หัวใจ ดูแลหัวใจ โรคหัวใจ แพทย์แผนจีน

The Best for Heart วิธีดูแล หัวใจ ด้วยศาสตร์จีน

Good to Know

1. สมาคมโรคหัวใจสหรัฐอเมริกาแนะนำให้กินปลาหลากหลายชนิด ไม่แนะนำให้ปรุงด้วยการทอด เพราะอาจเพิ่มโอกาสการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว แต่ควรปรุงด้วยการอบ ต้ม หรือนึ่ง ควรกินอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 มื้อจะช่วยลดโอกาสเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว

2. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์ สาขาวิชาโรคหัวใจและหลอดเลือด ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะนำข้อมูลไว้ในบทความของชมรมฟื้นฟูหัวใจว่า การไม่กินอาหารเช้า กินมื้อเย็นดึก (หลังสองทุ่มไปแล้ว) เพิ่มโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจมากขึ้น

3. ข้อมูลจากหนังสือ หัวใจคือชีวิตโดยมูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ แนะนำวิธีแก้ความเครียดว่าให้อาบน้ำ กินอาหารเบา ๆ ใส่เสื้อผ้าสบาย ๆผ่อนคลายอารมณ์ สูดลมหายใจเข้า - ออกลึก ๆ ยาว ๆ ติดต่อกันประมาณ 30 นาที

 

Exercise for Heart

การออกกำลังกายดีต่อคนทุกเพศทุกวัย ดีต่อร่างกายทุกส่วน รวมทั้งหัวใจอันเป็นที่รักของเรา

คุณหมออู๋ลี่ฉินแนะนำให้คนทั่วไปที่สุขภาพแข็งแรง ไม่ป่วยเป็นโรคหัวใจ ออกกำลังกายวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน โดยให้การเต้นของหัวใจสูงสุดอยู่ที่ไม่เกิน 170 ครั้งต่อนาที

ส่วนผู้ป่วยโรคหัวใจควรแบ่งการออกกำลังกายออกเป็นช่วง ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เหนื่อยเกินกำลัง เช่น แบ่งเป็นวันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 10 นาที ไม่ควรให้เกิน 15 นาที หรือปรึกษาแพทย์ก่อนออกกำลังกาย

การเดินเป็นการออกกำลังกายที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งเพราะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือดและดีต่อระบบขับถ่าย คุณหมออู๋ลี่ฉินแนะนำต่อว่า

“ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายเวลา 6 - 9 โมงเช้าเพราะช่วงเวลานี้อัตราการเต้นของหัวใจจะสูง จึงมีโอกาสที่โรคหัวใจจะกำเริบมากที่สุด แนะนำให้คนที่เป็นโรคหัวใจรวมทั้งโรคเบาหวานออกกำลังกายหลังเวลาบ่ายสามโมงไปแล้ว และไม่ควรออกกำลังกายประเภทที่ใช้แรงยกน้ำหนัก”

การออกกำลังกาย ดูแลหัวใจให้แข็งแรง
การออกกำลังกายให้เหมาะสมกับวัย ช่วยบำรุงหัวใจให้แข็งแรง

สำหรับผู้สูงอายุซึ่งเป็นวัยที่เป็นโรคหัวใจกันมากนั้น ศาสตราจารย์ นายแพทย์นิธิ มหานนท์ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจ อดีตอาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล แนะนำการออกกำลังกายไว้ในหนังสือ ครอบครัวหัวใจแข็งแรง ว่า ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งต้องประกอบด้วย

1. ออกกำลังกายเพื่อยืดและคลายกล้ามเนื้อจะช่วยป้องกันกล้ามเนื้อและข้อต่อติดยึดและปวด เช่น รำมวยจีนหรือโยคะ

2. ออกกำลังกายเพื่อเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและฝึกการทรงตัว เช่น ยกน้ำหนักเบา ๆ 

3. ออกกำลังกายเพื่อความทนทาน ช่วยให้สุขภาพร่างกายและหัวใจแข็งแรงไปพร้อม ๆ กัน เช่นการออกกำลังกายแบบแอโรบิก อาทิ เดิน ว่ายน้ำขี่จักรยาน อย่างต่อเนื่องครั้งละ 20 - 30 นาที 

อย่างไรก็ตาม แม้จะยังไม่อยู่ในวัยสูงอายุ แต่เมื่อวัยเพิ่มขึ้น สมรรถภาพร่างกายก็อาจถดถอยลงเป็นธรรมดา จึงไม่ควรออกกำลังกายหนักจนเกินไปหรือใช้แรงเท่ากับตอนยังหนุ่มสาว เพราะจะทำให้หัวใจทำงานหนักและยังเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดในสมองแตก กล้ามเนื้อ กระดูก และข้อต่อได้รับบาดเจ็บ

 

 

 

<< อ่านต่อหน้าที่ 4 >>

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.