วิตามิน, วิตามินเอ

[[EP.2]] เรื่อง วิตามิน โดย ดร.สาทิส อินทรกำแหง : เจ้าพ่อวิตามิน (ตอนที่ 2)

แต่ทำอย่างไรเล่า เขาจึงจะพิสูจน์ได้ว่า เพลลากราไม่ใช่โรคระบาด การที่จะพิสูจน์เรื่องทำนองนี้ เป็นการพิสูจน์ซึ่งต้องสวนกระแสแพทย์ทุกคน และสถาบันการแพทย์สมัยนั้น เชื่อว่าเพลลากราเป็นโรคระบาดและเป็นโรคติดต่อได้ ถ้าเขาพิสูจน์ไปในทางตรงกันข้าว เขาก็จะถูกต่อต้าน และจะต้องถูก “เหยียบจมธรณี” ตามลักษณะของคนที่เด่นและดังพรวดพราดขึ้นมาท่ามกลางสังคมซึ่งเต็มไปด้วยความอิจฉาริษยาอย่างนั้น

แต่โกลด์แบร์เกอร์ไม่กลัวการต่อต้านเหล่านั้น เขาคิดว่าเขาจะพิสูจน์ความจริงออกมาได้ เขาเริ่มวางแผนการการทดลองเพื่อพิสูจน์ให้เห็นความจริงในเรื่องเพลลากราไม่ใช่โรคระบาด

เริ่มต้นทีเดียว เขาขออนุญาตเข้าไปศึกษาในสถานกักกันวัยรุ่นและตามสถานเด็กกำพร้าหลายแห่ง สถานกักกันและสำนักต่างๆเหล่านี้มีผู้ซึ่งอยู่ในสถานกักกันเป็นเด็กวัยรุ่น และสถานกำพร้าก็เป็นเด็กวัยรุ่นเช่นกัน

เขาได้พบว่า อาหารประจำของผู้อยู่ในสถานบำบัดต่างๆ เหล่านี้เหมือนกัน คือข้าวโอ๊ตทั้งเปลือก ข้าวโพดบด น้ำตาลโมลาส เด็กวัยรุ่นต่างๆ กินอาหารเหล่านี้เป็นประจำ แต่ผู้คุมและผู้ดูแลจะมีอาหาร เนื้อ นม ไข่ นอกเหนือไปจากอาหารประจำเหล่านั้น ในสถานกักกันบางแห่ง เด็กๆ จะได้เนื้อ นม ไข่ อาทิตย์ละครั้ง แต่ผู้คุมและเด็กโตๆ จะได้เนื้อ นม ไข่ มากกว่านั้น

จากการทดสอบ โกลด์แบร์เกอร์จะแบ่งกลุ่มพวกที่ป่วยเป็นเพลลากรา คือ พวกที่ได้รับอาหารประเภทข้าวโอ๊ตทั้งเปลือก ข้าวโพดบด และน้ำตาลโมลาสเท่านั้น ส่วนพวกที่มีเนื้อ นม ไข่ ผสมด้วย จะไม่มีใครเป็นเพลลากรา

นี่คือ ผลทดสองที่ค่อนข้างจะเหมือนกับการทดลองที่ถูกระบบในปัจจุบัน คือมีกลุ่มผู้ทดลอง (EXPERIMENTAL GROUP) และกลุ่มควบคุม (CONTROL GROUP) หรือกลุ่มเปรียบเทียบ

ต่อไปอีกขั้นหนึ่ง โกลด์แบร์เกอร์ขอสนับสนุนเงินทุนจากรัฐบาลเพื่อค้นคว้าต่อไป เขาได้รับเงินทุนก้อนหนึ่ง จึงขอเข้าไปทำงานสถาบัน METHODIST ORPHAN ASYLUM ที่เมืองแจ๊คสัน มิสซิสซิปปีเขาขออนุญาตจัดอาหารตามสูตรของเขาให้แก่เด็กในสถานเด็กกำพร้านั้น โดยให้เนื้อกินสี่ครั้งต่ออาทิตย์ ให้ดื่มนมทุกวัน และให้ไข่กินเกือบทุกวัน

การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแบบมหัศจรรยภายในเวลา 3 อาทิตย์ คนไข้เพลลากราหายเกือบเป็นปกติ และไม่มีเคนใหม่ที่ป่วยเกิดขึ้นเลย

วิตามิน, วิตามินเอ

โกลด์แบร์เกอร์ยังต้องการทดลองต่อไปอีก เขาย้ายไปที่สถานบันโรคจิตทดลองให้อาหารแบบเดียวกัน คือ เนื้อ นม ไข่ และผลก็ออกมาเช่นเดียวกันคือคนไข้หายจากเพลลากรา และไม่มีคนไข้ใหม่ที่เป็นเพลลากราเกิดขึ้นเลย

