วิตามินต้านหวัด,วิตามินต้านภูมิแพ้,แพ้โรคภูมิแพ้

5 วิตามินต้านภูมิแพ้ ช่วยร่างกายแข็งแรง ไม่ป่วยง่าย

วิตามินต้านภูมิแพ้ กินเป็น ไม่ป่วย

เราพูดเรื่องอาหารต้านภูมิแพ้กันบ่อยแล้ว วันนี้เราจะพาลงลึกสารอาหารทีละอย่างเลย ว่า วิตามินต้านภูมิแพ้ มีอะไรน่าสนใจอย่างไรบ้าง มาดูกันค่ะ

วิตามินซี

งานวิจัยล่าสุดโดยวารสาร The Cochrane Database of Systematic Reviews พบว่า วิตามินซีไม่ได้ช่วยป้องกันโรคหวัด แต่สามารถช่วยให้โรคหวัดหายเร็วขึ้น นอกจากนี้หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่า ปริมาณวิตามินซีที่แนะนำเพื่อลดความรุนแรงและระยะเวลาของโรคคือ วันละ 1-3 กรัม แต่ควรกินต่อเนื่องกันสักระยะหนึ่ง เพราะหากกินตอนเริ่มเป็นหวัดแล้วจะไม่สามารถช่วยลดความรุนแรงหรือระยะเวลาในการเป็นหวัดได้

นอกจากนี้หากต้องการเสริมวิตามินซี ควรกินพร้อมอาหารหรือหลังอาหารทันทีเพื่อป้องกันการระคายเคืองกระเพาะอาหาร โดยอาจแบ่งกินเช้าและเย็นหรือเช้า กลางวัน เย็น ขึ้นอยู่กับปริมาณวิตามินซีที่กินใน 1 วัน โดยวิธีแบ่งกินหลายครั้งช่วยให้ร่างกายสามารถดูดซึมวิตามินซีได้ดีกว่าการกินในครั้งเดียว

ผักที่มีวิตามินซีสูง เช่น พริกหวาน มะระขี้นก ผักเหลียง ผักหวานบ้าน มะเขือเทศ ตำลึง ดอกแค ผักกระเฉด ผักกาดขาว ผักโขม ผักคะน้า พริก มะกอกไทย มะขามป้อม กะหล่ำปลี แครอต กะหล่ำดอก ส่วนผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง เช่น ฝรั่งแป้นสีทอ ง ลิ้นจี่ จักรพรรดิ เงาะโรงเรียน มะละกอ แขกดำ มะม่วงเขียวเสวยดิบ ส้ม เชอร์รี่ มะละกอสุก กล้วย สับปะรด

แสงแดด, วิตามินดี, วิตามินต้านภูมิแพ้, รักษาโรคภูมิแพ้, โรคภูมิแพ้
ออกกำลังกายเพื่อรับแสงแดดอ่อนๆยามเช้า ช่วยให้ร่างกายได้รับวิตามินดี

วิตามินดี

วารสาร The British Medical Journal ทำการศึกษากับอาสาสมัคร 11,000 คนทั่วโลก โดยการเก็บข้อมูลผลของวิตามินดีกับโรคในระบบทางเดินหายใจ เช่น หวัด หลอดลมอักเสบ ปอดบวม พบว่า การเสริมวิตามินดีเป็นประจำอาจมีผลช่วยลดความเสี่ยงโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ

ศาสตราจารย์เอเดรียน  มาร์ติโน (Adrian Martineau) จากควีนแมรี มหาวิทยาลัยแห่งลอนดอน (Queen Mary University of London) อังกฤษ อธิบายว่า วิตามินดีอาจช่วยเพิ่มระดับเปปไทด์ต้านจุลชีพ (Antimicrobial Peptides) เปปไทด์สายสั้นมีบทบาทสำคัญในกลไก
การป้องกันตัวของร่างกาย (Host Defense Mechanism) ต่อการบุกรุกของเชื้อจุลชีพก่อโรค และทำหน้าที่คล้ายยาปฏิชีวนะตามธรรมชาติในการต่อต้านเชื้อก่อโรคภายในปอด

นอกจากนี้รายงานจากวารสาร European Respiratory ยังพบว่า วิตามินดีมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหืดกำเริบรุนแรงชนิดที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาลหรือแผนกฉุกเฉิน รวมถึงพบว่า วิตามินดีช่วยลดอัตราการเกิดโรคหืดที่ต้องรักษาด้วยยาเม็ดสเตียรอยด์ (Steroid)

แต่ทั้งนี้นักวิจัยสรุปว่า แม้พบว่าวิตามินดีมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหืด แต่ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าใช้ได้ผลกับทุกคน นอกจากนี้การเสริมวิตามินดีอาจให้ผลดีกับเฉพาะผู้ที่ขาดหรือมีระดับวิตามินดีในเลือดต่ำเท่านั้น ดังนั้นจำเป็นต้องมีการทดลองเพื่อหาคำตอบและยืนยัน
ผลการศึกษาต่อไป

เพื่อป้องกันการขาดวิตามินดี มหาวิทยาลัยแมริแลนด์ (University of Maryland) ประเทศสหรัฐอเมริกาแนะนำให้ออกกำลังกายเพื่อรับแสงแดดอ่อนๆยามเช้า พร้อมสวมเสื้อผ้าที่เผยผิวเพื่อรับวิตามินดี เช่น เสื้อกล้ามเสื้อยืดแขนสั้น สำหรับคนผิวขาวแนะนำให้ตื่นมารับแสงแดดอย่างน้อยสัปดาห์ละ 45 นาที ส่วนผู้ที่มีผิวคล้ำควรได้รับแสงแดดอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง จึงจะได้รับวิตามินดีเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

