รักษาโรคหัวใจ, หัวใจ, โรคหัวใจ

Q&A รู้ครบขั้นตอนการตรวจ รักษาโรคหัวใจ

Q : กรณีที่พบว่าไม่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย เราจำเป็นต้องตรวจอะไรเพิ่มเติมหรือไม่

A : ถ้าไม่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย แพทย์อาจส่งไปตรวจการวิ่งสายพานหรืออีเอสที (Exercise Stress Test) เพื่อทดสอบว่าขณะที่ร่างกายต้องการใช้ออกซิเจนปริมาณมาก หัวใจทำงานสูบฉีดเลือดได้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายหรือไม่หรือร่างกายอยู่ในภาวะขาดเลือดหรือไม่

ถ้าวิ่งสายพานแล้วได้ผลเป็นบวก หมายถึงมีอาการเจ็บหน้าอกที่อาจเกิดจากหลอดเลือดหัวใจตีบ แพทย์อาจแนะนำให้คนไข้ สวนหัวใจ คือ การฉีดสารทึบรังสีเพื่อดูช่องทางเดินของหลอดเลือดหัวใจ เพื่อวินิจฉัยว่าต้องทำบอลลูนหรือผ่าตัดตามระดับความรุนแรง

แต่ถ้าอาการไม่เข้าขั้นวิกฤติ และคนไข้ไม่คิดจะทำบอลลูนหรือผ่าตัด เพราะจะใช้วิธีอื่นๆ ในการดูแลตัวเอง ก็สามารถบอกหมอได้ว่าไม่ขอสวนหัวใจ เพราะการสวนหัวใจเสี่ยงทำให้ไตเสีย แม้ว่าโอกาสเสี่ยงจะต่ำมากคือหนึ่งในสามพัน แต่ถ้าไตเสียแล้วก็คือเสียถาวร ไม่สามารถกลับมาทำงานได้เป็นปกติเพราะฉะนั้นถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ควรทำ

 

Q : นอกจากการตรวจด้วยวิธีการต่างๆ เหล่านี้ ยังมีการตรวจพิเศษอื่นๆ อีกหรือไม่

A : มีบางกรณีที่สงสัยว่าคนไข้มีภาวะหัวใจล้มเหลว หมอจะส่งตรวจเอคโคหัวใจ (Echocardiography)  หรือการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง ซึ่งสามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจว่า ด้านไหนบีบตัวมากหรือน้อย ซึ่งสามารถบอกได้ว่ามีภาวะหัวใจล้มเหลวหรือไม่

อีกกรณีหนึ่งคือ คนไข้ไม่มีอาการอะไร แต่มีภาวะไขมันในเลือดสูงหมออาจประเมินไม่ถูกว่าควรให้คนไข้กินยาลดไขมันดีหรือไม่ เพราะยาลดไขมันจะใช้เฉพาะกับคนเป็นโรคหัวใจเท่านั้น คุณหมออาจส่งไปตรวจหา แคลเซียมในหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Calcium Score) ถ้าพบว่ามีแคลเซียมเกาะที่หลอดเลือดหัวใจ แสดงว่าเป็นโรคแล้วหมอจะต้องให้ยาลดไขมันเร็วหน่อย

ส่วนการตรวจคอมพิวเตอร์หัวใจ (Cardiac Computed Tomography) คือการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ซึ่งสามารถตรวจได้ว่าหลอดเลือดหัวใจตีบหรือไม่  ใช้แทนการตรวจด้วยวิธีสวนหัวใจ ส่วนเอ็มอาร์ไอ (Magnetic Resonance Imaging) คือการตรวจด้วยเครื่องตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อใช้ติดตามการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจในกรณีที่เคยมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจวายเฉียบพลัน

นอกจากนี้ยังมีเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง หรือโฮลเตอร์ (Holter) ที่ใช้ตรวจความผิดปกติในการเต้นของหัวใจ โดยคนไข้จะต้องติดโฮลเตอร์ไว้กับตัวตลอด 7 วัน ซึ่งเครื่องนี้จะรายงานผลการเต้นของหัวใจว่าการเต้นของหัวใจตลอด 24 ชั่วโมงเป็นอย่างไร ช่วงไหนเต้นรัวหรือเต้นช้า

รักษาโรคหัวใจ, หัวใจ, โรคหัวใจ

ลองเช็กตัวเองนะคะว่า หากมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับหัวใจควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยด่วน  และเข้ารับการรักษาด้วยเทคโนโลยีที่ถูกต้องเหมาะสมกับอาการของโรค

ที่สำคัญอย่าลืมว่าการป้องกันตัวเองก่อนป่วยด้วยการดูแลสุขภาพนั้นดีที่สุดค่ะ

 

จาก คอลัมน์ SPECIAL REPORT นิตยสารชีวจิต ฉบับ 440


บทความน่าสนใจอื่นๆ

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ มัจจุราชเงียบคนทำงาน

หยุดฟุ้งซ่าน ป้องกันโรคหัวใจ By หมอสันต์ ใจยอดศิลป์

กระโดดเชือก ให้หัวใจแข็งแรง

ติดตาม ชีวจิต ในช่องทางต่างๆ ได้ที่

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.