ยาแก้แพ้, อันตรายของยาแก้แพ้, กินยาแก้แพ้, ภูมิแพ้, ยา

ยาแก้แพ้ …ศัตรูหัวใจและหลอดเลือด ทดแทนได้ด้วยอะไรบ้าง

ยาแก้แพ้ … กินบ่อยไม่ใช่เรื่องดี

อาการภูมิแพ้มีมากมายสารพัดอาการ จนบางทีป่วยเป็นอะไรนิดหน่อย แทนที่จะเร่งดูแลสุขภาพ สร้างเสริมภูมิชีวิตให้แข็งแรง กลับอนุมานกันเอาเองว่า เห็นทีจะมีอาการภูมิแพ้กับเขาเข้าบ้างแล้ว และแล้วก็แก้ปัญหาที่ปลายเหตุด้วยการซื้อ ยาแก้แพ้ มากิน

นอกจากการออกฤทธิ์ช่วยระงับอาการภูมิแพ้ต่างๆแล้ว ยานี้ยังมีผลข้างเคียงที่ทำให้ง่วงเหงาหาวนอน จนต้องติดคำเตือนตัวใหญ่เบิ้ม เอาไว้เตือนคนที่ต้องขับขี่ยวดยานพาหนะหรือต้องทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรว่าควรหลีกเลี่ยงการทำงานเมื่อใช้ยานี้

ทว่าผลข้างเคียงดังกล่าวกลับเป็นที่ติดอกติดใจคนที่มีอาการนอนไม่หลับแบบที่กินกันจนติดเป็นนิสัย ไม่กินเป็นไม่หลับไม่นอน ซึ่งเป็นการใช้ยาในทางที่ผิด

โทษมหันต์ หากคิดกินพร่ำเพรื่อ

ผลต่อระบบทางเดินหายใจและหลอดเลือด : ยาแก้แพ้มีผลข้างเคียงคือช่วยให้นอนหลับ เพราะรบกวนประสาทส่วนกลาง และมีผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์อื่นๆ ยากลุ่มนี้ เช่น คลอเฟนิรามีน (Chlopheniramine) อาทาแรกซ์ (Atarax)

“กินยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางบ่อยๆ ระบบประสาทจะชิน ถ้ากินต่อเนื่องนานๆอาจต้องเพิ่มปริมาณ จากการกินในขนาดปกติประมาณ 2 มิลลิกรัมเพิ่มเป็น 5 มิลลิกรัม เพื่อทำให้นอนหลับได้

“เมื่อกินมากขึ้นจะส่งผลเสียต่อระบบทางเดินหายใจและหลอดเลือด อาจทำให้หายใจลำบาก แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ใจสั่น มีผลต่อระบบทางเดินอาหาร ทำให้ปวดเกร็ง อาเจียน

ผลต่อหัวใจและตับ : ยาประเภทที่บรรยายสรรพคุณว่ากินแล้วไม่ง่วง เช่น ลอราทาดีน (Loratadine) ก็ส่งผลต่อการทำงานของตับ หลอดเลือดและหัวใจเช่นเดียวกัน

ทำแบบนี้ดีกว่านะ

อาการเริ่มต้น : หากช่วงนี้เริ่มมีอาการนอนไม่หลับ  ลองทำตามวิธี Relaxation ของอาจารย์สาทิสดูค่ะ

1. หาที่สงบๆ นอนแผ่สองสลึงตามสบาย ปล่อยตัวปล่อยใจเงียบๆ สักพักทิ้งน้ำหนักในตัวของเราลงไปบนพื้นหรือที่นอนเต็มที่ ให้รู้สึกเหมือนตัวกำลังจมลงไปบนพื้น ทำใจให้ว่าง สบายๆ

2. แก้เกร็งที่มือ แขน ไหล่ เท้า ขา คอ ท้อง และทรวงอก โดยกำมือ เกร็งเต็มที่ นับหนึ่งถึงสิบแล้วปล่อย ทำซ้ำกัน 3 ครั้ง

3. เหยียดปลายเท้าตรง เกร็งทั้งท่อนขา นับหนึ่งถึงสิบแล้วปล่อย ทำซ้ำกัน 3 ครั้ง

4. ผงกศีรษะให้คางจรดอก หมุนคอจากซ้ายไปขวา แล้วหมุนกลับขวาไปซ้าย นับเป็นหนึ่งรอบ ให้ทำซ้ำกัน 3 รอบ

5. หายใจยาวถึงสะดือ กลั้นหายใจ แล้วแขม่วท้อง ดึงสะดือให้ลึกจนเหมือนติดกระดูกสันหลัง นับหนึ่งถึงห้า ปล่อยลมหายใจ นับเป็นหนึ่งรอบ ทำซ้ำกัน 3 รอบ ต่อจากนั้นนอนหายใจตามปกติ

6. นอนสงบสบาย (Relaxation) เอาใจไว้ที่กลางหว่างคิ้ว นับเดินหน้าถอยหลังคือ 1 แล้ว 1 – 2 ต่อด้วย 1 – 5 ต่อไปเรื่อยๆ

