หลากวิธีสยบอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อย

วิธี แก้ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ด้วยตัวเอง

เชื่อว่าหลายคนคงเคยมีอาการท้องอืด อาหารไม่ย่อยกันบ้างแล้ว เป็นทีก็รู้สึกอึดอัด ไม่สบายเนื้อตัวใช่ไหมคะ ยิ่งหลังๆมานี้เพื่อนชวนกินชาบู กินปิ้งย่างประจำ ยิ่งอืดซ้ำอืดซ้อนเข้าไปใหญ่ วันนี้ผู้เขียนจึงมีวิธี แก้ท้องอืด มาฝากค่ะ

อาหารไม่ย่อยเกิดจากอะไร

อาหารไม่ย่อย เกิดจากระบบย่อยอาหารทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ ทำให้มีแก๊สในระบบย่อย เกิดกรดเกินในกระเพาะอาหาร และเกิดอาการจุก เสียด แน่นบริเวณลิ้นปี่ สาเหตุของปัญหาที่พบบ่อยมีดังนี้

การย่อยทำงานไม่มีประสิทธิภาพ เกิดจากการรีบเร่งกินอาหาร รีบเคี้ยว รีบกลืน หรือกินอาหารปริมาณมากเกินไป ทำให้เสียเวลาในกระบวนการย่อยนาน เพราะเอนไซม์ในน้ำลายย่อยอาหารไม่ทัน นอกจากนั้นแล้วยังทำให้น้ำย่อยในกระเพาะหลั่งได้น้อยลงอีกด้วย

ความไวต่ออาหารบางประเภท ก็เป็นสาเหตุหนึ่งของอาการนี้ เช่น อาหารจำพวกแป้งสาลี นม โดยเฉพาะอาหารที่มีเส้นใยมาก เพราะเป็นตัวดูดซับน้ำไว้ เมื่อพองตัวจะทำให้ท้องอืด เกิดอาการจุกแน่น

การออกกำลังกายเร็วเกินไปหลังกินอาหาร ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะทำให้เลือดที่ควรจะไปเลี้ยงระบบย่อยอาหารถูกดึงไปเลี้ยงกล้ามเนื้อแทน ทำให้เลือดไปเลี้ยงระบบย่อยไม่เพียงพอ

แก๊สในระบบทางเดินอาหารมาก เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลและอัดแก๊สบางชนิด หรือการกินผลไม้หลังกินอาหารที่มีไขมัน เนื่องจากไขมันย่อยช้าผลไม้จึงบูดก่อนที่จะได้ย่อย ทำให้เกิดแก๊สขึ้น

กรดเกินในกระเพาะ เกิดจากความเครียด มีผลกระตุ้นให้กล้ามเนื้อกระเพาะอาหารบีบรัดตัว ซึ่งเป็นการสร้างกรดในกระเพาะ นอกจากนี้การดื่มเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนและแอลกอฮอล์ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กรดในกระเพาะ-อาหารหลั่งมากขึ้น

จะเห็นได้ว่าสาเหตุส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับลักษณะนิสัยการกิน อาหารบางประเภท ตลอดจนพฤติกรรมอื่นๆ และภาวะทางอารมณ์ ซึ่งสาเหตุเหล่านี้สามารถแก้ได้จากตัวเรา

แก้ท้องอืด, ท้องอืด, ท้องเฟ้อ, อาหารไม่ย่อย, แก้อาหารไม่ย่อย

ปรับนิสัยการกินแก้อาการอาหารไม่ย่อย

ลองปรับนิสัยการกินและเปลี่ยนอาหารบางอย่างดู อาจช่วยให้อาการอึดอัดแน่นท้องที่เป็นบ่อยๆ หายเป็นปลิดทิ้งได้

* ไม่ควรกินอาหารให้อิ่มเกินไป เว้นช่วงมื้ออาหารให้ห่างกันนานกว่า 4 ชั่วโมง ควรกินอาหารมื้อสุดท้ายก่อนเวลานอนอย่างน้อย 3 ชั่วโมง

* อย่าดื่มน้ำมากกว่าหนึ่งแก้วระหว่างกินอาหาร

* ควรเลิกกินอาหารที่ทำให้เกิดอาการแพ้ หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรกินในปริมาณน้อยๆ ก่อน ถ้าเป็นผู้สูงอายุที่กินได้น้อยหรือแพ้อาหารบางชนิด ให้กินวิตามินรวมและเกลือแร่เสริมได้

* ลดการบริโภคเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลหรืออัดแก๊ส

นอกจากวิธีป้องกันแล้ว ยังมีวิธีธรรมชาติที่ช่วยบรรเทาอาการได้ดีมาฝากอีกด้วย เริ่มจากวิธีโบร่ำโบราณที่ช่วยคลายอาการนี้กันก่อนค่ะ

