มะเร็ง รักษามะเร็ง

วิธีการรักษา มะเร็ง …ที่คุณต้องรู้

การผ่าตัด

การผ่าตัดถือเป็นก้าวแรกในการรักษาโรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งเต้านม ซึ่งคนสมัยก่อนรักษามะเร็งเต้านมด้วยการจับผู้ป่วยมัดไว้กับต้นไม้แล้วใช้มีดเฉือนเต้านมออกทั้งหมด จากนั้นจึงใช้เหล็กร้อนจี้ห้ามเลือด แต่หลังจากนั้น 2 - 3 ปี ผู้ป่วยก็ยังเสียชีวิต

ในบันทึกของนักฟิสิกส์โบราณได้กล่าวถึงกาเลน แพทย์ชาวกรีกผู้มีอิทธิพลต่อวิทยาศาสตร์การแพทย์ของตะวันตกว่า หมอกรีกท่านนี้มีความเห็นว่า หลังการผ่าตัด โรคร้ายยังสามารถแพร่กระจาย และกลับมาได้อีกซึ่งมุมมองนี้เองที่เป็นโครงสร้างการรักษาโรคมะเร็งมาถึงปัจจุบัน

โดยหนังสือที่คุณหมอกาเลนได้เขียนไว้ยังระบุอีกด้วยว่า ถ้าผ่าเนื้อร้ายออกจนหมดในระยะแรกจะส่งผลดีต่อการรักษา แต่เครื่องมือทางการแพทย์ และความสะอาดในยุคโบราณยังไม่ได้มาตรฐาน ผู้ป่วยหลายรายจึงเสียชีวิตจากการเสียเลือดและติดเชื้อ

จากนั้นวิวัฒนาการการผ่าตัดรักษามะเร็งก็หยุดชะงัก จนกระทั่งศตวรรษที่ 19 วิลเลียม สจวร์ต ฮาลสเต็ด ศัลยแพทย์ชาวอเมริกันจากโรงพยาบาลจอนส์ฮอปกินส์ ได้คิดค้นเทคนิคการผ่าตัดมะเร็งเต้านมแบบใหม่ (ในยุคนั้น) ที่เปลี่ยนจากการทำลายเชื้อที่พบมาเป็นการป้องกันหรือไม่ให้มีเชื้อตั้งแต่แรก

โดยวิธีการผ่าตัดจะตัดทุกอย่างที่อยู่บริเวณหน้าอกผู้หญิงออกจนหมดเกลี้ยง ตลอดจนต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ หรือแม้แต่ผิวหนังที่ห่อหุ้มบริเวณหน้าอกก็เหลือไว้เพียงกระดูกซี่โครง แล้วปล่อยให้แผลหายเอง

ซึ่งวิธีดังกล่าวสามารถลดอัตราการกลับมาเป็นซ้ำของมะเร็งลงได้มาก โดยลดลงเหลือร้อยละ 6 เมื่อเทียบกับการผ่าตัดที่แพร่หลายในยุโรปยุคนั้นที่มีอัตราการกลับเป็นซ้ำของมะเร็งภายในระยะ 3 ปีสูงถึงร้อยละ 82 แต่ผู้หญิงส่วนใหญ่ก็ขยาดการผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านม เพราะจะมีแผลเป็นน่าเกลียดรวมทั้งอาการแขนบวมจากการตัดเนื้อเยื่อออกเป็นบริเวณกว้าง

คุณหมอเอื้อมแขกล่าวว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักพบแพทย์เมื่อสาย มะเร็งจึงแพร่กระจายไปทั่วแล้ว ดังนั้นการผ่าตัดจึงทำได้เพียงบรรเทาอาการและลดจำนวนเซลล์มะเร็งได้บางส่วนเท่านั้น ซึ่งจะช่วยให้การฉายแสงและยารักษามะเร็งได้ผลดีขึ้น

ผ่าตัด รักษามะเร็ง
การผ่าตัด เป็นอีกวิธีหนึ่งในการรักษามะเร็ง และมีเทคนิคที่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ

OPERATION UPDATE

“ปัจจุบันเราใช้วิธีการผ่าตัดแบบเรส อินเวซีฟ เซเกอรี คือการผ่าตัดที่ทำลายเนื้อเยื่อน้อยเพื่อรักษาอวัยวะส่วนนั้น ๆ ให้ใช้งานได้เหมือนเดิม” คุณหมอเอื้อมแขอธิบาย

จากที่ต้องถอนรากถอนโคนรวมถึงตัดอวัยวะที่อยู่รอบข้างออกไปจนหมด ก็มีเทคนิคการผ่าตัดที่พัฒนาขึ้น โดยจะผ่าตัดเฉพาะจุดที่มีเนื้อร้าย ทำให้สูญเสียอวัยวะน้อยลงสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงสภาพปกติมากที่สุด

“นอกจากนี้ยังใช้การส่องกล้องผ่าตัดและใช้หุ่นยนต์เพื่อผ่าตัดในอวัยวะที่มีบริเวณเล็ก ๆ เช่น มะเร็งต่อมลูกหมาก เพื่อความแม่นยำและเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาให้ดีขึ้น”

 

 

 

<< อ่านต่อหน้าที่ 4 >>

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.