ปวดข้อ, ปวดเข่า, ข้ออักเสบ, เอสแอลอี, โรคเอสแอลอี

เทคนิค แก้ปวดข้อ สำหรับผู้ป่วยโรคเอสแอลอี

แก้ปวดข้อ ที่มากับโรคเอสแอลอี

อาการปวดข้อและข้ออักเสบเป็นอาการนำและอาการแสดงที่พบได้บ่อยถึงกว่าร้อยละ 90 ของผู้ป่วยโรคเอสแอลอี ส่วนมากมักมีอาการอักเสบของข้อร่วมด้วย โดยสังเกตจากมีอาการบวม รู้สึกตึงรอบ ๆ ข้อ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดข้อ แต่ไม่มีการอักเสบก็ได้ วันนี้ พญ.สุมาภา ชัยอำนวย คอลัมนิสต์ประจำนิตยสารชีวจิต จะมาแนะนำวิธี แก้ปวดข้อ กันค่ะ

ปวดข้อ, ปวดเข่า, ข้ออักเสบ, เอสแอลอี, โรคเอสแอลอี

โรคเอสแอลอีกับอาการปวด

โรคเอสแอลอีมักก่อให้เกิดอาการผิดปกติตามข้อต่างๆ ได้แก่ ข้อเล็กๆ ที่นิ้วมือ ข้อมือ ข้อศอก ข้อเข่า โดยมีอาการปวดร่วมกับอาการบวมและรู้สึกตึงอาการมักจะแย่ที่สุดในช่วงเช้าหลังตื่นนอนหรือหลังจากที่ไม่ได้ขยับข้อเป็นเวลานานเนื่องจากมีการสะสมของสารอักเสบรอบๆ
ข้อ เมื่อได้ขยับเขยื้อนหรืออาบน้ำอุ่นๆ จะทำให้อาการดีขึ้น

แม้ว่าอาการบวมอักเสบจะไม่รุนแรงแต่ในบางครั้งผู้ป่วยโรคเอสแอลอีอาจมีอาการปวดมากได้ ซึ่งจะไม่สัมพันธ์กับการอักเสบที่เห็น บางคนปวดมากจนลุกไม่ได้ในตอนเช้า ต้องนอนร้องไห้อยู่บนเตียง นอกจากนี้อาการปวดข้อจากโรคเอสแอลอียังย้ายที่ได้ คือ ปวดจากข้อ
หนึ่งไปยังอีกข้อหนึ่ง

วันหนึ่งปวดข้อมือ วันหนึ่งปวดข้อเข่า อีกวันปวดข้อนิ้ว บางครั้งญาติหรือคนที่บ้านไม่เข้าใจ เพราะไม่เห็นการอักเสบหรือบวมแดงบริเวณข้อ จึงอาจเข้าใจคนไข้ผิด เรื่องนี้หมอต้องอธิบายให้คนในครอบครัวเข้าใจ และขอความเห็นใจให้คนไข้อยู่เสมอๆ

นอกจากอาการปวดบริเวณข้อแล้วยังมีอาการปวดเมื่อย ปวดกล้ามเนื้อ ปวดระบม เป็นไข้ตัวรุมๆ รู้สึกไม่สบายตัวร่วมด้วยได้ อาการปวดข้อช่วงเช้านี้จะแตกต่างจากการปวดข้อจากโรคอื่นๆ เช่นโรคข้อเสื่อม ซึ่งมักจะปวดเมื่อมีการใช้งานและอาการมักดีขึ้นเมื่อได้พักหรืออยู่นิ่งๆ

ปวดข้อ, ปวดเข่า, ข้ออักเสบ, เอสแอลอี, โรคเอสแอลอี

ความแตกต่างระหว่างปวดข้อเอสแอลอีกับปวดข้อรูมาตอยด์

อาการปวดข้อจากโรคเอสแอลอีมักเป็นเรื้อรัง มีอาการปวดทั้งสองข้างแบบสมมาตรกัน คือทั้งด้านซ้ายและขวา อีกโรคหนึ่งที่ทำให้เกิดการอักเสบของข้อเรื้อรังคือ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

ความแตกต่างระหว่างสองโรคนี้คือ การอักเสบของข้อจากโรคเอสแอลอีมักไม่มีอาการรุนแรงเหมือนโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ และไม่พบการทำลายหรือกัดกร่อนกระดูก หรือทำให้กระดูกผิดรูปอย่างถาวร

หากอาการปวดข้อรุนแรงมากจนทำให้เกิดความพิการ อาจจะเป็นผู้ป่วยแบบโรคผสมหรือลูกผสม คือ ผสมระหว่างโรคเอสแอลอีกับโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ที่เราเรียกว่า โรค Rheupus (rheumatoid arthritis+lupus) นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคเอสแอลอีมักจะมีอาการผิดปกติในระบบอื่นๆร่วมด้วย เช่น ผื่น ผมร่วง มีไข้ต่ำๆ มีแผลในปาก ซึ่งมักไม่พบในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์

ในผู้ป่วยโรคเอสแอลอีที่มีอาการมานานอาจจะมีอาการข้อผิดรูปแบบกลับเข้าที่ได้ หมายถึงบางครั้งข้อก็ดูเหมือนผิดรูป บางครั้งก็ดูปกติ ซึ่งการผิดรูปนั้นเกิดจากการหย่อนหรือหลวมของเยื่อบุและเอ็นรอบๆข้อ โดยเรียกภาวะนี้ว่า “Jaccoud’s Arthropathy” แตกต่างจากข้ออักเสบรูมาตอยด์ที่มักพบการกัดกร่อนกระดูก ซึ่งเป็นลักษณะค่อนข้างเฉพาะของโรคเอสแอลอี

