เคี้ยวอาหาร, เคี้ยวกี่ครั้ง, เคี้ยวอาหารลดน้ำหนัก, ป้องกันโรค, ลดความอ้วน

เคี้ยวกี่ครั้ง ให้ไกลโรค หุ่นดี แถมอ่อนเยาว์กว่าเดิม

ยิ่งเคี้ยว ยิ่งอ่อนเยาว์ จริงหรือ ? แล้วต้อง เคี้ยวกี่ครั้ง ต่อ 1 คำกันนะ 

       ในปัจจุบันการเร่งรีบในการใช้ชีวิตเป็นสิ่งที่คนทุกคนกำลังเผชิญ ไม่เว้นแม้แต่การกิน ไม่ว่าจะเป็นการตื่นเพื่อกินข้าวเช้าให้ทัน การรีบเร่งทำงานเพื่อได้กินข้าวกลางวัน หรือแม้แต่รีบกินข้าวเย็นให้ทันก่อนเวลาเข้านอน ทุก ๆ วันชีวิตต้องเร่งรีบไปหมด ทำให้ผลที่ได้จากการเร่งรีบคือนิสัยการ การเคี้ยว ที่ต้องเร่งรีบไปด้วย และผลของการเคี้ยว ที่รวดเร็ว ก็ไม่ได้ส่งผลดีเหมือนตอนที่ต้องเร่งทำงานเช่นกัน วันนี้ชีวจิตจึงไปหาเกร็ดความรู้ ว่าจริง ๆ แล้วการกินข้าว 1 คำ เราต้อง เคี้ยวกี่ครั้ง

ใน 1 เคี้ยว มีรายละเอียดดังนี้

       การกินซุปผักหรือดื่มน้ำผักผลไม้ปั่นเป็นประจำทุกวันเป็นวิธีที่ช่วยให้ร่างกายได้รับสารพฤกษเคมีปริมาณมาก นอกจากนี้การ เคี้ยวอาหารให้ละเอียดยังเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยลดการเกิดอนุมูลอิสระ ROS ได้ ด้วยการเคี้ยวอาหารให้ได้คำละ 30 ครั้ง

       เคยทราบหรือไม่ว่า น้ำลายมีสรรพคุณช่วยต้านการเกิดโรคมะเร็ง เนื่องจากเอมไซม์ชนิดหนึ่งที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระอยู่ในน้ำลาย ฉะนั้นการกินอาหารวันละ 3 มื้อ รวมถึงการเคี้ยวให้ละเอียด ทำให้เอมไซม์อะไมเลสหลั่งออกมาพร้อมกับน้ำลายมีปริมาณมากพอ จึงทำให้ไม่มีอนุมูลอิสระ ROS สะสมในร่างกายมากเกินไป

ผักสีเขียวช่วยป้องกันโรค

       สารพฤกษเคมี หรือ ไฟโตนิวเทรียนท์  หมายถึง สารเคมีที่มีฤทธิ์ทางชีวภาพที่พบเฉพาะในพืช สารกลุ่มนี้อาจเป็นสารที่ทำให้พืชผักชนิดนั้นๆ มีสี กลิ่นหรือรสชาติที่เป็นลักษณะเฉพาะตัว สารพฤกษเคมีเหล่านี้หลายชนิดมีฤทธิ์ต่อต้านหรือป้องกันโรคบางชนิดและโรคสำคัญที่มักจะกล่าวกันว่าสารกลุ่มนี้ช่วยป้องกันได้คือ “ โรคมะเร็ง ” กลไกการทำงานของสารพฤกษเคมีเมื่อเข้าสู่ร่างกายอาจเป็นไปโดยการช่วยให้เอ็นไซม์บางกลุ่มทำงานได้ดีขึ้น เอ็นไซม์บางชนิดทำหน้าที่ทำลายสารก่อมะเร็งที่เข้าสู่ร่างกาย มีผลทำให้สารก่อมะเร็งหมดฤทธิ์ ซึ่งปัจจุบันพบสารพฤกษเคมีแล้วมากกว่า 15,000 ชนิด

