ในหลวงรัชกาลที่ 9, คำพ่อสอน, รัชกาลที่9, วันพ่อ, วันพ่อแห่งชาติ

คำพ่อสอน ในดวงใจ

เป็นคนดีและส่งเสริมคนดี

“ในบ้านเมืองนั้นมีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากอยู่ที่การส่งเสริมให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้”

พระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ 6 ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 ธันวาคมพ.ศ.2512

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุทิน สุขคง คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ได้นำพระบรมราโชวาทนี้มาใช้ในชีวิตและการทำงานจนเกิดประโยชน์และความภาคภูมิใจ

“พระบรมราโชวาทของพระองค์ท่าน เกี่ยวข้องกับ ‘ความซื่อสัตย์สุจริตและเสียสละเพื่อส่วนรวม’ คนดีก็คือคนที่ซื่อสัตย์สุจริต ในแง่การดำเนินชีวิตได้ยึดถือมาปฏิบัติ โดยพยายามส่งเสริมเพื่อนร่วมงานในมหาวิทยาลัยที่เป็นคนดีให้ได้มีบทบาทในการพัฒนามหาวิทยาลัย

“ส่วนในแง่การทำงานเป็นครู จะประยุกต์ใช้โดยยกพระบรมราโชวาทของพระองค์ท่าน มาสอนลูกศิษย์ให้ตั้งมั่นอยู่ในความดี ช่วยกันส่งเสริมคนดีให้มีบทบาทในสังคม ทำงานในหน้าที่ด้วยความเสียสละและซื่อสัตย์สุจริต โดยการสอดแทรกในบทเรียนระหว่างการสอนรายวิชาต่างๆ

“และพยายามบอกลูกศิษย์ว่า ‘เป็นนักสังคมศาสตร์ต้องไม่สร้างปัญหาต่อสังคม’ ซึ่งลูกศิษย์มีอยู่จำนวนมากทั้งในจังหวัดเลย หนองบัวลำภู และขอนแก่นได้นำไปปฏิบัติ

“พระบรมราโชวาทของพระองค์ท่านมีความลึกซึ้ง ชัดเจน กลั่นกรองและสกัดมาจากความเป็นจริงของสังคม จึงมีความสอดคล้องกับสถานการณ์ในสังคมทุกยุคทุกสมัย หากคนไทยทุกคนได้ตระหนักเห็นคุณค่าและนำไปใช้ปฏิบัติจริงได้ ก็จะเกิด ‘คุณค่าและมูลค่า’ อย่างใหญ่หลวงต่อสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบัน

ในหลวงรัชกาลที่ 9, คำพ่อสอน, รัชกาลที่9, วันพ่อ, วันพ่อแห่งชาติ

ร่วมใจสามัคคี

“สามัคคีก็คือ การเห็นแก่บ้านเมืองและช่วยกันทุกวิถีทาง เพื่อที่จะสร้างบ้านเมืองให้เข้มแข็ง ด้วยการเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน และทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ต้องส่งเสริมงานของกันและกัน และไม่ทำลายงานของกันและกันมีเรื่องอะไรให้ได้พูดปรองดองกัน อย่าเรื่องใครเรื่องมัน และงานก็ทำงานอย่างตรงไปตรงมา นึกถึงประโยชน์ส่วนรวม…”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชทานในพิธีประดับยศนายตำรวจชั้นนายพล ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันพฤหัสบดีที่ 15 มกราคม พ.ศ.2519

ร้อยโท ชายชาญ ช่างสุวรรณ กองวิชาภาษาไทย ส่วนการศึกษาโรงเรียนเตรียมทหาร นำพระราชดำรัสเรื่องความสามัคคีมาใช้ในชีวิตการเป็นทหารและการเป็นครูสอนทหารตำรวจ

“ผมสอนนักเรียนทั้งหมด 4 เหล่าคือ ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ และตำรวจ ความสามัคคีเป็นหัวใจที่คนรับใช้ชาติต้องเรียน เวลาที่ออกไปทำงานจะได้ร่วมมือกันทั้ง 4 เหล่า

“เพราะในการทำงานต้องสามัคคีต้องรู้จักเคารพบุคคลที่อาวุโส การสามัคคีก็ต้องให้เกียรติซึ่งกันและกันในการทำงานบ่อยครั้งที่นักเรียนกลับมาทำงานกับผมบางคนก็มียศสูง ก็ต้องยอมรับความเป็นตัวตนของเขาให้ได้

ในหลวงรัชกาลที่ 9, คำพ่อสอน, รัชกาลที่9, วันพ่อ, วันพ่อแห่งชาติ

“แม้ว่าเราจะเป็นครู แต่วันใดวันหนึ่งเราอาจกลายเป็นลูกน้อง เราต้องทำงานร่วมกับเขา ก็ต้องใชหัวใจของความสามัคคีคือต้องคิดว่า เราเป็นทหารทำงานร่วมกันเพื่อชาติ จะมานึกว่าเป็นครูเป็นศิษย์กันก็ไม่ได้

“เหมือนอย่างสถานการณ์ตอนนี้ถ้าทุกคนนึกถึงในหลวงและพระราชดำรัสของพระองค์ท่าน ก็จะลดทิฐิลงแล้วกลับมาสามัคคีกัน

“พระราชดำรัสและพระบรมราโชวาท จึงไม่ใช่แค่สิ่งที่พระองค์ตรัสไว้แล้วทำได้จริงเท่านั้น สิ่งที่สำคัญคือ ทุกถ้อยคำที่ตรัส พระองค์ทำให้เราเห็นด้วย และเราสามารถดึงมาใช้ได้ พระองค์จึงเป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดที่เราควรรำลึกอยู่เหนือเกล้าเสมอ”

ด้วย “คำพ่อสอน” จึงรู้พินิจพิจารณาด้วย “คำพ่อสอน” จึงมีแนวทางแห่งความดีและด้วย “คำพ่อสอน” จึงมีชีวิตที่เป็นสุข

 

“คำพ่อสอน” จึงสถิตในดวงใจของคนไทยทั่วหล้า


บทความน่าสนใจอื่นๆ

สถิตในดวงใจตราบนิจนิรันดร์ ดวงใจของคนทั้งชาติ

เศรษฐกิจพอเพียง ทฤษฎีเพื่อสุข สุขภาพเลิศ ของคนไทย

ติดตาม ชีวจิต ในช่องทางต่างๆ ได้ที่

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.