โรคกระดูกพรุน, กระดูกพรุน, กระดูก, กระดูกหัก, ป้องกันโรคกระดูกพรุน

แนะวิธีลดเสี่ยง กระดูกพรุน กระดูกหักซ้ำ

OUTDOOR EXERCISE IS BETTER

ออกกำลังกายกลางแจ้งจะได้ประโยชน์มากกว่า

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สัตยาระบุว่า ปัจจุบันมีกระแสนิยมไปออกกำลังกายตามฟิตเนส นั่นถือเป็นเรื่องดี แต่จะดีกว่าถ้าไปออกกำลังกายกลางแจ้งให้ร่างกายได้รับแสงแดด คุณหมอแนะนำว่า ไหน ๆ จะออกกำลังกายสร้างเสริมสุขภาพให้กล้ามเนื้อและกระดูกแข็งแรงทั้งที ควรจะได้ประโยชน์ให้ครบถ้วน แนะนำให้เลือกการออกกำลังกายกลางแจ้ง เช่น เดิน วิ่ง รำไท้เก๊ก พายเรือคายัค ปีนเขา เดินป่า ทำให้ได้รับทั้งอากาศบริสุทธิ์และแสงแดด ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างวิตามินดี ถ้าจะให้ดีควรพาสมาชิกในครอบครัวออกไปใช้เวลาร่วมกัน เพิ่มโอกาสสร้างความสัมพันธ์อันดีในครอบครัวได้อีกด้วย

ออกกำลังกาย, กระดูกพรุน, กระดูก, กระดูกหัก, ป้องกันกระดูกพรุน
ออกกำลังกายกลางแจ้งให้ได้รับแสงแดด ช่วยกระตุ้นการสร้างวิตามินดีที่มีส่วนทำให้กระดูกแข็งแรง

HIDDEN RISK FACTOR

เบาหวาน เพิ่มความเสี่ยงกระดูกพรุน

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สัตยาทิ้งท้ายว่า หลายคนอาจไม่ทราบว่าการป่วยเป็นโรคเบาหวานหรือมีน้ำตาลในเลือดสูงต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ มีผลทำให้เสี่ยงกระดูกพรุนกระดูกหักซ้ำได้

คุณหมอชี้แจงเพิ่มเติมว่า ขณะนี้แพทย์มีความรู้ความเข้าใจมากขึ้นว่า ไขมัน กระดูก กล้ามเนื้อ และสมองมีการสื่อสารระหว่างกันตลอดเวลา ดังนั้นการที่มีน้ำหนักตัวมากเกินไปทำให้ระบบเมแทบอลิกทำงานผิดปกติ ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์จะส่งผลให้ฮอร์โมนในร่างกายหลาย ๆ ชนิดที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสร้าง – สลายมวลกระดูกทำงานผิดปกติ

ผลลัพธ์คือ คนกลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงโรคกระดูกพรุนกระดูกหักซ้ำมากขึ้นได้ ยังไม่รวมกับปัญหาภาวะน้ำหนักตัวเกินขาดการออกกำลังกาย ทรงตัวได้ไม่ดี ที่จะไปเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดอุบัติเหตุหกล้มตามมาได้อีกมาก ทางที่ดีต้องกินอาหารที่มีผักผลไม้สูง ลดปริมาณแป้งและน้ำตาล เพื่อช่วยลดโอกาสเสี่ยงโรคเบาหวาน

แนะนำให้ตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี จะช่วยให้ทราบผลน้ำตาลและไขมันในเลือดนำมาใช้ในการดูแลสุขภาพ ลดเสี่ยงทั้งเบาหวานและกระดูกพรุนในอนาคตได้

 

DID YOU KNOW? คุณควรเข้ารับการตรวจวัดมวลกระดูกหรือไม่

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สัตยา โรจนเสถียร อธิบายเพิ่มเติมว่า ในการป้องกันและลดเสี่ยงกระดูกพรุน แพทย์จะแนะนำให้บุคคลกลุ่มเสี่ยงเข้าตรวจวัดมวลกระดูกประเมินความเสี่ยงโรคกระดูกพรุน กระดูกหักซ้ำ ตามข้อบ่งชี้ ดังนี้

เพศหญิง อายุ 65 ปีขึ้นไป หรือเพศชาย อายุ 70 ปีขึ้นไปหรือเพศหญิง อายุต่ำกว่า 65 ปี หรือเพศชาย อายุต่ำกว่า 70 ปีแต่ต้องมีปัจจัยเสี่ยงอย่างน้อย 1 ข้อ ได้แก่

  • มีภาวะหมดประจำเดือนก่อนอายุ 45 ปี
  • มีภาวะขาดฮอร์โมนเอสโทรเจนก่อนเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนต่อเนื่องนานกว่า 1 ปี
  • ได้รับยากลูโคคอร์ติคอยด์ต่อเนื่อง
  • น้ำหนักเกิน
  • มีประวัติบิดามารดากระดูกสะโพกหัก
  • เป็นหญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีดัชนีมวลกายน้อยกว่า 19 กก./ตร.ม.
  • ตรวจพบภาวะกระดูกบางหรือกระดูกสันหลังผิดรูปจากภาพเอกซเรย์
  • มีประวัติกระดูกหักจากอุบัติเหตุไม่รุนแรง
  • ส่วนสูงลดลง

 

จาก คอลัมน์ HOT ISSUE นิตยสารชีวจิต ฉบับ 484


บทความน่าสนใจอื่นๆ

โรคกระดูกพรุนภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม

การออกกำลังกายให้สมดุลหยุดกระดูกพรุน + ป้องกันการหกล้ม

ออกกำลังกายแบบแรงต้าน (Resistance Exercise) ลดภาวะกระดูกพรุน

ติดตาม ชีวจิต ในช่องทางต่างๆ ได้ที่

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.