ผักสีเขียว, ป้องกันมะเร็ง, ผัก, ผลไม้, เคี้ยวอาหาร, โรคมะเร็ง, เคี้ยวกี่ครั้ง
กินผักสีเขียว ช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง

       นอกจากนี้การเคี้ยวอาหารจนละเอียดยังช่วยฉีกเยื่อหุ้มเซลล์ของผักผลไม้ออกเพื่อให้ร่างกายได้รับพฤกษเคมีอย่างเต็มที่ อีกทั้งการเคี้ยวให้อาหารมีชิ้นเล็กลงทีละน้อยยังทำให้การทำงานของระบบย่อยอาหารผิดปกติ ระดับน้ำตาลในเลือดค่อย ๆ เพิ่มขึ้น จึงไม่เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน

เคี้ยวเร็วเพราะอาหารปรุงแต่ง

       อาหารสมัยนี้ถูกปรุงแต่งให้รู้สึกอร่อยโดยไม่ต้องเคี้ยวนาน ๆ หนึ่งในนั้นคือ “ขนมกินเล่น” ทิ่นิยมใส่ “ผงชูรส”  หรือโมโนโซเดียมกลูตาเมต ซึ่งเป็นสารเคมีที่กระตุ้นปุ่มรับรสให้ไวขึ้นกว่าปกติ จึงรู้สึกว่ารสชาติกลมกล่อม แม้จะเคี้ยวเพียงไม่กี่คำ

การเคี้ยวที่ถูกวิธี, เคี้ยว, เคี้ยวอาหาร, เคี้ยวกี่ครั้ง, เคี้ยวอาหารอย่างไร
เคี้ยวอาหารให้ละเอียด ช่วยลดการเกิดอนุมูลอิสระ

       ในประเทศญี่ปุ่นเคยมีผู้ผลิตขนมรายหนึ่งใส่ผลชูรสปริมาณมาก ปรากฏว่ายอดขายเพิ่มขึ้นมหาศาล เพราะลูกค้ารู้สึกว่าอร่อยและซื้อซ้ำจนกลายเป็นคนติดผงชูรส ตั้งแต่มีมนุษย์เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ ไม่มีอาหารชนิดใดบนโลกจะอร่อยโดยไม่ต้องเคี้ยว ดังนั้นการกินอาหารแบบไม่เคี้ยว แต่กลับรู้สึกอร่อยได้จึงเป็นสิ่งผิดธรรมชาติ

       เมื่อกินอาหารที่ใส่ผงชูรสเป็นเวลานานและเคี้ยวอาหารน้อยครั้ง เป็นสาเหตุทำให้สมองไม่ตื่นตัว และระบบประสาทอัตโนมัติเสียสมดุล อ้าว แล้วแบบนี้เราต้อง เคี้ยวกี่ครั้ง เพราะถ้าเคี้ยวนานสัก 30 ครั้งอาหารจะเละและมีรสชาติแย่ ดังนั้นการเลือกกินอาหารไม่ปรุงแต่งจึงดีกว่า

ผงชูรส, เคี้ยว, เคี้ยวอาหาร, เคี้ยวกี่ครั้ง, เคี้ยวอาหารอย่างไร
กินอาหารที่ใส่ผงชูรส จะทำให้เราเคี้ยวอาหารน้อยลง เพราะรู้สึกอร่อยเร็ว

       หากกลับมาเคี้ยวอาหารให้ละเอียด ทำให้เกิดแรงกระตุ้นจากปากและขากรรไกรส่งสัญญาณไปที่สมองส่วนฮิปโปแคมปัสซึ่งควบคุมความจำและความคิด ทุกครั้งที่เคี้ยวอาหารจะช่วย กระตุ้นความจำและป้องกันโรคสมองเสื่อมได้

