วิตกกังวล, สุขภาพจิต, โรคจิต

รู้ทันโรค วิตกกังวล ก่อนจิตป่วย

โรควิตกกังวลแก้ไขอย่างไรดี    

หลังจากพูดคุยกับคุณหมอและทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรควิตกกังวลชนิดต่าง ๆ แล้ว ทำให้ฉันรู้ว่ามีคนรอบข้างจำนวนไม่น้อยที่กำลังเผชิญกับโรคนี้อยู่ จนต้องรีบสอบถามวิธีแก้ไขจากคุณหมอโดยด่วน

โดยคุณหมออภิชาติแนะนำว่า หนทางรักษาที่ดีที่สุดคือ ปรึกษาแพทย์เพราะสามารถตรวจวิเคราะห์ได้อย่างแม่นยำว่ามีอาการของโรคกลุ่มวิตกกังวลหรือไม่ ไม่ควรคิดและแก้ไขเอง ซึ่งสรุปกระบวนการรักษาได้ดังต่อไปนี้

1. ยา ตัวช่วยเบื้องต้น

ในการรักษาขั้นต้นอาจมีการใช้ยา หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง หรือใช้ยาเพื่อลดอาการวิตกกังวลในระยะแรก เช่น ยาคลายเครียด ยานอนหลับยาบำรุงประสาท เป็นต้น

2. จิตบำบัด ระบายทุกข์

การรักษาด้วยจิตบำบัดจะทำโดยนักจิตบำบัดวิชาชีพที่ได้รับการฝึกฝนมาโดยเฉพาะ นักจิตบำบัดจะช่วยให้ผู้ที่เป็นได้ระบายความทุกข์และเข้าใจว่าอะไรคือปัญหาที่แท้จริง และช่วยค้นหาแนวทางแก้ปัญหาที่เหมาะสมเพื่อให้คลายความวิตกกังวล

การรักษาด้วยจิตบำบัดอาจเพียงพอสำหรับผู้ที่มีความกังวลบางรายแต่บางรายอาจต้องใช้วิธีอื่นรักษาร่วมด้วย

3. พฤติกรรมบำบัด สร้างกำลังใจ

โดยการให้เข้าเผชิญกับสิ่งที่ทำให้กลัวและปรับให้คิดทางบวกเพิ่มขึ้นการรักษาจะค่อยเป็นค่อยไป ต้องใช้เวลา อย่าคาดหวังว่าจะหายได้ทันทีเพราะจะทำให้ผิดหวังและหมดกำลังใจ ในบางรายที่มีอาการกลัวหรือวิตกกังวลมากจนทุกข์ทรมานและกระทบต่อการดำเนินชีวิตอาจต้องใช้ยาร่วมด้วย

“นอกจากนี้ผู้ป่วยต้องเริ่มต้นที่ตัวเองด้วย คือต้องยอมรับความจริงว่าเป็นโรคนี้ และถ้าต้องการให้อาการเหล่านี้หายไป ต้องตัดสินใจต่อสู้และอดทน รวมถึงพยายามหากิจกรรมอื่นๆ ทำเพื่อให้เกิดความสุข ซึ่งช่วยให้ค่อยๆ หายจากอาการเหล่านั้นได้” คุณหมอกล่าวเสริม

บำบัดโรควิตกกังวล
การฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อ และควบคุมลมหายใจ ช่วยบำบัดอาการเครียด วิตกกังวลในเบื้องต้นได้

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อวิตกกังวล

นอกจากการปฏิบัติตนตามคำแนะนำของคุณหมอแล้ว การดูแลตนเองก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน เนื่องจากอาการวิตกกังวลประกอบด้วยอาการทางกายและทางความคิด การปรับความคิดอาจต้องใช้เวลา ส่วนอาการทางกายนั้นสามารถบำบัดด้วยตัวเองได้ง่ายๆ ดังต่อไปนี้

ผู้ที่มีความเครียดหรือวิตกกังวล ควรฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อและควบคุมการหายใจ จะเป็นการผ่อนคลายความวิตกกังวลในเบื้องต้นสามารถเริ่มทำได้โดยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เงียบสงบ ไม่มีสิ่งรบกวน หายใจเข้า – ออกช้าๆ นับ 1 – 10 ต่อการหายใจเข้า – ออกแต่ละครั้ง โดยอยู่ในท่านั่งหรือท่านอนที่สบาย เมื่อทำตามวิธีดังกล่าวจะทำให้ร่างกายตอบสนองต่อระบบประสาทอัตโนมัติลดลง อย่างไรก็ตาม ควรทำอย่างสม่ำเสมอวันละ 10 – 15 นาที จะช่วยป้องกันความเครียดและความวิตกกังวลไม่ให้อาการรุนแรงจนพัฒนากลายเป็นโรควิตกกังวลในภายหลังได้

ดูแลสุขภาพกายแล้ว ก็อย่าลืมหันมาดูแลสุขภาพใจร่วมด้วย เพื่อจะได้ห่างไกลโรควิตกกังวลอย่างไรล่ะคะ

 

จาก คอลัมน์เรื่องพิเศษ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 400


บทความน่าสนใจอื่นๆ

รู้จักไทรอยด์ ตัวปัญหาก่อโรควิตกกังวล นอนไม่หลับ

Amazing พิชิต 7 โรคร้ายด้วย เดินจงกรม

คาโมมายล์ สลายเครียด ต้านเชื้อโรค

ติดตาม ชีวจิต ในช่องทางต่างๆ ได้ที่

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.