เกษตรกร, ชาวนา, ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้, ข้าวหอมมะลิ, ทุ่งกุลาร้องไห้, ร้อยเอ็ด

ข้าวหอมมะลิ แห่งทุ่งกุลาร้องไห้ เมืองหลวงข้าวหอมมะลิโลก

หอมกลิ่นยอดข้าว ชาชงจากกล้าอ่อน

ด้วยเหตุของราคาข้าวตกต่ำ หนี้สินที่พอกพูนขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ กอบแก้ว ระวิเรือง ตัดสินใจทำอะไรซักอย่าง เพื่อให้ตัวเองอยู่รอด โดยเริ่มจากการเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อ “ข้าว” และอาชีพเกษตรกรเสียใหม่

อันที่จริง-แม้กอบแก้วจะเกิดในครอบครัวชาวนา แต่เธอกลับเริ่มต้นทำงานในฐานะข้าราชการรับใช้ประชาชน แต่เมื่อถึงจังหวะและเวลาที่เหมาะสม เธอได้ลาออกมาทำนา และอย่างที่บอกว่ามันไม่เป็นอย่างที่ใจนึก เพราะขายข้าวได้เงินไม่คุ้มทุน ราคาข้าวที่ถูกกำหนดโดยพ่อค้าก็ไม่เคยช่วยให้ชาวนาลืมตาอ้าปากได้ จนในที่สุดความกล้าหาญของเธอที่เปลี่ยนมุมมอง ปรับวิธีคิด จึงเป็นจุดเริ่มต้นทางรอด โดยมี ชาใบข้าว, ครีมผงข้าวหอมมะลิ และ ข้าวฮักฮาเฮ เป็นตัวความหวัง

ต้นอ่อนข้าว, ข้าว, ข้าวทุ่งกุลาร้องไห้, ทุ่งกุลาร้องไห้, ข้าวหอมมะลิ, ข้าวหอมมะลิ105,
แปลงปลูกต้นอ่อนข้าวหอมมะลิ

อย่างที่เรารู้ ข้าวไม่ได้มีเฉพาะเมล็ดเท่านั้นที่ทำเป็นข้าวเปลือกหรือข้าวสาร ขายสร้างรายได้ เพราะส่วนประกอบอื่นๆ ของข้าวไม่ว่าจะเป็น แกลบ ฟาง ซัง ทุกๆ ส่วนของข้าวล้วนมีคนเอามาดัดแปลงเปลี่ยนรูป ทำเป็นสิ่งใหม่หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกขายได้ทั้งสิ้น

กอบแก้ว ก็เห็นสิ่งเหล่านี้เช่นกัน เธอจึงเริ่มสร้างมุมมองใหม่ หาข้อมูลจนพบว่าคุณปู่ของเธอเองซึ่งเป็นหมอยาสมุนไพรประจำหมู่บ้านมักจะต้มใบอ่อนของข้าวให้ผู้ป่วยกินตอนพักฟื้น เธอจึงเริ่มเรียนรู้ศึกษา ทดลอง ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา

“หมดข้าวเป็นยุ้ง” กอบแก้วว่า “ตอนแรก ก็ตั้งต้นจากไปอบรมเกี่ยวกับการแปรรูปข้าวหอมมะลิ ซึ่งตอนนั้นก็ยังไม่ได้คิดว่าจะทำอะไร จนมาเจอว่าต้นอ่อนของข้าวนี่แหละ ใช้ชงดื่มได้ ใครที่เจ็บคอ ชงดื่ม 2 วัน หาย คนที่สูบบุหรี่จัดๆ มาทั้งวัน ตื่นเช้าขึ้นมาลองดื่มดู รับรองสดชื่น”

ชาใบข้าวหอมมะลิ, เครื่องดื่มสุขภาพ, ข้าวทุ่งกุลาร้องไห้, ทุ่งกุลาร้องไห้, ข้าวหอมมะลิ, ข้าวหอมมะลิ105,
เครื่องดื่มชาใบข้าวหอมมะลิ

