โรคไต ไตวาย

วิธีกินช่วยผู้ป่วย โรคไต แข็งแรง อายุยืน

ผู้ป่วยที่ต้องการออกกำลังกาย     

The National Kidney Foundation ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวถึงประโยชน์ของการออกกำลังกายในผู้ป่วยว่า ช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรงควบคุมความดันโลหิต ลดคอเลสเตอรอลร้ายในเลือด และช่วยให้หลับสบายแต่ทั้งนี้ก็มีข้อควรระวัง

คุณเอกหทัย เล่าถึงผู้ป่วยหลายรายที่เมื่อพบว่าตัวเองป่วยเป็นโรคไต ก็ปรับเปลี่ยนอาหารและหันมาออกกำลังกายอย่างหักโหม เพราะเข้าใจผิดคิดว่าการออกกำลังกายอย่างหนักจะช่วยให้สุขภาพแข็งแรงขึ้น แต่แท้จริงผลกลับตรงข้ามคือ อาการของโรคไตยิ่งแย่ลง

“ผู้ป่วยโรคไตไม่สามารถออกกำลังกายหนักๆ ได้ เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อสลายตัวเพิ่มขึ้น ระดับของเสียที่มีชื่อว่าครีเอตินีน (Creatinine) ในเลือดยิ่งเพิ่มขึ้น ไตจะยิ่งทำงานหนัก

“ไม่เพียงกล้ามเนื้อสลายจนร่างกายอ่อนแอ ที่ร้ายกว่าคือ ร่างกายผู้ป่วยจะได้รับพลังงานจากอาหารไม่เพียงพอ เพราะส่วนหนึ่งถูกเผาผลาญไปขณะออกกำลังกายอย่างหนัก ผู้ป่วยจะขาดทั้งอาหารซ่อมแซมร่างกายและมีของเสียในเลือดเพิ่มมากขึ้น เหมือนผู้ป่วยไม่ได้ดูแลสุขภาพและควบคุมอาหารเลย”

ผู้ป่วยโรคไต กับการออกกำลังกาย
การออกกำลังด้วยการเดิน หรือเต้นแอโรบิก ช่วยให้การไหลเวียนเลือดที่ไตดีขึ้น

กินถนอมไต : สำหรับเรื่องอาหาร คุณเอกหทัยแนะนำให้กินเหมือนผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังทั่วไป แต่อาจปรึกษานักกำหนดอาหารถึงวิธีกินเพื่อเพิ่มพลังงานในอาหาร อาจกินอาหารที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียว (Monounsaturated Fatty Acids) หรือเพิ่มปริมาณอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต เช่น แป้ง โปรตีนต่ำ

คุณเอกหทัยอธิบายเสริมว่า

“ไม่มีข้อห้ามเรื่องอาหารเป็นพิเศษ มีแต่ห้ามออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาหนัก เพราะเป็นห่วงเรื่องระดับครีเอตินีนในเลือด

“ที่โรงพยาบาลมีผู้ป่วย 4 รายที่เล่นกีฬาหนักจนร่างกายอ่อนแอ ระดับของเสียในเลือดจึงเพิ่มขึ้น เราเพิ่มพลังงานในอาหารก็แล้ว ปรับทุกอย่างก็แล้ว สุดท้ายทั้งคุณหมอและนักกำหนดอาหารก็มีความเห็นตรงกัน เลือกให้คนไข้ลดการออกกำลังกายลง ผลที่ได้ดีขึ้นทันตา”

คุณเอกหทัยสรุปวิธีการออกกำลังกายของผู้ป่วยโรคไตว่า ผู้ป่วยโรคไตสามารถออกกำลังกายรูปแบบใดก็ได้ แต่ไม่ควรหักโหมหรือออกกำลังกายหนักจนเกินไป ควรควบคุมให้อยู่ในระดับปานกลาง คือ มีความหนักในระดับที่สามารถพูดคุยเป็นประโยคได้ขณะออกกำลังกาย และไม่มีอาการหอบเหนื่อย

“การออกกำลังกายแบบปานกลาง เช่น เดิน เต้นแอโรบิก ประมาณวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3 ครั้ง หรือวันเว้นวัน โดยใน 1 วันแบ่งทำครั้งละ 10 นาที พบว่า สามารถช่วยให้การไหลเวียนเลือดที่ไตดีขึ้นเช่นกันเมื่อเลือดไหลเข้าตัวกรองดี การขับของเสียจากโปรตีนก็ดีขึ้นด้วย ของเสียในเลือดจะลดลงเป็น 2 เท่า ดังนั้นจึงอยากเน้นว่า ในผู้ป่วยโรคไตที่ต้องการออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายด้วยความหนักปานกลาง และกินอาหารตามปกติของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง คือ ลดหวาน ลดมัน ลดเค็ม ลดเนื้อ

“ส่วนเรื่องการดื่มน้ำ ถ้าผู้ป่วยไม่มีอาการบวมก็สามารถดื่มน้ำเพิ่มขึ้นได้ 1 – 2 ลิตร แต่ถ้าเสียเหงื่อในปริมาณมาก อาจดื่มน้ำเพิ่มได้ถึง 3 ลิตร

“ที่สำคัญคือ ไม่แนะนำให้ดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่ เพราะมีปริมาณโซเดียมสูง น้ำผสมน้ำผึ้งก็ไม่แนะนำเช่นกัน เพราะมีกรดยูริกสูง ยิ่งเร่งให้ไตเสื่อมเร็วขึ้น ถ้าต้องการเพิ่มความสดชื่นให้ดื่มน้ำเย็นหรือน้ำหวานแทน”

 

 

 

<< อ่านต่อหน้าที่ 6 >>

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.