โรคไต ไตวาย

วิธีกินช่วยผู้ป่วย โรคไต แข็งแรง อายุยืน

ผู้ป่วยที่เป็นทั้ง โรคไต และโรคเบาหวาน

โรคเบาหวานนับเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของโรคไตวายเรื้อรัง จึงพบว่าผู้ป่วย โรคไต ส่วนใหญ่เป็นโรคเบาหวานร่วมด้วย คุณเอกหทัยอธิบายจากประสบการณ์ว่า

“ถ้าผู้ป่วยโรคเบาหวาน ไม่ควบคุมอาหารหรือกินยาตามที่แพทย์สั่งเพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมภายใน 10 ปี จะเสี่ยงเป็นโรคไตเรื้อรัง 20 – 40 เปอร์เซ็นต์ และถ้ายังไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมภายใน 20 ปีจะมีผู้ป่วยถึง 20 เปอร์เซ็นต์ที่ไตถูกทำลายจนมีอาการไตวายระยะสุดท้าย

“เมื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้ หลอดเลือดแดงขนาดเล็กก็จะหนาตัวขึ้น ถ้าหลอดเลือดแดงบริเวณไตหนาตัวขึ้น เลือดก็จะไปเลี้ยงไตได้น้อยลง ไตที่ขาดเลือดก็เหมือนขาดอาหาร เนื้อไตจะถูกทำลายและเสื่อมในที่สุด”

คุณเอกหทัยฝากเตือนถึงผู้ป่วยโรคเบาหวานว่า ให้ลดการกินอาหารหวาน เพิ่มผักผลไม้ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคไตตามมา แต่สำหรับผู้ที่เป็นโรคไตแล้ว เน้นว่าเป้าหมายสำคัญคือ ยืดอายุไตให้นานที่สุด โดยกินอาหารเพื่อชะลอความเสื่อมของไต ซึ่งจะช่วยให้เป็นโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายช้าที่สุด

 

กินถนอมไต : เมื่อป่วยเป็นโรคไตแล้ว ควรใส่ใจเรื่องอาหารประจำวันมากขึ้น โดยคุณเอกหทัยแนะนำให้กินแบบ “4 ลด” เพื่อปกป้องไต คือ ลดหวาน ลดมัน ลดเค็ม และลดเนื้อ มีรายละเอียดดังนี้

โรคไต

กินแบบลดหวาน 

คือ กินเพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย ควรจำกัดน้ำตาลนอกมื้ออาหารไม่ให้เกินวันละ 6 ช้อนชา และระวังน้ำตาลจากผลไม้รสหวานจัดและน้ำผลไม้

นอกจากนี้ใยอาหารในผักทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันการดูดซึมน้ำตาล จึงช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำตาลในเลือด จึงควรกินผักสุกมื้อละ 1 – 2 ทัพพี โดยเลือกผักที่มีแร่ธาตุโพแทสเซียมต่ำถึงปานกลาง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ร่างกายขับโพแทสเซียมออกได้น้อย ผักเหล่านั้น ได้แก่ผักกาดขาว เห็ดหูหนู บวบ กวางตุ้ง กะหล่ำปลี ตำลึง หอมหัวใหญ่ พริกหวาน ฟักเขียว กะเพรา โหระพา ใบแมงลัก

กินแบบลดมัน 

แนะนำให้กินน้ำมันไม่เกินวันละ 6 ช้อนชาเน้นให้เลือกอาหารที่ปรุงด้วยวิธีต้ม ตุ๋น นึ่ง ย่าง ยำ และเลือกเนื้อสัตว์ไขมันต่ำ เช่น เนื้อปลา หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ติดมัน เครื่องใน เนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก หมูยอ แหนม กุนเชียง

กินแบบลดเค็ม 

มีเป้าหมายที่แท้จริงคือ กินเพื่อจำกัดปริมาณโซเดียมไม่ให้เกินวันละ 2,000 มิลลิกรัม ซึ่งปกติเราจะได้รับโซเดียมจากอาหารประจำวันที่ไม่เติมเครื่องปรุงใดๆ วันละประมาณ 800 มิลลิกรัมอยู่แล้ว ส่วนอีก 1,200 มิลลิกรัมเป็นโซเดียมในเครื่องปรุง คุณเอกหทัยอธิบายว่า

“กินไม่ให้เกินโควตา ต้องกินจืด คือใช้น้ำปลาหรือซีอิ๊วขาววันละไม่เกิน 3 ช้อนชา ทำได้โดยการงดพฤติกรรมกินไปปรุงไปปรุงอาหารก่อนชิม และลดการใช้เครื่องปรุงทุกชนิดลงจากเดิมที่สำคัญคือ หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูปทุกชนิด เช่น อาหารกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ผัก / ผลไม้ดอง หรือเนื้อสัตว์แปรรูป เช่น หมูหยอง หมูแผ่น หมูยอ กุนเชียง ไส้กรอก แหนม ไข่เค็ม ปลาเค็ม ปลาแดดเดียว

“หากยังไม่สามารถกินอาหารรสจืดตามที่บอกได้ เริ่มต้นอาจใช้วิธีลดเครื่องปรุงลง 25 เปอร์เซ็นต์ก่อน เมื่อเริ่มคุ้นชินกับรสชาติจึงปรับลดลงอีก ค่อยๆ ตั้งเป้าหมายในการกินโซเดียมหรือลดเครื่องปรุงให้ได้ตามเกณฑ์ที่แนะนำ สุดท้ายใครก็สามารถกินจืดได้”

กินแบบลดเนื้อ 

หรือลดโปรตีน เพื่อลดภาระการทำงานของไตจากการกรองของเสียหลังกินโปรตีน ดังนั้นกินโปรตีนมาก ไตยิ่งเสื่อมเร็ว แต่หากกินน้อยไปจนร่างกายไม่พอใช้ ร่างกายก็จะมีกลไกสลายโปรตีนจากกล้ามเนื้อมาใช้แทน สุดท้ายไตจึงจำต้องกรองของเสียปริมาณมากอยู่ดี คุณเอกหทัยอธิบายว่า

“ดังนั้นแนะนำให้กินเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อปลา 6 – 8 ช้อนแกงต่อวัน หลีกเลี่ยงนม โยเกิร์ต ชีส รวมถึงถั่วต่างๆ และลดการกินข้าวแป้งในบางมื้อ โดยเปลี่ยนมากินวุ้นเส้น ก๋วยเตี๋ยวเซี่ยงไฮ้ซึ่งนอกจากมีโปรตีนต่ำ ยังมีดัชนีน้ำตาลต่ำ ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีอีกด้วย”

 

 

 

<< อ่านต่อหน้าที่ 3 >>

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.