เต้าหู้

กินเต้าหู้ มาก ทำสมองเสื่อมจริงหรือ

กินเต้าหู้ มาก ทำสมองเสื่อมจริงหรือ

คุณหมอสันต์ ใจยอดศิลป์ มาตอบคำถามที่ว่า คนสูงอายุ กินเต้าหู้ มากจะทำให้สมองเสื่อมจริงไหม ตอบว่า “…ไม่ทราบครับ”

เพราะข้อมูลงานวิจัยที่มียังสรุปไม่ได้ ต้องรองานวิจัยสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบ ซึ่งหากจะทำก็ต้องทำกันนานเป็นสิบปี แต่ผมพนันว่าจะไม่มีใครทำ ก็โถ! เต้าหู้ไม่ใช่สินค้าที่จะตีทะเบียนจดลิขสิทธิ์ได้ เต้าหู้จะดีหรือชั่ว จะไปมีใครที่ไหนสนใจล่ะครับ

ผมเล่าให้ฟังคร่าวๆ นะว่า งานวิจัยเรื่องเต้าหู้กับสมองเสื่อมนี้เขาทำกันมาอย่างไรบ้าง เท้าความไปแต่เดิม วงการแพทย์ได้ทำวิจัย ในประเด็นเต้าหู้ส่งผลต่อระดับไขมันในเลือดไว้แยะ เป็นงานวิจัยสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบทั้งนั้น งานวิจัยทบทวนที่ดีมากงานหนึ่งตีพิมพ์ไว้ใน วารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ ได้ผลสรุปว่า ถั่วเหลืองทำให้ไขมันเลว (LDL) ในเลือดลดลง

ต่อมามีผู้เอาสารชื่อไอโซฟลาโวน (Isoflavone) ซึ่งเป็นสารในกลุ่มไฟโตเอสโทรเจ (Phytoestrogen) ที่มีมากในถั่วเหลืองตามธรรมชาติไปใส่ในจานเพาะเลี้ยงเซลล์แล้วก็พบว่า มันป้องกันไม่ให้เซลล์ประสาท (Neuron) และเซลล์เกลีย (Glial Cell) แตก (Apoptosis) ได้ แถมยังช่วยซ่อมแซมก้านเซลล์ประสาท (Axon Regeneration) ได้อีกด้วย วงการแพทย์จึงมีความหวังว่า เต้าหู้จะรักษาโรคอัลไซเมอร์ได้

ความหวังนี้ ได้นำมาสู่การผลิตสารไอโซฟลาโวนจากถั่วเหลืองให้คนไข้หญิงสูงอายุ ทดลองกินเพื่อรักษาสมองเสื่อม งานวิจัยเรื่องนี้เป็นงานวิจัยชั้นหนึ่งแบบแบ่งกลุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบที่ตีพิมพ์ใน JAMA วิธีวิจัยคือ แบ่งคนไข้เป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้กินยาหลอก อีกกลุ่มหนึ่งให้กินไอโซฟลาโวน กินกันอยู่นานหกเดือนแล้ววัดการทำงานของสมองและความจำแข่งกัน ปรากฏว่าผลที่ได้ไม่ต่างกันเลย จึงเป็นการตอกตะปูปิดฝาโลงความเชื่อที่ว่า เต้าหู้ทำให้สมองใสและความจำดีตั้งแต่นั้น (ปี 2004)

ต่อมา (ปี 2008) ก็มีคนไปทำวิจัยแบบระบาดวิทยากับชาวอินโดนีเซียที่ชรา คืออายุเกิน 65 ปีแล้ว จำนวนกว่า 700 คน หมายความว่าวิจัยด้วยแบบสอบถามว่า คุณชอบกินเต้าหู้ไหมแล้วก็ให้ทำแบบทดสอบความจำคล้าย ๆ ทำโจทย์เลข แล้วก็เอาคำตอบว่าชอบกินหรือไม่ชอบกินเต้าหู้มาประเมินควบคู่กับคะแนน

จากการทำโจทย์เลข ได้ผลว่าพวกชอบกินเต้าหู้ทำคะแนนได้ต่ำกว่าพวกไม่ชอบกินเล็กน้อย จึงสรุปผลวิจัยโครมแบบคณะปฏิวัติว่าเต้าหู้ทำให้คนชราอายุเกิน 65 ปีเป็นสมองเสื่อม…ป๊าด…ด ผมต้องย้ำนิดหนึ่งนะ งานวิจัยชิ้นนี้เป็นหลักฐานระดับต่ำ ต่ำทั้งในแง่ชั้นของหลักฐาน ซึ่งยังเป็นเพียงแค่งานวิจัยแบบสอบถามเชิงระบาดวิทยา และต่ำในแง่คุณภาพของการวิจัย ซึ่งไม่มีการคำนึงถึงปัจจัยกวนใดๆ เลยวงการแพทย์จึงไม่ได้ให้ราคางานวิจัยชิ้นนี้