อย่างที่กอบแก้วบอก ชาใบข้าวของเธอไม่ได้มาจากใบข้าวแก่ๆ ที่พบเห็นตามทุ่งนา

แต่มาจากการเพาะบ่ม เอาใจใส่อย่างทะนุถนอม และอดทนกับลองผิดลองถูกมานับครั้งไม่ถ้วน โดยเริ่มจากขุดดินขึ้นแปลงเหมือนปลูกผัก ตากดินให้แห้ง และปรับสภาพให้พอเหมาะเพื่อรองรับการงอกของเมล็ดข้าว

จากนั้นก็นำเมล็ดข้าวเปลือกหอมมะลิจากทุ่งกุลามาแช่น้ำตามกระบวนการให้รากงอกก่อนนำไปหว่านบนแปลง คอยดูแล รดน้ำ บังแดด เฝ้าดูการงอกอย่างช้าๆ เมื่อใบข้าวอันบอบบางงอกโผล่พ้นดินเมล็ดละ 2 ใบ หรือใช้เวลา 10 วัน ก็ได้เวลาตัดแล้ว

“ต้องตัดตอนเช้ามืดตั้งแต่ตี 4 ไม่ให้โดนแสงอาทิตย์เด็ดขาด” เธอบอกถึงกระบวนการแรก จากนั้นก็นำมา “น็อคร้อน” ให้คงสีสัน จากนั้นก็นำไป “น็อคเย็น” เพื่อคงกลิ่นแบบข้าวหอมมะลิ แล้วทำให้แห้งโดยการคลึงด้วยมือช้าๆ ก่อนนำไปอบ แล้วบรรจุถุงต่อไป

“หนึ่งแปลงมีต้นทุนเฉลี่ยประมาณ 1,700 บาท แต่ขายได้ 3,000-5,000 บาท เราทำได้ทั้งปี ไม่เหมือนกับการทำนาเราขายข้าวได้ปีละครั้งเท่านั้น” กอบแก้ว บอกถึงความต่างของรายได้ และกำไรขาดทุนที่เห็นได้ชัดเจนมาก

จากการลงมือทำอย่างเอาจริงเอาจังและความกล้าหาญที่จะเปลี่ยนแปลง จนมีชาวนาในหมู่บ้านจำนวนไม่น้อยมองด้วยสายตาสงสัยในความประหลาดคิดของกอบแก้ว แต่ในวันนี้เธอได้รับการยอมรับให้เป็นผู้นำกลุ่มส่งเสริมอาชีพบ้านเหม้า ต.สระคู อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด มีชาวบ้านมาร่วมหัวจมท้ายกับเธอถึง 83 ราย

ทุกคนมีความสุข เต็มไปด้วยรอยยิ้ม และพร้อมที่จะช่วยกันคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จาก ข้าวหอมมะลิ ทุ่งกุลาให้เราได้ลิ้มลองต่อไป

สนใจสามารถสั่งซื้อได้ที่นี่

ร้อยเอ็ดเตรียมจัดเทศกาล ข้าวหอมมะลิ โลกครั้งที่ 19 อย่างยิ่งใหญ่ ชูแนวคิด “นวัตกรรมนำการผลิต” ตอกย้ำศักยภาพของการเป็นเมืองหลวงข้าวหอมมะลิโลก หวังกระตุ้นให้เกษตรกรหันมาใช้ ข้าวหอมมะลิ แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นยิ่งขึ้น พร้อมเปิดเวทีเจรจาการค้าระดับโลก ยกระดับสู่การเป็น Rice Expo 2018 คาดมีเงินสะพัดกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาท

สำหรับเทศกาล ข้าวหอมมะลิ โลกครั้งที่ 19 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23-25 พฤศจิกายน 2561 ณ ศูนย์ประชุมและนิทรรศการ โรงแรมเพชรรัตน์การ์เด้นร้อยเอ็ด ใครอยู่แถวนั้นอย่าลืมไปเที่ยวกันนะครับ

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.