รักษาโรคมะเร็ง,มะเร็ง,โรคมะเร็ง

พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญ โรคมะเร็ง รักษาได้ ไม่ใช่แค่ฝันอีกต่อไป

มะเร็ง รักษาได้ ด้วยการแพทย์แม่นยำ

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 มีนาคม ผู้เขียนมีโอกาสไปร่วมงาน Cancel Cancer Festival 2019 งานเทศกาลดนตรี ศิลปะ และไลฟ์สไตล์ เพื่อระดมเงินทุนสมทบเข้า “กองทุนสนับสนุนการแพทย์แม่นยำในโรคมะเร็ง” ในศิริราชมูลนิธิ งานนี้จัดขึ้น ณ ลานหน้าห้างสรรพสินค้า เซ็นทรัลเวิลด์ คำว่า โรคมะเร็ง รักษาได้ (สำหรับทุกคน) นั้นอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อมแล้ว

ผู้เขียนได้เข้าร่วมฟังเสวนาที่หน้าสนใจในหัวข้อ “Cancer Precision Medicine : แนวทางการรักษามะเร็งแบบใหม่เพื่อความหวังใหม่ของผู้ป่วยมะเร็งไทย โดยนายแพทย์มานพ พิทักษ์ภากร และอาจารย์ ดร. สมพลนาท สัมปัตตะวนิช จากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล โดยผู้เชี่ยวชาญทั้งสองท่านได้อธิบายถึงความหมาย ความสำคัญ และวัตถุประสงค์ในการรักษาต่ออนาคตผู้ป่วยมะเร็งในไทยไว้ได้อย่างน่าสนใจ

รักษาโรคมะเร็ง,มะเร็ง,โรคมะเร็ง

การรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบัน

ผู้เชี่ยวชาญทั้งสองท่าน ได้เกริ่นกับผู้ฟังว่า โรคมะเร็ง กลายเป็นโรคที่น่ากลัว เพราะในปัจจุบัน เป็นโรคที่เป็นแล้วรักษาให้หายยาก และมีโอกาสเสียชีวิตค่อนข้างสูง โดยปกติการรักษามะเร็งที่เรารู้จักกันดีนั้น จะทราบกันว่า มีวิธีรักษาหลักๆ ที่ใช้กันในการแพทย์ปัจจุบัน ที่จะขอเรียกว่า อัศวินทั้ง 5

  1. การผ่าตัด ในกรณีที่เซลล์มะเร็งเป็นก้อน และสามารถผ่าตัดออกได้
  2. ฉายรังสี คือการรักษาถัดจากวิธีแรก หรือใช้รักษาในกรณีที่เซลล์มะเร็งนั้นๆ ไม่สามารถผ่าตัดออกได้
  3. ใช้ยาเคมีบำบัด ที่สามารถฆ่าเซลล์มะเร็ง แต่จะมีผลข้างเคียงค่อนข้างสูง
  4. ยารักษาแบบ targeted therapy หรือยาต้านมะเร็งแบบมุ่งเป้า
  5. วิธีใช้ภูมิคุ้มกันบำบัด

โดยแพทย์เจ้าของไข้จะพิจารณาใช้วิธีรักษาแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง และระยะของมะเร็งนั่นเอง

วิธี การแพทย์แม่นยำ คืออะไร

การดูแลรักษาผู้ป่วยในปัจจุบัน โดยเฉพาะโรคมะเร็ง จะมีแนวทางการรักษาหรือกรอบการรักษาเหมือนกันหมด โดยใช้ 5 วิธีที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งแม้คนไข้ส่วนใหญ่ใช้ 5 วิธีนี้ในการรักษาแล้วได้ผล แต่ก็ไม่สามารถรับประกันว่าจะได้ผลกับทุกคน ดังนั้น การรักษาเหล่านี้จึงมีข้อจำกัดโดยใช้วิธี โรคเหมือนกัน รักษาคล้ายๆ กัน แล้วมาลุ้นว่าจะได้ผลไหม ซึ่งแน่นอนว่าร่างกายแต่ละคนแตกต่างกัน การรักษาจึงมีความจำเพาะแตกต่างกัน หากใช้วิธีรักษาเหมือนๆ กัน ผลที่ได้คือจะมีทั้งคนหายและไม่หาย