ระหว่างมีอาการ : แนะนำให้ทำตามวิธี Relaxation ของอาจารย์สาทิสเป็นประจำ แล้วเพิ่มเติมด้วยวิธีเยียวยาตามหลักการของแพทย์แผนไทย คุณชลาลัยแนะนำไว้ดังนี้

“แพทย์แผนไทยมองว่า การนอนไม่หลับเกิดจากธาตุไฟทำให้ร่างกายร้อนเกินไป หรือธาตุลมกำเริบ ทำให้ร่างกายเย็นเกินไป

“เพราะธาตุไฟกำเริบ ซึ่งเกิดจากอาหารการกิน การใช้ชีวิตที่ไม่สมดุล ตลอดจนความเครียดสะสม ทำให้เรารู้สึกร้อนๆ ระส่ำระสาย เครียด ไม่สบายใจ-กาย จนนอนไม่หลับ ต้องดื่มน้ำสมุนไพรฤทธิ์เย็นที่มีความหอม เช่น น้ำลอยดอกมะลิและ น้ำใบบัวบก ซึ่งมีฤทธิ์เย็น

“เพราะธาตุลมกำเริบ ซึ่งมักเกิดในผู้สูงอายุ จะทำให้รู้สึกตื้อๆ อึดอัด หงุดหงิด รู้สึกง่วงเพลีย แต่ข่มตาไม่ลง ยิ่งถ้ารู้สึกหนาวๆ นั่นอาจแสดงว่าระบบไหลเวียนต่างๆในร่างกายทำงานไม่ค่อยดี แก้ได้ด้วยการให้ความอุ่นเข้าไป เพื่อกระตุ้นระบบไหลเวียน

“ทำได้ง่ายๆโดยวิธีการดื่มน้ำอุ่น เช่น น้ำต้มใบเตยน้ำขิง น้ำใบกะเพรา (โดยเด็ดใบกะเพราแดง 4 – 5 ใบใส่ในแก้วน้ำ เทน้ำร้อนตามลงไป ปิดฝาสักครู่) ดื่มก่อนนอน 10 – 15 นาที”

ยาแก้แพ้, อันตรายของยาแก้แพ้, กินยาแก้แพ้, ภูมิแพ้, ยา
กินยาแก้แพ้ แก้อาการนอนไม่หลับ เป็นวิธีการใช้ยาที่ผิด

หากจำเป็นต้องใช้ยาแก้แพ้

ทว่าหากคุณผู้อ่านใช้ยาแก้แพ้ในฐานะเป็นยาแก้แพ้จริงๆเนื่องจากเป็นภูมิแพ้ ลองปรับพฤติกรรมตามคำแนะนำของอาจารย์สาทิสดังต่อไปนี้ค่ะ

1. กินอาหารตามสูตรชีวจิต

2. ทำดีท็อกซ์ติดต่อกันสัก 14 วัน

3. หัดผ่อนคลาย (Relaxation) ผสมกับการทำสมาธิทุกวัน

4. ทำน้ำอาร์ซีดื่มทุกวัน

5. กินวิตามินกลุ่มแอนติออกซิแดนต์A C D E แร่ธาตุสังกะสี (Zinc) และซีลีเนียม (Selenium) อย่างละ 1 เม็ดตอนเช้าทุกวันเป็นเวลาหนึ่งเดือน

ในทางแพทย์แผนไทยแนะนำว่า

“แนะนำให้กินสมุนไพรที่มีฤทธิ์อุ่น เช่น ขิง ขมิ้น ชนิดแคปซูล หากมีอาการผื่นแพ้บริเวณผิวหนัง แพทย์แผนไทยวิเคราะห์ระบบน้ำเหลืองในร่างกายเป็นพิษ แนะนำให้อบไอน้ำเพื่อขับพิษออกทางผิวหนัง”

ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย : นายแพทย์เขมภพ ยงชัยรัตน์ โรงพยาบาลสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เตือนว่า

“คนไข้ที่มีอาการนอนไม่หลับไม่ควรกินยาแก้แพ้เด็ดขาด เพราะเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ถ้านอนไม่หลับเรื้อรังควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุและให้การรักษาที่ถูกต้อง

“อย่างไรก็ตาม หากต้องกินยาแก้แพ้ ควรกินในขนาดตามแพทย์สั่งหรือตามคำแนะนำการใช้ยาจากเภสัชกร เพื่อให้ร่างกายขับออกได้ตามปกติ แต่ถ้าคนไข้มีโรคประจำตัว เช่น โรคตับ โรคไต ต้องแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรด้วย เพราะร่างกายอาจขับยาออกจากร่างกายช้าอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ได้”


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

5 วิตามินต้านภูมิแพ้ ช่วยร่างกายแข็งแรง ไม่ป่วยง่าย

โรคพ่วงจากภูมิแพ้ แก้ได้ด้วยการออกกำลังกาย

กินดีอยู่ดี สะอาดมากไป เสี่ยงเป็นโรคภูมิแพ้อาหารจริงหรอ ?

รวมของเด็ด อาหารป้องกันภูมิแพ้ ต้านหวัด ช่วยร่างกายแข็งแรง

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.