เคี้ยวกี่ครั้ง แล้วต้องนานแค่ไหนถึงจะมีสุขภาพที่ดี

       สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ให้ข้อมูลในหัวข้อเรื่อง “ฝึกกินอย่างมีสติเพื่อสุขภาพที่สตรอง” ในประเด็น กินอาหารให้ช้า เคี้ยวอาหารให้ละเอียด อ้างอิงจากงานวิจัยพบว่า ผู้ที่เคี้ยวและกลืนเร็ว จะไม่ค่อยได้รับรู้ถึงชนิดและปริมาณอาหารที่กินเข้าไป ทำให้ได้รับปริมาณและสารอาหารมากเกินกว่าที่ร่างกายต้องการ แม้ว่าจะเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ แต่หากมากเกินไปจะทำให้ร่างกายได้รับพลังงานสูงเกิน ส่งผลให้เกิดไขมันสะสมในร่างกาย มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น ซึ่งในแต่ละคำควรจะเคี้ยวอาหารประมาณ 15-25 ครั้งก่อนจะตักคำใหม่

       นอกจากนี้อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง กูรูต้นตำรับชีวจิต แนะนำให้เคี้ยวอาหารคำละ 50 ครั้ง ล่าสุด มีงานวิจัยพบว่า กินอาหาร 1 คำ เคี้ยว 40 ครั้ง ช่วยลดน้ำหนักได้ การเคี้ยวอาหารให้ละเอียดช่วยลดระดับฮอร์โมนเกรลิน (ghrelin)  ซึ่งเป็นฮอร์โมนสำคัญ ที่กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกหิว  ฉะนั้น หากคิดจะลดน้ำหนัก ไม่เพียงต้องควบคุมปริมาณอาหาร  แต่ควรเคี้ยวอาหารให้ละเอียดตามคำแนะนำ พร้อมกับกินอาหารให้ช้าลง ตามขั้นตอนต่อไปนี้
• ตักอาหารใส่จานในปริมาณที่กินแล้วอิ่มพอดี
• พิจารณาอาหารในจาน กำหนดสติว่ากำลังจะกินอาหาร แล้วจึงตักใส่ปาก
• เคี้ยวอาหารช้าๆ โดยพยายามเคี้ยวให้ได้อย่างน้อยคำละ 40 ครั้งก่อนกลืน
• ตัก เคี้ยว และกลืนอาหาร อย่างมีสติทุกคำจนหมดจาน
• เมื่อกินอาหารหมดแล้วไม่ควรตักเพิ่ม
• หากรู้สึกอิ่มก่อนกินอาหารหมดจาน ควรหยุดกิน

       และอย่างที่ทราบกันดีว่าเมื่อเรารับประทานอาหาร ร่างกายจะหลั่งน้ำลายออกมา ซึ่งหากยิ่งเคี้ยวอาหารให้มากขึ้นเท่าไหร่ น้ำลายก็จะออกมามากด้วยเช่นกัน ประโยชน์ของน้ำลายคือเป็นเอนไซน์ชั้นยอดและเป็นสารภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่งที่สุด น้ำลายช่วยกำจัดพิษและกำจัดอนุมูลอิสระได้ดี การกำจัดอนุมูลอิสระจะช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ต่างๆ คงความอ่อนเยาว์ และมีอายุที่ยืนยาวขึ้น

       สุดท้าย หากคุณผู้อ่านท่านใด มีพฤติกรรมการทานอาหารที่เร่งรีบ ก็อย่าลืมปรับการเร่งรีบของคุณให้มีจังหวะในการเคี้ยว เพราะอย่างน้อยคุณไม่ได้แค่สุขภาพของระบบย่อยอาหาร แต่คุณยังได้ผิวพรรณที่อ่อนลงของการทำงานของเอมไซม์ที่เกิดจากน้ำลายในเวลาเคี้ยวอีกด้วย ลองปรับกันดูนะคะ 

ขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือหยุดแก่ แค่เลิกกินแป้ง by สำนักพิมพ์อมรินทร์เฮลท์

บทความสุขภาพจาก interpharma

สำนักงานกองทุนสนับสนุน การสร้างเสริมสุขภาพ

เพจ facebook นิตยสารชีวจิต

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.