แต่ในปัจจุบัน เรามีเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและศักยภาพเพียงพอที่จะระบุว่ามะเร็งในแต่ละคนเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร และควรรักษาอย่างไรในแต่ละบุคคล เพื่อให้ได้ประสิทธิผลสูงสุดของคนไข้คนนั้นๆ

การรักษาโรคมะเร็งแบบการแพทย์แม่นยำ (Cancer Precision Medicine) ซึ่งจะใช้วิธีรักษาที่จำเพาะในแต่ละบุคคล จึงเพิ่มโอกาสความสำเร็จทางการรักษาได้ดีกว่า โดยในปัจจุบันจะมีวิธีที่เรียกว่า ถอดรหัสพันธุกรรมยีนมะเร็งเข้ามาช่วย

รักษาโรคมะเร็ง,มะเร็ง,โรคมะเร็ง

ถอดรหัสพันธุกรรมยีนมะเร็ง คืออะไร

การถอดรหัสพันธุกรรม จะเป็นวิธีเริ่มแรกที่จะชี้สูตรการรักษาโรคมะเร็งในแต่ละบุคคล เพื่อเข้าสู่การรักษาแบบการแพทย์แม่นยำ ที่เลือกใช้วิธีนี้ เพราะมะเร็งเป็นเซลล์ที่เกิดจากการกลายพันธุ์ หรือการเปลี่ยนแปลงในระดับพันธุกรรม ทำให้เซลล์ปกติกลายเป็นเซลล์มะเร็ง และเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับพันธุกรรม(ใดๆ) เราก็จะสามารถหาวิธีแก้ไขความผิดปกตินั้นได้

หากจะลงรายละเอียดให้ลึกลงไป สามารถอธิบายได้ว่า ร่างกายคนเรามีกลไกการทำงานที่ถูกควบคุมโดยพันธุกรรม 20,000 ชนิด ส่วนมะเร็งเกิดจากพันธุกรรมเพียง 500 ชนิด และในแต่ละคนที่เป็นโรคมะเร็ง อาจไม่ได้มีพันธุกรรมผิดปกติทั้ง 500 ชนิด อาจมีเพียงบางชนิดเท่านั้น เช่น เกิดจากรหัสพันธุกรรม 10 ตัว เราก็ต้องมาหาว่า เป็น 10 ตัวไหนจาก 500 ชนิด และการรักษาก็จะแตกต่างกันไป  ซึ่งเราสามารถบ่งบอกได้โดยการตรวจชิ้นเนื้อ แต่ในอนาคต ในผู้ป่วยบางราย หรือในมะเร็งบางชนิดก็อาจใช้วิธีตรวจวิเคราะห์จากผลเลือดได้เช่นกัน (ในกรณีที่เซลล์มะเร็งปลดปล่อยรหัสพันธุกรรมออกมาทางกระแสเลือด)

และวิธีถอดรหัสพันธุกรรมยีนมะเร็งดังกล่าว ในปัจจุบันมีให้บริการในโรงพยาบาลใหญ่ๆ แล้ว แต่ปัญหาหลักคือมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังไม่ทราบหรือยังเข้าไม่ถึงวิธีการนี้ เพราะยังไม่อยู่ในสิทธิ์เบิกจ่ายใดๆ จึงทำให้ในไทยจึงไม่มีฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมอย่างเพียงพอ ตอนนี้จึงต้องการข้อมูลรหัสพันธุกรรมของคนไทยประมาณ 2,000 ราย เพื่อให้รัฐบาลตระหนักถึงความสำคัญและประสิทธิภาพของการรักษาวิธีนี้ และได้รับการสนับสนุน ในอนาคตวิธีการรักษานี้ก็อาจอยู่ในสิทธิ์เบิกจ่ายและประชาชนจะเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น

งานวิจัยนี้ไม่ได้มีเฉพาะศิริราชเท่านั้น?

