำ รสจืด จนกว่าอาการเจ็บคอจะดีขึ้น จึงค่อยๆ เปลี่ยนเป็นอาหารเหลวและอาหารอ่อนตามลำดับ ไม่กินอาหารมีกากแข็ง ผลไม้ควรเป็นผลไม้สุกงอม ผักควรเป็นผักต้มเปื่อย หลีกเลี่ยงอาหารที่ติดคอได้ง่าย
  • ดื่มน้ำให้มากๆ เท่าที่จะทำได้ อย่างน้อย 6-8 แก้วต่อวัน ดื่มบ่อยๆ ในปริมาณครั้งละเท่าที่ทนได้ อย่าฝืน เพราะจะอาเจียน ซึ่งยิ่งจะทำให้ขาดน้ำเจ็บคอมากขึ้น และเลือดอาจออกมากขึ้น
  • ไม่กินอาหารหรือดื่มน้ำร้อนจัด ควรเป็นอุณหภูมิปกติ
  • ไม่ดื่มน้ำผัก ผลไม้รสจัด เช่น น้ำส้ม น้ำองุ่น น้ำมะเขือเทศ เพราะจะเพิ่มการระคายคอ ไอ จึงเจ็บคอมากขึ้น
  • กิน/ดื่ม ครั้งละน้อยๆ ในปริมาณที่ไม่ทำให้คลื่นไส้/อาเจียน แต่กินให้บ่อยขึ้น
  • งดบุหรี่ สุรา และเครื่องดื่มกาเฟอีน
  • ประคบคอด้วยน้ำแข็งเป็นครั้งคราวเมื่อเจ็บคอมาก
  • บ้วนปากบ่อยๆ ด้วยน้ำเกลือโรงพยาบาลหรือน้ำยาบ้วนปากตามแพทย์และพยาบาลแนะนำ บ้วนเบาๆ เพื่อลดโอกาสเลือดออก
  • พบแพทย์ตามนัดเสมอ และรีบพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อมีอาการผิดปกติไปจากเดิม หรือเมื่ออาการต่างๆ แย่ลง หรือเมื่อมีความกังวลในอาการ
  • รีบพบแพทย์ภายใน 1-2 วันเมื่อเจ็บคอมากกว่าเดิมมาก เจ็บคอจนกิน/ดื่มได้น้อย มีไข้สูง
  • พบแพทย์ฉุกเฉินเมื่อ เลือดออกจากแผลมาก กิน/ดื่มไม่ได้ อาเจียนรุนแรง คอบวม แดง ร้อน มีอาการทางการหายใจ เช่น เหนื่อยหอบ หายใจติด

 

จาก หนังสือ โรคของหู จมูก คอ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิงพวงทอง ไกรพิบูลย์ สำนักพิมพ์อมรินทร์สุขภาพ


บทความน่าสนใจอื่นๆ

วิธีอย่างง่าย ดูแล+ป้องกัน โรคระบบทางเดินหายใจ (หวัด ภูมิแพ้ หอบหืด)

สูตรธรรมชาติง่ายๆ แก้เจ็บคอ ลดอาการอักเสบ

ท่าบริหารแบบง่ายๆ แก้อาการเจ็บคอ

ติดตาม ชีวจิต ในช่องทางต่างๆ ได้ที่

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.