เนื่องจากผู้ป่วยโรคเอสแอลอีมักมีอาการปวดข้อร่วมด้วย ดังนั้นอายุรแพทย์โรคข้อ หรือที่เราเรียกว่าหมอรูมาโต หรือรูมาโตโลจิสต์ (Rheumatologist) จึงได้มีโอกาสมาดูแลผู้ป่วยโรคเอสแอลอี รวมถึงดูแลการอักเสบในอวัยวะอื่นๆร่วมด้วย

อาหารต้านปวดข้อ, ปวดข้อ, ปวดเข่า, ข้ออักเสบ, เอสแอลอี, โรคเอสแอลอี
กินอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดี หนึ่งในวิธีดูแลตัวเองจากโรคเอสแอลอี

8 วิธีเยียวยาเอสแอลอี

หากคุณมีอาการข้างต้น และสงสัยว่าตัวเองอาจจะเป็นโรคเอสแอลอี สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ไม่เครียดค่ะ เพราะความเครียดอาจจะทำให้โรคกำเริบได้ แนะนำว่าควรพบแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติม ซึ่งแพทย์จะตรวจเลือดเพื่อหาโปรตีนที่ร่างกายสร้างขึ้นเพื่อทำลายตนเองเรียกว่า แอนติบอดี ซึ่งหากให้ผลบวกจะเป็นข้อมูลที่ช่วยในการวินิจฉัยโรคเอสแอลอีและการดูแลตนเองที่เหมาะสม ซึ่งเรามีคำแนะนำเบื้องต้นมาฝาก

1. ป้องกันแสงแดด พยายามหลีกเลี่ยงแสงแดดและการสัมผัสกับแสงแดด โดยทาครีมกันแดดที่มีค่าเอสพีเอฟมากกว่า 50 หรือสวมหมวก เสื้อแขนยาว เพราะรังสียูวีบีจะทำให้เซลล์ผิวหนังตายและกระตุ้นให้โรคกำเริบได้

2. กินอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากต้องกินสเตียรอยด์ร่วมด้วย

3. ควบคุมปริมาณอาหารให้เหมาะสม ทั้งปริมาณเกลือ พลังงาน หากมีน้ำหนักตัวเกิน ควรลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคลูปัส มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

4. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

5. ป้องกันการติดเชื้อ เช่น กินอาหารปรุงสุกสะอาด ล้างมือบ่อยๆ เมื่อต้องอยู่ในที่แออัดควรสวมหน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วย

6. หยุดสูบบุหรี่ มีข้อมูลว่า การสูบบุหรี่จะเพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคลูปัสและผู้ป่วยโรคลูปัสที่สูบบุหรี่มีโอกาสที่โรคจะกำเริบมากกว่าคนที่ไม่สูบ นอกจากนี้บุหรี่ยังทำให้ยาที่ใช้ในการรักษาโรคเอสแอลอีออกฤทธิ์น้อยลงด้วย

7. พบแพทย์สม่ำเสมอ เพื่อตรวจร่างกาย ตรวจเลือด ประเมินภาวะของโรค และปรับเปลี่ยนการรักษาให้เหมาะสม ผู้ป่วยต้องกินยาตามขนาดและระยะเวลาที่แพทย์กำหนดอย่างเคร่งครัดไม่ควรซื้อยากินเองเพราะจะมีโอกาสแพ้ยาได้บ่อยและรุนแรงกว่าคนธรรมดา

อีกทั้งไม่ควรพบแพทย์เฉพาะเมื่อมีอาการ เนื่องจากการรักษาแต่เริ่มแรกจะให้ผลการรักษาที่ดีกว่าการรักษาเมื่อโรคเป็นมากแล้ว

8. การคุมกำเนิด เนื่องจากโรคลูปัสมักพบในหญิงวัยเจริญพันธุ์ ดังนั้นจึงต้องเน้นย้ำกับผู้ป่วยเรื่องการคุมกำเนิดโดยเฉพาะในช่วงที่โรคกำเริบ ผู้ป่วยสามารถตั้งครรภ์ได้หากโรคสงบนานกว่า 6 เดือน

ท้ายที่สุดอยากฝากถึงญาติของผู้ป่วยโรคนี้เป็นโรคเรื้อรังและมีความซับซ้อนผู้ป่วยจึงอาจจะท้อแท้และหมดกำลังใจ ดังนั้นครอบครัวมีส่วนสำคัญอย่างมากในการสนับสนุนทางด้านจิตใจ ให้ความเข้าใจเกี่ยวกับตัวโรค และให้กำลังใจผู้ป่วย เพื่อจะได้ต่อสู้กับโรคต่อไป

หากทราบดังนี้แล้วผู้ป่วยและญาติจะได้เข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น

(ข้อมูลจาก คอลัมน์ บทความ นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 449)


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ยาแก้ปวด และยาคลายกล้ามเนื้อ ใช้อย่างไรให้ถูกต้อง

10 วิธีแก้ปวด ทำง่ายๆ ด้วยวิธีธรรมชาติ

ปวดคอ เมื่อยคอ แก้ได้ด้วยวิธีง่ายๆ จากสมุนไพรใกล้ตัว

ฝึกไทชิ บรรเทาปวด ลดเมื่อย ตามร่างกาย

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.