ผู้เชี่ยวชาญทั้งสองท่านให้คำตอบว่า ปัจจุบันมีกลุ่ม Reseach University Network   ซึ่งมี 8 สถาบันวิจัย และสถานบันการศึกษาต่างๆ มาร่วมมือกัน ทางศิริราชเองก็สนับสนุนเรื่องการถอดรหัสพันธุกรรม และการทำโมเดลอวตารของตัวเซลล์มะเร็งในรายบุคคล ส่วนมหาวิทยาลัยอื่นๆ ก็รับผิดชอบในส่วนที่แตกต่างกันออกไป ในเชิงของการนำไปใช้ หรือการรักษา ในหลายๆ ที่ก็มีการนำมาใช้และรักษาแล้ว เพียงแต่ยังไม่แพร่หลายเท่านั้น

รักษาโรคมะเร็ง,มะเร็ง,โรคมะเร็ง

วิธีการรักษาด้วยการแพทย์แม่นยำ เหมาะกับใครบ้าง

สำหรับหลักการการใช้การแพทย์แม่นยำ มุ่งเน้นไปที่ผู้ป่วยที่การรักษาที่ใช้กันทั่วไป (5 อัศวิน) ไม่สามารถทำให้พวกเขาดีขึ้นได้ และเป็นมะเร็งที่รักษายาก ซึ่งการแพทย์แม่นยำจะช่วยหาวิธีการรักษาที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วยเหล่านี้

ในอดีตการรักษาโรคมะเร็งในระบบสาธารณสุขไทย จะอยู่ภายใต้เส้นนำทางที่เรียกว่า “เวชปฏิบัติกลาง” ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับการรักษาเป็นขั้นตอนตามวิธีที่กำหนดไว้ ยกตัวอย่าง รับยาตัวแรก ไม่ตอบสนอง รับยาตัวที่สอง หากไม่ตอบสนองก็จะใช้ยาตัวถัดไปตามเวชปฏิบัติกลาง ซึ่งกว่าจะเจอยาที่ทำให้โรคตอบสนอง ผู้ป่วยก็ต้องรับผลข้างเคียงจากยา ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตอย่างมาก และวิธีการรักษาด้วยการแพทย์แม่นยำ จะช่วยให้ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องผ่านการลองใช้ยาตั้งแต่ 1 2 3 แต่เป็นการให้ยาตัวที่เหมาะสมตั้งแต่เริ่มต้น

ในปัจจุบัน การแพทย์แม่นยำยังเป็นเรื่องใหม่ แม้การถอดรหัสพันธุกรรมเป็นเรื่องที่ทำได้อยู่แล้ว แต่ในประเทศไทยยังไม่มีฐานข้อมูลพันธุกรรมตรงนี้เท่าที่ควร

ซึ่งการที่จะเติมเต็มและสนับสนุนวิธีการรักษาด้วยวิธีนี้ให้กลายเป็นบรรทัดฐานการรักษาโรคมะเร็งในประเทศไป เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยมะเร็งรักษาหาย และโรคมะเร็งไม่ใช่เรื่องน่ากลัวอีกต่อไป จำเป็นต้องใช้งบประมาณสนับสนุน เพื่อให้ประเทศไทยมีฐานข้อมูลด้านพันธุกรรมมะเร็งที่เพียงพอในการผลักดันให้กลายเป็นหนึ่งในคุณภาพชีวิตของคนไทย

ชีวจิตและทางคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จึงขอเชิญชวนผู้ที่สนใจและมีความประสงค์สนับสนุนงานวิจัย “ถอดรหัสยีนมะเร็งของคนไทย เพื่อแนวทางการรักษามะเร็งแบบใหม่ที่แม่นยำ” ผ่านทาง

ชื่อบัญชี : ศิริราชมูลนิธิ กองทุนสนุนสนุนการแพทย์แม่นยำในโรคมะเร็ง

บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงเทพ  : 901-7-05999-0

*ใบเสร็จสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

สเต็มเซลล์ กับการรักษามะเร็ง

เทคโนโลยี รักษามะเร็ง จากโรงพยาบาลจุฬาภรณ์

20 ผักและผลไม้ ต้านมะเร็ง จากห้องวิจัย

 

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.