อากาศเปลี่ยนแปลง, สุขภาพใจ, อารมณ์, ฤดู, ฤดูหนาว, ฤดูฝน, ฤดูร้อน

ฟิตสุขภาพใจ รับภัยอากาศเปลี่ยนแปลง

ฤดูหนาว ฤดูเหงา

นอกจากลมหนาวจะหอบเอาไอเย็นมาปะทะผิวแล้วสำหรับบางคน ลมหนาวยังหอบเอาความเปลี่ยวเหงามาด้วยคุณศิริวรรณ (สงวนนามสกุล) อายุ 26 ปี เป็นอดีตผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่อาการมักปรากฏชัดขึ้นเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว

“ห้าปีที่แล้วเคยป่วยเป็นโรคซึมเศร้า จิตแพทย์ที่รักษาวินิจฉัยว่าเกิดจากปัญหาครอบครัว และมีอาการมานานก่อนมาพบแพทย์ แต่อาการไม่เป็นที่สังเกต จนกระทั่งเข้าสู่ฤดูหนาว อาการจึงหนักขึ้น เพราะถูกอากาศหนาวเย็นกระตุ้น

“ช่วงที่ป่วยมักชอบเก็บตัวอยู่แต่ในห้องและนอนหลับทั้งวัน เพราะเมื่อตื่นขึ้นมาจะรู้สึกหนาวและเหงา หากวันใดบรรยากาศอึมครึม ท้องฟ้ามีเมฆมากและไม่มีแสงแดด ยิ่งรู้สึกเศร้าและหดหู่มากกว่าปกติ”

กรณีของคุณศิริวรรณ อากาศหนาวเย็นเป็นเพียงปัจจัยเสริมโรคเท่านั้น แต่เชื่อไหมคะว่า อุณหภูมิที่ลดลงอย่างรุนแรงในฤดูหนาวก็เป็นสาเหตุก่อโรคซึมเศร้าตามสภาพอากาศได้

นายแพทย์ภุชงค์ เหล่ารุจิสวัสดิ์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า

“ในฤดูหนาวคนมักป่วยเป็นโรคซึมเศร้าตามฤดูกาล (Seasonal Affective Disorder) โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองหนาว หรือประเทศที่มีภูมิอากาศแบบสี่ฤดู ซึ่งมีฤดูหนาวยาวนาน อุณหภูมิลดต่ำลงจนติดลบและมีแสงแดดระหว่างวันน้อย

“สภาพภูมิอากาศเช่นนี้ทำให้ผู้คนรู้สึกซึมเศร้า หดหู่เซื่องซึม และเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน บางคนคิดอยากฆ่าตัวตายแต่เมื่อเปลี่ยนฤดู อาการดังกล่าวก็หายไป”

แม้โรคซึมเศร้าตามฤดูกาลจะพบน้อยในเขตเมืองร้อนอย่างประเทศไทย แต่ทุกคนก็มีความเสี่ยง เพราะปัจจัยก่อโรคล้วนอยู่ไม่ไกลตัว

แพทย์หญิงกมลพร วรรณฤทธิ์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล สรุปสาเหตุของโรคไว้ดังนี้

กรรมพันธุ์  ผู้ที่มีประวัติครอบครัวและญาติป่วยเป็นโรคซึมเศร้า มีความเสี่ยงต่อโรคนี้สูงกว่าคนทั่วไป เพราะโรคนี้สามารถถ่ายทอดผ่านพันธุกรรมได้

แสงแดด  แสงแดดและความสว่างที่เปลี่ยนไป ส่งผลต่อการผลิตฮอร์โมนและสารสื่อประสาทในสมอง หากอากาศดีมีแสงแดด สมองจะหลั่งสารซีโรโทนินซึ่งเป็นสารแห่งความสุขผู้คนจึงรู้สึกสดชื่นและกระปรี้กระเปร่า แต่หากเป็นช่วงฤดูหนาวที่ท้องฟ้ามืดครึ้มและช่วงเวลากลางคืนยาวนานกว่ากลางวัน

สมองจะหลั่งฮอร์โมนเมลาโทนินมากขึ้น ทำให้เกิดอาการง่วงเหงาหาวนอนและเซื่องซึมมากขึ้น

เพศและอายุ เพศหญิงมักมีความเสี่ยงต่อโรคนี้สูงกว่าเพศชาย โดยพบว่าโรคนี้เกิดในผู้หญิงถึง 75 เปอร์เซ็นต์ และอยู่ในช่วงอายุประมาณ 40 ปี หรือวัยทำงานมากกว่าวัยอื่น

หลังฤดูหนาวผ่านผัน อีกไม่นานอากาศร้อนระอุก็จะเข้ามาเยือนประเทศไทยแทนลมหนาว อุณหภูมิที่สูงขึ้นก็ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของเราเช่นกัน

ฤดูหนาว, อากาศเปลี่ยนแปลง, สุขภาพใจ, อารมณ์, ฤดู
อุณหภูมิในฤดูหนาว เป็นสาเหตุก่อโรคซึมเศร้าตามสภาพอากาศได้

How – to เอาชนะโรคเศร้ายามหน้าหนาว

ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าตามฤดูกาลและผู้ที่มีอาการซึมเศร้าในฤดูหนาว สามารถเยียวยาได้ด้วย 3 วิธี ตามที่คุณหมอกมลเนตรอธิบาย ดังนี้

1. กินยารักษาโรคซึมเศร้า เป็นวิธีหลักในการรักษาโรคซึมเศร้าทุกชนิด สำหรับผู้ป่วยโรคนี้ แพทย์จะให้กินยาเพิ่มปริมาณสารซีโรโทนินเพื่อลดอาการเศร้า

2. แสงบำบัด (Light?Therapy) วิธีนี้เป็นการรักษาสำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้าตามฤดูกาล เป็นการเฉพาะโดยจะให้ผู้ป่วยรับแสงจากกล่องกำเนิดแสง ที่สร้างขึ้นเพื่อโรคนี้เป็นพิเศษ นอกจากนี้ยังควรออกไปทำกิจกรรมนอกบ้านเพื่อรับแสงแดด รวมทั้งเปิดหน้าต่างรับแสงสว่างเพื่อกระตุ้นการสร้างสารซีโรโทนิน

3. จิตบำบัด เป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาโรคทางจิตเวช โดยแพทย์จะบำบัดด้วยการพูดคุย เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีคิดและปรับสภาพจิตใจให้ดีขึ้น

 

 

 

 

<< อ่านต่อหน้าที่ 3 >>

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.