นโยบายพรรคการเมือง สวัสดิการพรรคไหนเอาใจผู้สูงวัยกันบ้าง

นโยบายพรรคการเมือง สวัสดิการพรรคไหนเอาใจผู้สูงวัยกันบ้าง

นโยบายพรรคการเมือง แต่ละพรรคล้วนแตกต่างกัน แล้วพรรคไหนจะมีสวัสดิการดีๆ ให้แก่ผู้สูงวัยกันบ้าง เรามีนโยบายแต่ละพรรคมาบอกต่อ ให้ตัดสินใจกัน

เว็บไซต์ เจาะลึกระบบสุขภาพ รายงานว่า เมื่อวันที่ 8-9 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ได้จัดเวทีสื่อสารนโยบายเรื่องระบบบำนาญแห่งชาติเพื่อส่งเสริมสุขภาพสังคมสูงวัยด้านเศรษฐกิจ โดยมีสาระสำคัญคือการผลักดันข้อเสนอการเปลี่ยนระบบเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นบำนาญแห่งชาติ ผู้สูงอายุทุกคนได้เงินบำนาญอย่างเสมอหน้าในอัตราที่ไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจนหรือเดือนละ 3,000 บาท พร้อมเปิดเวทีเชิญตัวแทนพรรคการเมืองที่ลงสมัครเลือกตั้งในครั้งนี้ได้นำเสนอมุมมองต่อรัฐสวัสดิการ ภายใต้หัวข้อ “เลือกตั้งครั้งนี้…รัฐสวัสดิการต้องมา”

“ลดาวัลย์ วงศ์ศรีวงศ์” ตัวแทนพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยเชื่อว่า สวัสดิการที่รัฐจัดให้ประชาชนจะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยมีรากเหง้าจากพรรคไทยรักไทยซึ่งเคยจัดรัฐสวัสดิการมาแล้ว ทั้งกองทุนหมู่บ้านละ 1 ล้านบาท โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนเสมาพัฒนาชีวิต กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแห่งชาติ ฯลฯ

ขณะเดียวกัน การจะหาเงินมาสนับสนุนการจัดสวัสดิการได้ ต้องได้รัฐบาลที่มีฝีมือในการบริหารเศรษฐกิจ ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้ชื่อว่าเป็นพรรคที่ประสำความสำเร็จด้านเศรษฐกิจ และเชื่อว่าจะสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาได้ ทั้งการท่องเที่ยว การส่งออก ฯลฯ รวมทั้งมีนโยบายส่งเสริมอาชีพ สนับสนุนทำให้ประชาชนเกิดรายได้ เมื่อประชาชนมีรายได้มากขึ้นรัฐก็จะจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น สามารถนำเงินมาใช้จัดสวัสดิการได้

ด้าน “อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี” ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้มองแค่ผู้สูงอายุอย่างเดียว แต่มองการจัดสวัสดิการในหลายๆ กลุ่ม แนวคิดขั้นแรกคือขีดเส้น Universal Basic Income หรือรายได้ที่ไม่ควรต่ำกว่านี้ก่อน ประมาณ 120,000 บาท/ปี หรือเดือนละ 10,000 บาท หรือวันละ 400 บาท

ในส่วนของผู้สูงอายุ พรรคประชาธิปัตย์มีนโยบายเพิ่มเบี้ยยังชีพเป็น 1,000 บาท รวมทั้งมีเบี้ยผู้ยากไร้ โดยโอนตรงเข้าบัญชีเดือนละ 800 บาท เบี้ยผู้ยากไร้นี้ต่างจากของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่โอนเครดิตไปที่บัตรคนจนแล้วให้ซื้อของในร้านธงฟ้า แต่ของประชาธิปัตย์จะโอนตรงเข้าบัญชีเหมือนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยให้ประชาชนยื่นแบบภาษีเงินได้ส่วนบุคคล หากรายใดมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ก็จะได้เบี้ยผู้ยากไร้กลับไป แต่ถ้าเกิดได้งานทำ มีรายได้เกินเกณฑ์ก็จะถูกตัดออกไป

นโยบายพรรคการเมือง, ผู้สูงอายุ
พรรคไหนจะมีสวัสดิการดีๆ ให้แก่ผู้สูงวัยกันบ้าง

ขณะที่ “ดร.อุดมศักดิ์ ศรีสุทิวา” ตัวแทนพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า ชาติไทยพัฒนามีนโยบายปฏิรูปสังคมซึ่งส่วนหนึ่งก็คือการจัดรัฐสวัสดิการแก่ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส ให้ได้รับการศึกษา ให้เข้าถึงแหล่งงานและสวัสดิการสาธารณะอย่างเป็นธรรม สามารถพัฒนาตนเองและดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างภาคภูมิ

ดร.อุดมศักดิ์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีกฎหมายเกี่ยวกับเงินบำนาญหลายตัวมาก ทำอย่างไรจึงจะบูรณาการฐานข้อมูลที่ถูกต้องแบบเดียวกันเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ส่วนตัวเลข 3,000 บาท/เดือน ต้องคำนึงถึงงบประมาณและหนี้สาธารณะด้วย ถ้าสามารถพัฒนาทักษะการ เพิ่มผลิตภาพที่ทำให้ประเทศมีรายได้มากขึ้น ก็จะมาสามารถนำเงินมาสนับสนุนส่วนนี้ได้

“พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง” ตัวแทนพรรคประชาชาติ ให้ความเห็นว่า ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่ารัฐสวัสดิการต้องเป็นสิทธิเสมอหน้า ไม่ใช่การสงเคราะห์ แต่ถ้าดูจากรัฐธรรมนูญ จะพบว่าเขียนโดยคนที่เกลียดชังประชาธิปไตย เฉพาะมาตรา 48 บอกว่าคนที่อายุ 60 ปีและไม่มีรายได้เพียงพอ รัฐธรรมนูญให้รัฐช่วยเหลือ ซึ่งไม่ใช่สวัสดิการ พ.ต.อ. ทวี กล่าวอีกว่า พรรคมีนโยบายชัดเจนว่าส่งเสริมระบบบำนาญและสวัสดิการถ้วนหน้า ส่วนตัวเลข 3,000 บาท/เดือน ที่ภาคประชาชนเสนอก็เห็นด้วย แต่ก่อนจะมาถึงจุดนี้ต้องแก้ไขระบบการเงินการคลัง โดยต้องมีสถาบันอิสระเพื่อปฏิรูประบบงบประมาณ

“ศิริกัญญา ตันสกุล” ตัวแทนพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า พรรคก็เชื่อว่ารัฐสวัสดิการจะช่วยแก้ปัญหาความยากจนได้ สำหรับคนที่ต้องดูแลทั้งลูกและผู้สูงอายุ ถ้ามีสวัสดิการที่เป็นสิทธิ ไม่ต้องพิสูจน์ความยากจน ก็จะสร้างหลักประกันทางรายได้ สามารถวางแผนระยะยาวในชีวิตได้ และพรรคเองก็ได้จัดทำข้อเสนอชุดสิทธิประโยชน์ที่เป็นสวัสดิการถ้วนหน้าครบวงจร

เบื้องต้นคือดูส่วนที่ทำได้เลย เช่น บำนาญถ้วนหน้า ถ้าทำได้เลยจะสามารถให้ได้ที่ประมาณ 1,800 บาท/เดือน รวมทั้งเรื่องการลาคลอด เงินเลี้ยงดูบุตร สวัสดิการแรงงานนอกระบบและการเพิ่มงบบัตรทอง จะเป็นแพ็คเก็จแรกที่เรานำเสนอหากได้เข้าไปอยู่ในสภาหรือร่วมรัฐบาล

ด้าน “สมบัติ บุญงามอนงค์” ตัวแทนพรรคเกียน ให้ความเห็นว่า ความยากจนในความหมายของตน นึกถึงคำว่าจนตรอก คือถ้าไปต่อไม่ได้ก็คือจนตรอก ความจนตรอกพัฒนามาจากความยากก่อน ชีวิตที่ยากและไม่สามารถผ่านขั้นตอนนี้ได้ถึงไปสู่ความจนตรอก คำถามคือทำไมยาก ก็มี 2 ปัจจัยคือ 1.มีอุปสรรค ถ้าดูคนจนจะพบว่าทำงานหนักกว่าคนรวยแต่ก็ยังยาก แสดงว่ามีอุปสรรคอยู่ ต้องค้นหาว่าอุปสรรคคืออะไรแล้วเอาออกไปหรือทำให้เบาบางลง 2.ต้องให้โอกาส คนจะพัฒนาตัวเองได้ต้องมีโอกาส เบื้องต้นคือโอกาสที่จะมีชีวิตรอด คืออาหาร ที่อยู่อาศัย ต่อมาคือโอกาสในการพัฒนาคือการศึกษา การงาน

ขณะที่ “เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์” ตัวแทนพรรคสามัญชน เห็นด้วยกับการมีระบบบำนาญแห่งชาติ แต่ชวนให้คิดต่อว่า มากกว่า 3,000 บาท/เดือนได้หรือไม่ เช่น อาจเป็น 4,000-5,000 บาท

คุณเลิศศักดิ์ กล่าวอีกว่า มีการคำนวนว่า ถ้าจะต้องทำระบบบำนาญถ้วนหน้าได้ ต้องใช้งบประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท เราสามารถเอางบประมาณส่วนต่างๆ มาใช้ได้ เช่น ยกเลิกมาตรการลดหย่อนภาษีของ BIO อย่างน้อยได้ 2.4 แสนล้าน และปรับงบประมาณกลาโหมก็ได้เงินกลับมาอีก 2-3 แสนล้านบาท

นโยบายไหนตรงกับใจวัยเก๋า ลองตัดสินใจกันนะคะ


บทความอื่นที่น่าสนใจ

ชี้ 10 อาการ “ป่วยใจ” ในผู้สูงวัย

อาหารป้องกัน ต้อกระจก วายร้ายที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ

กลุ่มรำกระบองสวนพระราม 9 กิจกรรมเพื่อผู้สูงอายุ ที่ไม่ควรพลาด

สามารถติดตาม ชีวจิต ในช่องทางอื่นๆ ได้ที่

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.