ในหลวงรัชกาลที่ 9, คำพ่อสอน, รัชกาลที่9, วันพ่อ, วันพ่อแห่งชาติ

คำพ่อสอน ในดวงใจ

รู้จักปรับเปลี่ยนตัวเอง

“คำนึงถึงการมีชีวิตอย่างกว้างขวางมากกว่าการมีชีวิตให้ยืนยาว” “จริงจังและเคี่ยวเข็ญต่อตนเอง แต่อ่อนโยนผ่อนปรนต่อผู้อื่น” “ประเมินตนเองด้วยมาตรฐานของตัวเอง ไม่ใช่ด้วยมาตรฐานของคนอื่น” “ใช้เวลาน้อยในการที่คิดว่าใครคือคนถูก แต่ใช้เวลาให้มากในการคิดว่าอะไรคือสิ่งที่ถูก”พระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จากสายข้อมือออกจำหน่ายในปี พ.ศ. 2549

ข้อความดังกล่าวคือหนึ่งในพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่นายแพทย์สุธี สุดดี แพทย์ชนบทดีเด่นประจำปี 2551 นำมาใช้ในการปรับเปลี่ยนตัวเอง จากที่เคยมีความคิดว่าแพทย์เป็นศูนย์กลางในการรักษา จึงเปลี่ยนเป็นการรักษาตามปริบทของคนไข้ ทำให้การทำงานในฐานะแพทย์ชนบทสัมฤทธิผลและมีความสุข

“เหตุที่นำพระราชดำรัสเหล่านั้นมาใช้เพราะเป็นคำสั้นๆ และเป็นแนวทางปฏิบัติได้ดี ซึ่งการทำงานในท้องถิ่นที่ไม่เคยอยู่ จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนตัวเองมาก ถ้าเรายอมรับการเปลี่ยนแปลงตัวเองก็จะไม่รู้สึกลำบาก

“เดิมทีหมอจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นศูนย์กลาง ทำให้ไม่ฟังคนไข้และไม่มองในมุมของคนไข้ว่าเขารู้สึกอย่างไร ซึ่งจริงๆ แล้วเราต้องดูแลตามความเป็นจริงที่เขาเป็น และบางครั้งคนเราอาจจะมีถูกผิดได้ตลอดเวลาในคนเดียวกัน จึงไม่ควรตัดสินที่คน แต่ควรตัดสินที่เหตุการณ์

“ต้องยอมรับว่าเราอาจจะไม่สมบูรณ์แบบ แต่ถ้าค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จะเข้าใจคนอื่นมากขึ้น?มีชีวิตอยู่อย่างลงตัว สนุก ไม่รู้สึกอึดอัด และไม่ทะเลาะกับใคร ที่สำคัญ บุคลิกเราจะเปลี่ยนไป รู้จักการทำงานเป็นทีม พระราชดำรัสของในหลวงจึงเป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้เลยทันที”

ในหลวงรัชกาลที่ 9, คำพ่อสอน, รัชกาลที่9, วันพ่อ, วันพ่อแห่งชาติ

พัฒนายั่งยืนในงานศิลป์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ปรีชา เถาทองศิลปินและอาจารย์ประจำภาควิชาศิลปะไทย คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากรได้นำพระราชดำรัสเรื่อง “การพัฒนาที่ยั่งยืน” มาใช้ในการพัฒนางานศิลปะไทยจนมีคุณค่าในระดับสากล

“ตอนทำหนังสือภาพประกอบเรื่อง พระมหาชนก ได้ถวายงานหลายครั้ง พระราชดำรัสที่พระราชทานให้ศิลปินหลายคน โดยเฉพาะตัวผมเองได้นำมาใช้คือการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะผมต้องเขียนภาพตอนจบของพระมหาชนก

“พระองค์ตรัสถามว่า ‘การพัฒนาที่ยั่งยืนมีความหมายอย่างไรและประกอบด้วยอะไรบ้าง’ และพระราชทานพระราชดำรัสเป็นแนวทางว่า ‘การพัฒนาที่ยั่งยืนหมายถึงการอยู่บนพื้นฐานความพอดีพอเพียงแล้วจึงจะทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ศิลปะหรือการดำเนินชีวิตหรือทุกอย่างอยู่บนพื้นฐานตรงนี้’

“พระองค์ท่านเป็นครู เป็นผู้รอบรู้ในศาสตร์และศิลป์ทุกด้าน สามารถที่จะบูรณาการทฤษฎีองค์ความรู้หลากหลายให้ทันยุคสมัยเสมอ โดยใช้สติ ความพอดี ความรู้ตัวตน และนำสิ่งที่เป็นภูมิปัญญาของเรามาบวกกับสิ่งที่เป็นความรู้ทางทฤษฎีตะวันตก

“สิ่งที่เกิดขึ้นกับผมคือ ตาสว่างเห็นประจักษ์ตรงนั้น จึงเกิดความมั่นใจเพราะโดยส่วนตัวที่ผมทำงานก็ค้นคว้าเกี่ยวกับทฤษฎีแสงเงา เอาเรื่องศิลปวัฒนธรรมไทยมาสร้างเป็นศิลปะสมัยใหม่อยู่แล้ว แต่ยังขาดความมั่นใจในตัวเอง

“เมื่อได้เข้าถวายงาน จึงเกิดความมั่นใจมากขึ้นในการพัฒนางานอนุรักษ์สืบสานงานศิลปะไทย ให้เดินไปสู่ศิลปะสมัยใหม่โดยมีฐานรากความเป็นชาติจึงเป็นการพัฒนางานศิลปะสมัยใหม่ที่มั่นคงและยั่งยืน”

 

 

 

 

<< อ่านต่อหน้าที่ 3 >>

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.