อ้วน โรคอ้วน ลดน้ำหนัก ลดความอ้วน

คู่มือป้องกัน อ้วน เฉพาะวัย ทำตามง่าย ได้ผลจริง

วัยรุ่น

ขยับร่างกายป้องกันอ้วน

วัยรุ่นคือช่วงอายุระหว่าง 13 – 19 ปี เป็นวัยที่ติดเพื่อนและต้องการอิสระทางความคิด หากกล่าวถึงพฤติกรรมวัยรุ่นในปัจจุบันนับว่าเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมาก เพราะยุคนี้มีเทคโนโลยีที่สร้างความสะดวกสบาย สร้างความบันเทิงอย่างมหาศาล จึงทำให้วัยรุ่นในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องใช้พลังงานมากเมื่อเทียบกับวัยรุ่นในอดีต

เหตุทำวัยรุ่นอ้วน

ข้อมูลจากโครงการสำรวจกิจกรรมทางกายระดับชาติ (พ.ศ.2555) กองออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ กรมอนามัยพบว่า เด็กและเยาวชนตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษา ถึงอุดมศึกษาของไทยใช้เวลาไปกับสื่อออนไลน์และเทคโนโลยีมากขึ้น เช่น การเล่นอินเทอร์เน็ต ดูโทรทัศน์ คุยโทรศัพท์ การแชต โดยใช้เวลาไปกับสื่อเหล่านี้ถึงวันละ 8 – 9 ชั่วโมง จึงทำให้ไม่มีเวลาสำหรับการทำกิจกรรมทางกายอื่นๆ เช่น เล่นกีฬา

สอดคล้องกับข้อมูลที่คุณหมอวีรพันธุ์ได้อธิบายสาเหตุโรคอ้วนในวัยรุ่นไว้ดังต่อไปนี้

  • ออกกำลังน้อยลง เพราะนอกจากเวลาที่หมดไปกับการเรียนแล้ว การเล่นอินเทอร์เน็ต สมาร์ทโฟน ทำให้เด็กในวัยนี้ไม่มีเวลาในการขยับร่างกาย ส่งผลให้เกิดความอ้วนได้ง่าย
  • กินอาหารฟาสต์ฟู้ดหรืออาหารจานด่วนเป็นหลัก เนื่องจากเป็นอาหารที่ซื้อได้สะดวกรวดเร็วทันใจ รวมถึงเป็นค่านิยมที่โก้เก๋ในสังคม ส่งผลให้ร่างกายได้รับไขมัน น้ำตาลและพลังงานสูงเกินความต้องการของร่างกาย
โรคอ้วนในวัยรุ่น อ้วน
วัยรุ่นควรหลีกเลี่ยงอาหารฟาสต์ฟู้ด ซึ่งก่อให้เกิดโรคอ้วน และออกกำลังกายให้เหมาะสมกับวัย

ออกกำลังกายพิชิตโรคอ้วน

สำหรับวัยรุ่น เทคนิคป้องกันความอ้วนคือ การออกกำลังกาย ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายแบบใดก็ช่วยให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานส่วนเกินเพื่อช่วยป้องกันความอ้วนได้ และยังช่วยทำให้สุขภาพแข็งแรง ป้องกันโรคร้ายต่างๆ ได้

ทั้งนี้การออกกำลังกายให้ได้ผลดีนั้นยังขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น เพศ อายุ ชนิดการออกกำลังกาย และโรคประจำตัว

นายแพทย์ชนินทร์ ล่ำซำ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การกีฬา ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้อธิบายถึงการออกกำลังกายเพื่อป้องกันโรคอ้วนไว้ในบทความเรื่อง คนอ้วนกับการออกกำลังกาย ของห้องสมุดศิริราชออนไลน์

(Siriraj E-Public Library) สรุปได้ดังต่อไปนี้

  • การออกกำลังกายที่จะช่วยให้เกิดการเผาผลาญพลังงานได้นั้นจำเป็นต้องออกกำลังกายให้ได้วันละ 300 – 400 กิโลแคลอรี หรือสัปดาห์ละ 1,000 – 2,000 กิโลแคลอรี
  • ควรออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 – 5 วัน โดยใช้เวลาวันละ 40 – 60 นาที ถ้าเวลาไม่พออาจแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือช่วงเช้า 20 – 30 นาที และช่วงเย็นอีก 20 – 30 นาที และเพิ่มเวลาขึ้นเรื่อยๆ
  • การออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาควรเริ่มจากช้าๆ เบาๆ ก่อนแล้วจึงค่อยๆ เพิ่มเวลาและความหนักหน่วงมากขึ้น เพื่อลดปัญหาการบาดเจ็บ อีกทั้งยังสามารถเปลี่ยนแปลงการออกกำลังกายหรือการเล่นกีฬาได้หลายรูปแบบ รวมไปถึงสามารถออกกำลังกายด้วยการทำงานบ้านหรือทำกิจวัตรประจำวันได้ เช่น การเดิน ก็ควรเดินแบบกระฉับกระเฉงและหนักหน่วง ไม่ใช่การเดินทอดน่อง เป็นต้น
  • ที่สำคัญคือ ควรปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ฉะนั้นการเลือกรูปแบบของการออกกำลังกายจะต้องเลือกตามที่ตัวเองชอบ ไม่ฝืนใจ ซึ่งขึ้นอยู่กับประสบการณ์ โอกาส อุปกรณ์ และสถานที่ที่เอื้อต่อการออกกำลังกาย

นอกจากนั้นอาจารย์ฉัตรภายังเล็งเห็นว่า การป้องกันโรคอ้วนในวัยเด็กและวัยรุ่นนั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะทั้งสองช่วงวัยนี้จะนำไปสู่การเป็นโรคอ้วนในวัยทำงานและผู้สูงอายุได้

หากเราเตรียมสุขภาพให้แข็งแรงตั้งแต่วัยเด็กและวัยรุ่น ก็จะไม่ต้องกังวลใจต่ออาการเจ็บป่วยในอนาคต

 

 

 

<< อ่านต่อนหน้าที่ 3 >>

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.