โดยชายและหญิงที่มีอายุ 19 – 50 ปี ควรได้รับวิตามินดีวันละ 5 ไมโครกรัม ส่วนผู้ที่มีอายุ 51 ปีขึ้นไปควรได้รับวิตามินดีวันละ 10 ไมโครกรัม

โยเกิร์ต, สังกะสี, วิตามินต้านภูมิแพ้, รักษาโรคภูมิแพ้, โรคภูมิแพ้
โยเกิร์ตมีสังกะสี ช่วยบรรเทาอาการหวัดให้หายเร็วขึ้น

สังกะสี

เมื่อไม่นานมานี้มีการศึกษาโดยวารสาร BMC Family Practice พบว่า การเสริมสังกะสี(Zinc Acetate Lozenges) ปริมาณสูงช่วยให้หวัด
หายเร็วขึ้น

นักวิจัยแนะนำให้เสริมสังกะสีวันละ 80 มิลลิกรัม โดยเริ่มกินภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากมีอาการหวัดและกินติดต่อกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ พบว่าสามารถช่วยลดระยะเวลาการเกิดอาการต่างๆ ระหว่างเป็นหวัด เช่น น้ำมูกไหล คัดจมูก เจ็บคอ เสียงแหบ และไอ ช่วยให้อาการหายเร็วขึ้น 37 22 18 43 และ 46 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ แต่ไม่พบว่าสังกะสีมีผลลดระยะเวลาอาการปวดศีรษะและเป็นไข้

สังกะสีเป็นแร่ธาตุที่ร่างกายต้องการในปริมาณน้อย หากกินอาหารได้ตามปกติจะไม่ขาด ยกเว้นในผู้ป่วย เช่น โรคลำไส้อักเสบ โรคเบาหวาน ผู้ที่กินอาหารไม่สมดุล ผู้ที่อดอาหารเพื่อลดน้ำหนัก ดื่มสุรา หรือกินยาปฏิชีวนะเป็นประจำ

ข้อมูลจากปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทยแนะนำให้ผู้ชายที่มีอายุตั้งแต่ 19 ปีขึ้นไปควรได้รับสังกะสีวันละ 13 มิลลิกรัม ผู้หญิงควรได้รับสังกะสีวันละ 7 มิลลิกรัม สังกะสีมีอยู่ในอาหารหลายชนิด เช่น อาหารทะเล โยเกิร์ต งา ถั่ว ธัญพืชไม่ขัดสี โดยหอยนางรม 100กรัม มีสังกะสีสูงถึง 75 กรัม ถั่วแดงสุก เต้าหู้แข็ง ถั่วลันเตาสุก โยเกิร์ตอย่างละครึ่งถ้วย มีสังกะสีประมาณ 1 มิลลิกรัม

วิตามินอีและเบต้าแคโรทีน

งานวิจัยจากวารสาร The Central European Journal of Medicine พบว่าสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น เบต้าแคโรทีนและวิตามินอีมีผลดีต่อผู้ป่วยโรคหืด เพียงกินอาหารที่มีเบต้าแคโรทีน (Beta-Carotene) สูงเป็นประจำ อีกทั้งวารสาร Allergy and Clinical Immunology ยังพบว่า วิตามินอีและเบต้าแคโรทีนมีส่วนช่วยบรรเทาอาการหืดและช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น

นอกจากนี้ผลการศึกษาจากศูนย์เวชศาสตร์สิ่งแวดล้อม โรคหอบหืดและชีววิทยาปอด (The Center for Environmental Medicine, Asthma and Lung Biology) มหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา ชาเปลฮิลล์ (University of North Carolina at Chapel Hill) ประเทศสหรัฐอเมริกา ยังพบว่า การเสริมวิตามินอีชนิดแกมมา-โทโคฟีรอล (Gamma-Tocopherol) วันละ 623 มิลลิกรัม นาน 1 – 2 สัปดาห์ สามารถช่วยลดและป้องกันการอักเสบทั้งในผู้ป่วยโรคหืดและผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง

เบต้าแคโรทีนพบมากในผักและผลไม้สีเหลือง ส้ม และผักใบเขียว เช่น ฟักทอง แครอต มะละกอ แคนตาลูป มะเขือเทศ ผักโขม บรอกโคลี(Broccoli) ส่วนวิตามินอีพบมากในน้ำมันจมูกข้าวสาลี น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันมะกอก เมล็ดทานตะวัน เฮเซลนัท (Hazelnut) ฟักทอง ผักโขม บรอกโคลี สาหร่าย อะโวคาโด (Avocado) แบล็กเบอร์รี่ (Blackberry) มะม่วง ปลาแซลมอน (Salmon) ปลาทูน่า (Tuna) เบต้าแคโรทีนและวิตามินอีเป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน ฉะนั้นควรกินอาหารที่มี เบต้าแคโรทีนและวิตามินอีสูงร่วมกับอาหารที่ปรุงด้วยน้ำมันพืชที่อุดมไปด้วยไขมันดี


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

โรคพ่วงจากภูมิแพ้ แก้ได้ด้วยการออกกำลังกาย

กินดีอยู่ดี สะอาดมากไป เสี่ยงเป็นโรคภูมิแพ้อาหารจริงหรอ ?

รวมของเด็ด อาหารป้องกันภูมิแพ้ ต้านหวัด ช่วยร่างกายแข็งแรง

ป้องกันภูมิแพ้ ด้วยโปรแกรมการกิน+ออกกำลังกาย

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.