โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ, หัวใจ ,โรคหัวใจ, หัวใจวาย, หลอดเลือดหัวใจ

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ มัจจุราชเงียบคนทำงาน

โรคหลอดเลือดหัวใจ มัจจุราชเงียบ

คุณหมอสมคนึง เล่าถึงกลไกการเกิดพลัคและอันตรายของมันซึ่งเปรียบประดุจมัจจุราชเงียบ ว่า

“เมื่อพลัคนี้มีขนาดโตถึงระดับหนึ่ง จะสังเกตเห็นไขมันสีเหลืองแทรกอยู่ภายใน หากผู้ป่วยไม่ควบคุมโรคเบาหวานไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง หรือยังสูบบุหรี่จัด จะทำให้เกิดการอักเสบของพลัค โดยจะทำให้ไขมัน เริ่มอ่อนตัวลงจากของแข็งกลาย เป็นของเหลว (Oxidised) สุดท้ายจะเกิดการแตกของพลัค

“ในขณะที่พลัคแตกนั้น ภายในหลอดเลือดหัวใจก็ยังมีเลือดไหลผ่านตลอด ดังนั้น คราบของพลัคที่แตกจะจับตัวกับเกล็ดเลือดเป็นลิ่มเลือดอย่างรวดเร็ว ใช้เวลาเพียง 5 - 6 วินาทีก็อาจอุดตันได้เต็มหลอดเลือด ซึ่งเป็นจุดที่น่ากลัวมาก เพราะจะทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายทันที”

ร้อยละ 50 ของผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บหน้าอกอย่างรุนแรงเป็นลมและเสียชีวิตทันที ซึ่งเป็นอาการที่ค่อนข้างพบมากในคนทำงาน ที่ไม่ทราบว่าตัวเองป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และไม่ได้รับยาควบคุมโรคมาก่อน

คุณหมอสมคนึงอธิบายเหตุผลข้อนี้ว่า

“โรคหลอดเลือดหัวใจตีบจะแสดงอาการก็ต่อเมื่อเกิดการสะสมของพลัคจนทำให้เกิดการตีบของหลอดเลือดเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจะทำให้อัตราการไหลของเลือดลดลงกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งกระบวนการนี้อาจค่อยเป็นค่อยไปหรือเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วก็ได้

“ในผู้ป่วยระยะแรกที่มีการสะสมของพลัคน้อย เช่น 20เปอร์เซ็นต์ อาจไม่มีอาการเจ็บหน้าอกเลย จึงไม่รู้ตัวว่าป่วยเป็นโรคหัวใจแล้ว การมีพลัคสะสมในปริมาณไม่มากเช่นนี้ แต่มีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น สูบบุหรี่ เป็นเบาหวานโดยไม่ได้ควบคุมอาการ ก็ทำให้เกิดการแตกของพลัคเฉียบพลัน ซึ่งทำให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจเฉียบพลันได้เช่นกัน”

 

Easy Steps เช็กอาการก่อนหัวใจวาย

เห็นความน่ากลัวแล้วใช่ไหมคะ ทำให้อยากทราบต่อว่า เราจะสังเกตอาการเบื้องต้นของโรคหลอดเลือดหัวใจได้อย่างไร

คุณหมอสมคนึงแนะนำวิธีสังเกตอาการแยกเป็น 2 กลุ่มดังนี้ค่ะ

1. กลุ่มอาการพื้นฐานที่คนทั่วไปทราบกัน

  •  เหนื่อยง่ายกว่าเดิม เช่น จากที่เคยเดินได้ระยะทาง 20 เมตรไม่เหนื่อย มาเป็นเดินระยะทาง 10 เมตรแล้วมีอาการเหนื่อยมาก
  • เจ็บบริเวณกลางหน้าอกหรือรู้สึกแน่นหน้าอกเหมือนมีสิ่งของหนักๆ มากดทับ
  • มีอาการเจ็บร้าวบริเวณหน้า ใต้ลิ้น คาง ใบหู หัวไหล่พร้อมกับมีเหงื่อออกโชกคล้ายถูกน้ำราดลงมาที่ตัว
  • มีอาการไอ หอบ เหนื่อย หายใจไม่ออกเวลานอนราบ

2. กลุ่มอาการที่คนส่วนใหญ่ไม่ทราบ

  •  ชาและเจ็บบริเวณแขนข้างซ้าย เริ่มตั้งแต่นิ้วชี้และนิ้วก้อยไล่มาที่ตลอดแนวท้องแขนไปจนถึงรักแร้
  •  เวลาตื่นเต้น มือจะเย็นมากและมีเหงื่อออกชุ่ม ร่วมกับหายใจไม่ออกและเหนื่อยมาก
  •  มีความดันโลหิตสูงกว่าปกติมากโดยไม่ทราบสาเหตุ

นอกจากนี้คุณหมอสมคนึงยังฝากวิธีเช็กความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เพื่อให้คุณผู้อ่านได้ป้องกันตัวก่อนที่จะป่วยเป็นโรค มาแนะนำดังตารางต่อไปนี้ค่ะ

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ, หัวใจ ,โรคหัวใจ, หัวใจวาย, หลอดเลือดหัวใจ
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เกิดจากการกิน นอน ทำงาน และออกกำลังกาย ไม่สมดุล

ตารางแสดงปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

ปัจจัยเสี่ยง                        ความเสี่ยงก่อโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ (ร้อยละ)

ป่วยเป็นเบาหวาน                                    30

สูบบุหรี่                                                     30

มีไขมันในเลือดสูง                                   20

มีความดันโลหิตสูง                                  10

พฤติกรรมทำร้ายสุขภาพอื่นๆ                  5

พันธุกรรม                                                 5

 

จากตารางแสดงให้เห็นว่า ถ้าคุณผู้อ่านไม่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ไม่สูบบุหรี่และดูแลสุขภาพอย่างถูกต้อง เท่ากับว่าโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบจะลดลงมาก

การดูแลตัวเองตามหลักชีวจิต กิน นอน พักผ่อนออกกำลังกาย และทำงาน ให้สมดุล คือทางป้องกันโรคทุกโรคได้อย่างดีเยี่ยม ลองนำไปปฏิบัติดูสิคะ

 

จาก คอลัมน์ Healthy Lifestyle นิตยสารชีวจิต ฉบับ 333


บทความน่าสนใจอื่นๆ

วิธีเดิน เพิ่มความแข็งแรงให้หัวใจ

หยุดฟุ้งซ่าน ป้องกันโรคหัวใจ By หมอสันต์ ใจยอดศิลป์

ติดตาม ชีวจิต ในช่องทางต่างๆ ได้ที่

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.