กินเต้าหู้, สมองเสือม, โรคสมองเสื่อม, สมอง, เต้าหู้, อาหารสุขภาพ
ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่า เต้าหู้ทำให้คนสูงอายุสมองเสื่อมเร็ว

แต่ว่าการทำมาหากินกับผลวิจัยของคนบนโลกนี้มันมีทุกรูปแบบขอให้สรุปอะไรก็ได้ออกมาเหอะ มีคนเอาไปทำมาหากินได้ ทั้งนั้นแล้วบนโลกใบนี้พวกที่จ้องจะหาเรื่องอัดคุณประโยชน์ของอาหารพืชผักตามธรรมชาตินั้นมีอยู่แล้ว ก็คือพวกที่ทำมาหากินกับอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และอาหารที่ใช้ไขมันทรานส์นั่นไง พวกนี้จึงตัดเอาคำสรุปงานวิจัยที่อ้างว่า เต้าหู้ทำให้สมองเสื่อมออกมากระจายขยายผลทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งก็ได้ผลจริงๆ ซะด้วย เห็นแมะอย่างน้อยพวกนิยมถั่วเหลืองก็เสียลูกค้าไปเข้าตลาดคนขายเนื้อคนหนึ่งละ คุณแม่ของคุณไง

ต่อมาก็มีการทำวิจัยแบบเดียวกันนี้ซ้ำกับกลุ่มคนเดิมอีกที่อินโดนีเซียนั่นแหละ แต่คราวนี้ได้ผลสรุปว่า คนสูงอายุทั้งที่ชอบกินเต้าหู้ และไม่ชอบกินเต้าหู้ ก็มีคะแนนสมองเสื่อมพอๆ กัน เออ…เอากับเขาสิ ท่านผู้อ่านตามผมทันไหมครับ เขาทำวิจัยกันสองครั้งกับคนกลุ่มเดิม แต่ได้ผลคนละแบบ

ต่อมาคนจีนคงเห็นคนอินโดนีเซียทำแล้วดังก็จึงไปทำวิจัยแบบเดียวกันนี้อีก คือวิจัยแบบระบาดวิทยา ส่งแบบสอบถามและให้ทำโจทย์เลข โดยทำกับคนจีนกลุ่มเล็กๆ ที่ประเทศจีน แล้วก็ได้ข้อสรุปกลับไปเหมือนงานวิจัยแรก คือสรุปว่า คนสูงอายุที่ตอบแบบสอบถามว่าชอบกินเต้าหู้ มีคะแนนสมองเสื่อมมากกว่า คนสูงอายุที่ตอบแบบสอบถามว่าไม่ชอบกินเต้าหู้เล็กน้อย

สรุปว่า ถึงวันนี้หลักฐานระดับที่เชื่อถือได้ว่าเต้าหู้ทำให้คนสูงอายุสมองเสื่อมเร็วจริงหรือไม่ยังไม่มี มีแต่งานวิจัยกิ๊กก๊อกที่ไม่ได้สุ่มตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มซึ่งเชื่อถืออะไรไม่ได้ ต้องรองานวิจัยชั้นดีซึ่งวันนี้ยังไม่มีคนทำ และยังไม่มีทีท่าว่าจะมีใครทำในอีกสิบหรือยี่สิบปีข้างหน้านี้

ดังนั้นในระหว่างนี้ให้ใช้หลักพ่อขุนรามฯคือ ใครใคร่กินเต้าหู้ก็จงกิน ใครไม่ใคร่กินเต้าหู้ก็อย่ากิน ส่วนหมอสันต์นั้น ม.ทำอะไรให้กินก็กินหมด ไม่เกี่ยงว่าเป็นเต้าหู้ หรือเต้าฮวย หรือเต้าทึง อิอิ

 

จาก คอลัมน์ WELLNESS CLASS นิตยสารชีวจิต ฉบับ 480


บทความน่าสนใจอื่นๆ

วิธีเลือก เต้าหู้ ง่าย ได้ประโยชน์ทุกเมนู

ติดตาม ชีวจิต ในช่องทางต่างๆ ได้ที่

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.