อะไรบ้าง คือสาเหตุเสี่ยงโรคไตของคนไทย
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ หม่อมหลวงชาครีย์ กิติยากร แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายรายละเอียด ของแบบประเมินนี้ว่า
“แบบประเมินนี้ช่วยวิเคราะห์ว่า คุณมีความเสี่ยงโรคไตในอีก 10 ปีข้างหน้ามากน้อยแค่ไหน โดยจะมี 2 รูปแบบ คือ แบบไม่ใช้ผลเลือด และแบบใช้ผลเลือด แบบไม่ใช้ผลเลือดเป็น รูปแบบการวิเคราะห์เบื้องต้น ในกรณียังไม่สะดวกเข้ารับการเจาะเลือดเพื่อตรวจหาระดับน้ำตาลในเลือดและค่าไตซึ่งมีความแม่นยำ 70 เปอร์เซ็นต์ ส่วนแบบใช้ผลเลือดต้องทราบระดับน้ำตาลในเลือดและค่าไตซึ่งจำเป็นต้องอาศัยการตรวจเลือดที่โรงพยาบาล แต่จะมีความแม่นยำเพิ่มขึ้นถึง 80 เปอร์เซ็นต์”
แบบประเมินความเสี่ยงต่อโรคไตในคนไทยแบบไม่ใช้ผลเลือดนั้นมีข้อมูลจำเป็นที่ต้องกรอกอยู่ 5 ข้อ คือ 1. อายุ 2. เพศ 3. ค่าความดันโลหิตตัวบน 4. เป็นโรคเบาหวานหรือไม่ 5. รอบเอว (นิ้ว) ส่วนแบบประเมินที่ใช้ผลเลือดนั้น มีข้อมูลจำเป็นอีก 2 ข้อ ที่ต้องกรอกเพิ่ม คือ 1. ค่าน้ำตาล (FBS) มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร 2. ค่าไต (Creatinine) มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

อาจารย์ชาครีย์อธิบายเพิ่มเติมว่า ข้อมูลเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับโรคไตดังนี้
“โดยเมื่อกรอกข้อมูลตามรูปแบบที่เลือกครบ สำหรับอายุแน่นอนว่า อายุมากขึ้นย่อมเสี่ยงต่อการเกิดโรคไต เพราะร่างกายมีความเสื่อมไปตามสภาพ เพศชายเสี่ยงกว่าเพศหญิง ค่าความดันโลหิตตัวบน ยิ่งความดันสูงขึ้นจะทำให้เลือดเกิดแรงดันสูงเมื่อไหลเวียนไปที่ไตจะทำให้เกิดแรงกระแทกที่เนื้อไตทำให้ไตเสื่อม
“การเป็นเบาหวานหรือมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงจะเพิ่มความเสี่ยงทำให้ไตเสื่อมลงเรื่อย ๆ เช่นกัน ส่วนรอบเอว ยิ่งมีรอบเอวมากขึ้น เท่ากับว่าเรามีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้เกิดแรงกดทับกับอวัยวะภายในต่าง ๆ รวมถึงไตด้วย ส่วนค่าไตนั้น ยิ่งมีสูงเท่ากับว่ามีความเสี่ยงโรคไตสูงด้วย”
อาจารย์ชาครีย์เล่าต่อว่า “เมื่อทำการกรอกข้อมูลครบถ้วนแล้ว ระบบประเมินผลความเสี่ยงของผู้กรอกข้อมูลว่ามีความเสี่ยงในระดับใด ซึ่งแบ่งเป็นระดับต่ำ ระดับปานกลาง ระดับสูง และระดับสูงมาก ซึ่งหากเป็นระดับปานกลาง สูง และสูงมาก จะแนะนำไปพบแพทย์ทันที ส่วนในความเสี่ยงระดับต่ำหรือปานกลาง จะมีคำแนะนำให้ดื่มน้ำหมั่นออกกำลังกาย ซึ่งเป็นวิธีดูแลสุขภาพที่ช่วยให้ไตแข็งแรง”

คุณหมอปริญญ์อธิบายสรุปได้ว่า
“ผู้สนใจสามารถเข้าไปทำแบบประเมินความเสี่ยงต่อโรคไตในคนไทย ผ่านทางเว็บไซต์ http://med.mahidol.ac.th/kidney_disease_rik/Thai_CKD_risk_score/Thai_CKD_risk_score.html หรือการสแกนคิวอาร์โค้ด (QR Code) ในอนาคตแบบประเมินนี้จะพัฒนาเป็นแอพพลิเคชั่นที่สามารถดาวน์โหลดไปใช้ในสมาร์ทโฟนได้ทุกระบบปฏิบัติการ และต่อยอดเป็นแบบประเมินในรูปแบบตารางคะแนนในกรณีของผู้ที่ไม่มีอุปกรณ์ด้านเทคโนโลยีหรืออยู่ในชุมชนห่างไกล”
นอกจากลดการกินหวาน มัน เค็ม แล้ว ยังมีปัจจัยเสี่ยง และ สัญญาณโรคไต อื่นๆ ที่เราต้องตระหนักรู้ ทั้งระดับความดันโลหิต น้ำตาลในเลือด น้ำหนัก อายุ เพศ ดังนั้นต้องหาวิธีควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ก็จะช่วยให้ไตและทุกระบบในร่างกายแข็งแรงได้
อ่านเพิ่มเติม
คู่มือกินผักผลไม้ ปรับสมดุลแร่ธาตุ ฟื้นสุขภาพ ผู้ป่วยโรคไต
9 สมุนไพร ที่ผู้ป่วยโรคไตต้องระวัง
7 สัญญาณเตือน คุณเป็นโรคไตหรือเปล่า ?
ที่มา นิตยสารชีวจิต คอลัมน์ เรื่อง ชมนาด