Emotion for Heart
โรคหัวใจมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอารมณ์โมโห หงุดหงิดการรีบเร่ง จากประสบการณ์ที่คุณหมออู๋ลี่ฉิน ได้ดูแลคนไข้ที่มีอาการโรคหัวใจกำเริบกะทันหันนั้นล้วนเกี่ยวกับอารมณ์ดังกล่าว
“ความกลัวหรือตื่นตระหนกก็ไม่ดีกับคนเป็นโรคหัวใจ เพราะจะทำให้โรคกำเริบ คนที่เป็นโรคหัวใจส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ มักจะมีปัญหาช่องว่างระหว่างวัยกับลูกหลาน เมื่อไม่ได้ดั่งใจก็อาจจะโมโหทำให้โรคกำเริบ จึงควรปล่อยวางให้มาก พยายามเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่ทำให้ตื่นเต้น เครียด หรืออยู่ในเหตุการณ์น่ากลัว เพื่อป้องกันโรคหัวใจกำเริบ
“ควรผ่อนคลายจิตใจให้มาก โดยการฟังเพลง ฝึกนั่งสมาธิ รำไทเก๊ก ฝึกโยคะให้จิตใจนิ่งสงบ กิจกรรมเหล่านี้ดีต่อหัวใจของเรา”
คลายเครียดอย่างไรดี
ความเครียดเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้หัวใจต้องทำงานอย่างหนักหน่วง เพราะเมื่อมีความเครียดเกิดขึ้น ความดันโลหิตจะเพิ่มขึ้น ทำให้หัวใจต้องสูบฉีดเลือดแรงขึ้น
คนที่มีความเครียดต่อเนื่อง หัวใจก็จะทำงานหนักมากเกินไปเป็นเวลานาน หนังสือ หัวใจคือชีวิต ของมูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้ข้อมูลว่า
ความเครียดทางจิตใจทำให้ร่างกายหลั่งสารอะดรีนาลินออกมา ซึ่งจะไปกระตุ้นการทำงานของหัวใจและหลอดเลือดทำให้กล้ามเนื้อหัวใจต้องการออกซิเจนเพิ่มขึ้น เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบตันอยู่ก่อนแล้ว และยังก่อให้เกิดลิ่มเลือดในหลอด-เลือดแดงได้ง่ายด้วย

สมาคมโรคหัวใจสหรัฐอเมริกา (American Heart Association) แนะนำการสร้างสุขนิสัยที่ดีในการลดความเครียดสำหรับทุก ๆ คนไว้ดังนี้ค่ะ
1. ระบายปัญหาหรือความรู้สึกไม่ดีให้เพื่อนหรือครอบครัวฟังบ้าง
2. ออกกำลังกาย เช่น เดิน ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน เต้นรำ ฯลฯ เพื่อลดความเครียดทั้งทางร่างกายและจิตใจ และทำให้เกิดความสุขความพอใจ
3. เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และช่วยเหลือคนอื่น
4. รู้จักหัวเราะหรือมีอารมณ์ขันบ้าง
5. เลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเลิกสูบบุหรี่
6. ใช้ชีวิตให้ช้าลง ควรวางแผนล่วงหน้าเพื่อให้มีเวลาเหลือในการทำสิ่งสำคัญให้สำเร็จ
7. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
8. จัดระเบียบชีวิต จดรายการสิ่งต่าง ๆ ที่ต้องทำเพื่อช่วยให้ทำงานอย่างเป็นลำดับ และควรจัดระเบียบโต๊ะ รถ บ้านซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต
9. คืนสิ่งดี ๆ ให้สังคม เช่น ทำงานอาสาสมัคร
10. หยุดวิตกกังวล
ดูแลเอาใจใส่หัวใจของเราเองวันละนิด ก็จะช่วยให้หัวใจทำหน้าที่อย่างเข้มแข็งไปอีกนานแสนนาน ขอให้ทุกท่านมีหัวใจที่แข็งแรงนะคะ

ปวดขา สัญญาณไม่ธรรมดา
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบมักเกิดแบบเฉียบพลันโดยมีสัญญาณเตือนคือ มีอาการเจ็บหรือแน่นหน้าอก หายใจหอบ เป็นลม มือเท้าเย็นและมีเหงื่อออก จึงควรรีบพบแพทย์โดยด่วน
อีกสัญญาณที่เราอาจไม่ทันสังเกตสำหรับผู้ใหญ่ไปจนถึงวัยสูงอายุ นั่นก็คืออาการปวดขาแบบเป็น ๆ หาย ๆ หากเดินไประยะหนึ่งอาการปวดจะมากขึ้น แต่อาการจะหายไปเมื่อหยุดพัก และจะกลับมาปวดอีกขณะเดินต่อ
ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์กล่าวถึงประเด็นที่น่าสนใจนี้ไว้ในหนังสือ ครอบครัวหัวใจแข็งแรง ว่า อาจเกิดจากหลอดเลือดส่วนปลายที่ไปเลี้ยงขาตีบหรืออุดตันก็เป็นได้ ซึ่งหลอดเลือดส่วนนี้ เป็นส่วนต่อจากหลอดเลือด ที่มาจากหัวใจนั่นหมายถึงเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจอาจเกิดภาวะตีบตันได้เช่นกัน
จาก คอลัมน์เรื่องพิเศษ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 391
บทความน่าสนใจอื่นๆ
วิถีกินอยู่อย่างง่าย ประหยัด หยุดความเสี่ยง โรคหัวใจ
เทคนิคเดินเร็ว ลดเสี่ยงโรคหัวใจ
แพทย์แนะนำ กิน-อยู่ ให้ห่างไกลโรคหัวใจ