สบายท้องด้วยการนวดกดจุดเท้า

การกดจุดที่เชื่อว่าสัมพันธ์กับระบบย่อยอาหารโดยช่วยบรรเทาอาการจุก เสียด แน่นได้ วิธีนี้ง่ายแสนง่าย เพราะไม่ต้องตระเตรียมอะไร ขอเพียงความเข้าใจที่ทำให้กดจุดถูกที่ถูกทาง เพียงเท่านี้ก็ช่วยให้ผ่อนคลาย สบายท้องได้แล้วค่ะ

1. ใช้หัวแม่มือกดลงบนหลังเท้าตรงร่องระหว่างนิ้วชี้และนิ้วกลาง บริเวณที่กระดูกของนิ้วชี้และนิ้วกลางมาบรรจบกัน คลึงนาน 2 นาที

2. ใช้หัวแม่มือกดลงบนหลังเท้าตรงเนื้อที่เชื่อมนิ้วชี้และนิ้วกลาง

3. ใช้มือขวาประคองเท้าซ้ายไว้ แล้วใช้นิ้วหัวแม่มือซ้ายกดกลางฝ่าเท้า รีดไปตามฝ่าเท้าในแนวเส้นทแยงมุม

4. กดจุดฝ่ามือซ้ายโดยใช้นิ้วหัวแม่มือกดรีดจากริมฝ่ามือด้านซ้ายตัดไปกลางฝ่ามือตามแนวขวาง

นวดเสร็จแล้วก็ไปดูหยูกยาจากธรรมชาติกันบ้าง วิธีนี้แม้ต้องเตรียมของบ้าง แต่รับประกันว่าแค่เดินเข้าไปในครัวก็ได้ทุกอย่างครบแล้วค่ะ

ยาจากธรรมชาติ

ในครัวมีผักผลไม้หลายชนิดที่มีประสิทธิภาพช่วยให้การย่อยดีขึ้น บางชนิดก็มีสรรพคุณลดกรดขับลม บ้างก็ใช้แก้อาการท้องอืด จุกเสียดแน่นท้องได้ การนำมาใช้ก็ทำได้ไม่ยุ่งยาก

* ฝานขิงสด 30 กรัมเป็นแว่นๆ ชงในน้ำเดือด 500 มิลลิลิตร แช่ไว้หนึ่งชั่วโมงแล้วกรอง กินครั้งละ 2 ช้อนโต๊ะ แก้ท้องอืดและปวดท้อง

* ทุบตะไคร้สดแก่ๆ  ประมาณ 1 กำมือ (50 – 60 กรัม) พอแหลก ต้มเอาน้ำดื่ม แก้อาการแน่นจุกเสียด

* ชงชากะเพรา โดยต้มใบกะเพราและยอดสด 1 กำมือ (ประมาณ 25 กรัม) ในน้ำเปล่า 1 ลิตร ดื่มแทนน้ำ เพื่อช่วยบำรุงธาตุ ขับลม ลดอาการจุกเสียด ชากะเพรานี้เหมาะสำหรับขับลมในเด็ก

* อาหารรสขมช่วยกระตุ้นให้น้ำย่อยออกมาทำงานได้ดี ลองกินมะกอกหรือชาสมุนไพรรสขมก่อนอาหาร ก็จะไม่มีอาการอึดอัดแน่นท้องตามมา

* ผักผลไม้อย่างมะละกอ แอ๊ปเปิ้ล ผักชีลาว มีเอนไซม์ช่วยย่อยอาหาร ส่วนกะหล่ำปลี แครอท พาร์สลีย์ และน้ำมันมะกอกบริสุทธิ์ ก็มีสรรพคุณเป็นยาลดกรด ลดการระคายเคือง ควรกินผักผลไม้เหล่านี้พร้อมอาหาร เพื่อช่วยให้การย่อยอาหารมีประสิทธิภาพดีขึ้น

รู้จักวิธีธรรมชาติที่จะช่วยคลายอาการอึดอัดท้องกันไปหลากหลายวิธีแล้ว วิธีไหนจะให้ผลชะงัดต้องลองนำไปใช้ดูค่ะ

แก้ท้องอืด, ท้องอืด, ท้องเฟ้อ, อาหารไม่ย่อย, แก้อาหารไม่ย่อย
ปรับพฤติกรรมการกินอาหารให้ถูกต้อง ป้องกันท้องอืด อาหารไม่ย่อย

อาการที่ควรพบแพทย์

  • มีอาการอาหารไม่ย่อยบ่อยครั้ง หรือมีอาการอย่างรุนแรง
  • น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • รู้สึกเบื่ออาหาร กลืนอาหารลำบาก หรือมีอาการไอโดยไม่ทราบสาเหตุร่วมด้วย

อ้างอิง

อุทัยวรรณ วิสุทธากุล, บรรณาธิการ. รักษาโรคด้วยวิธีธรรมชาติ. กรุงเทพฯ: รีดเดอร์ส ไดเจสท์ (ประเทศไทย), 2546.


© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.