เขาเริ่มพิมพ์รายงานการค้นคว้าของเขาในวารสารการแพทย์ และย้ำว่าเพลลากราไม่ใช่โรคติดต่อ ไม่ใช่โรคระบาด แต่เป็นโรคที่เกิดจากการขาดแคลนอาหาร

อะไรมันจะง่ายปานนั้น โกลด์แบร์เกอร์ถูกโจมตีกระหน่ำแบบโงหัวไม่ขึ้น กล่าวหาว่าเขาทำการทดลองแบบยกเมฆบ้าง และหาว่าแม้จะมีตัวเลขออกมาอย่างนั้นก็ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าเพลลากราไม่ใช่โรคติดต่อ

โกลด์แบร์เกอร์เสียใจมาก เขาเขียนจดหมายถึงภรรยา เขาระบายความน้อยใจออกมาว่า “กลุ่มหมอยโสเหล่านี้ตาบอดเห็นแก่ตัว อิจฉาริษยา และเต็มไปด้วยความลำเอียง”

แต่เขาก็ยังไม่ยอมแพ้ เขาตั้ง แนวการทดลองขึ้นมาอีก 2 อย่าง  1. จะต้องพิสูจน์ว่าถ้ากินอาหารผิดๆ จะทำให้เกิดโรคเพลลากรา 2. เพลลากราไม่ใช่โรคติดต่อเด็ดขาด

ต่อข้อที่หนึ่ง เขาเข้าไปขอความร่วมมือจากสถานที่คุมขังนักโทษ ขอให้ประกาศอาสาสมัครมาเข้าโปรแกรมทดลองอาหาร ซึ่งจะทำให้เกิดโรคเพลลากรา และอาสาสมัครจะได้รับการลดโทษให้ออกจากที่คุมขังภายใน 6 เดือน

ต่อจากนั้นโกลด์แบร์เกอร์ให้นักโทษเหล่านั้นกินแต่อาหารประเภทข้าวโอ๊ต ข้าวโพด และน้ำตาลโมลาส นักโทษกินได้เต็มที่ไม่อั้น กินเข้าไปเท่าไรก็ได้ไม่ห้าม

ปรากฏว่าเพียง 3-4 เดือน นักโทษก็เริ่มป่วย อ่อนเพลีย ไม่มีแรง พอถึงเดือนที่ 5-6 สะเก็ดหรือเกล็ดก็ขึ้นตามตัว เกิดอาการป่วยแบบเพลลากราแน่นอน ไม่มีผิดเพี้ยน

เป็นอันว่าข้อพิสูจน์ข้อที่หนึ่งสำเร็จเสร็จสิ้นไป กินอาหารเลวๆ ก็ป่วยได้

ทดลองข้อที่สองออกจะทารุณ เขาต้องเกณฑ์กลุ่มเพื่อนอาสาสมัคร รวมทั้งตัวเขาเองและภรรยาด้วย รวมทั้งหมด 16 คน

กลุ่มอาสาสมัครเหล่านี้ต้องเข้าไปคลุกคลีกับผู้ป่วยเพลลากรา และในระยะที่คลุกคลีกอยู่นี้ เพื่อให้เห็นว่าใกล้ชิดผู้ป่วยจริง โกลด์แบร์เกอร์จะเอาเลือดจากตัวผู้ป่วยมาฉีดเข้าร่างกายอาสาสมัคร และที่ค่อนข้างจะทารุณก็คือ อาสาสมัครจะต้องกิน “อาหารเม็ดพิเศษ”

อาหารเม็ดพิเศษนี้ประกอบไปด้วยแป้งผสมปัสสาวะ อุจจาระ และสะเก็ดจากร่างกายผู้ป่วย

ทั้งฉีดเลือดเข้าตัวและกินอาหารเม็ดพิเศษหลายเม็ด ไม่มีอาสาสมัครคนใดป่วยเป็นเพลลากราเลย เป็นอันว่าพิสูจน์ข้อที่สองสำเร็จอีก

และโกลด์แบร์เกอร์ยังได้ทำสิ่งมหัศจรรย์สำเร็จต่อไปอีก เขาได้ ค้นพบว่า ในเนื้อ นม ไข่ นั้นมีสารวิตามิน ซึ่งในตอนนั้นเขายังไม่ทราบว่ามันคืออะไร เขาจึงตั้งชื่อว่า “พี.พี.แฟ็คเตอร์” (PELLAGRA PREVENTIVE FACTOR) และนั่นก็คือวิตามิน B3 หรือ NIACIN ในปัจจุบัน

แต่ “เจ้าพ่อวิตามิน” อีกคนหนึ่งของการแพทย์รุ่นก่อนไม่มีโอกาสจะได้เห็นผลงานและได้ทำรายงานโดยละเอียด เขาตายเสียก่อนด้วยโรคมะเร็งเมื่อปี 1929

 

 

 

 

<< ทำความรู้จัก วิตามินเอ ที่หน้า 3 ค่ะ >>

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.