7 Tips for Heart
นอกจากนี้คุณหมออู๋ลี่ฉินยังแนะนำวิธีดูแลสุขภาพผู้ป่วยโรคหัวใจโดยทั่ว ๆ ไปไว้ดังนี้
1. ไม่ควรกินของเย็นหรือน้ำแข็งมาก ๆ เพราะจะทำให้หลอดเลือดหดตัว
2. ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพราะไม่ดีต่อหัวใจ ยกเว้นการดื่มไวน์แดงวันละไม่เกิน 50 มิลลิลิตร สัปดาห์ละไม่เกิน 5 วัน
3. ควรกินผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง โดยเฉพาะผลไม้สีเหลือง เช่น แครอต ฟักทอง มะเขือเทศ เพราะดีต่อสุขภาพหัวใจ
4. กินปลาเป็นประจำจะมีอายุยืนเพราะหัวใจแข็งแรง
5. ผู้สูงอายุที่เป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจควรเคลื่อนไหวร่างกายช้า ๆ โดยเฉพาะตอนตื่นนอน ไม่ควรรีบลุกขึ้นทันที เพราะจะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นอย่างรวดเร็วซึ่งส่งผลเสียต่อหัวใจ
6. ผู้สูงอายุที่เป็นโรคหัวใจไม่ควรปล่อยให้ท้องผูกและไม่ควรเบ่งถ่ายแรง ๆ เพราะการออกแรงเบ่งถ่ายมากเกินไปทำให้มีโอกาสเสียชีวิตได้
7. ผู้ป่วยโรคหัวใจควรพบแพทย์และกินยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างสม่ำเสมอ

โรคร้ายทำร้ายหัวใจ
คนทั่วไปมักเกิดมาพร้อมสุขภาพหัวใจที่แข็งแรง สามารถใช้งานไปพร้อมกับอายุที่ยืนยาว แต่พฤติกรรมที่แต่ละคนสร้างขึ้นมาเอง เช่น กินอาหารไขมันสูง อาหารรสเค็มจัด ขาดการออกกำลังกาย สะสมความเครียดเป็นเวลานาน ล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้หัวใจอ่อนแอ สมรรถภาพในการทำงานถดถอย กระทั่งหยุดทำงานก่อนเวลาอันควร
สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงโรคและภาวะที่เป็นปัจจัยเสี่ยงนำไปสู่การเกิดโรคหัวใจได้มีดังนี้ โรคเบาหวานโรคความดันโลหิตสูง และโรคอ้วน โดยเฉพาะการอ้วนแบบลงพุงจะมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตันมากกว่าอ้วนทั้งตัว
สิ่งที่เราควรระวังเกี่ยวกับความอ้วนคือ ยิ่งความยาวรอบเอวมาก ยิ่งเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด เพราะฉะนั้นอย่าปล่อยให้รอบเอวขยายเกินไปนะคะ
โดยขนาดรอบเอวที่เหมาะสมคือ ผู้หญิงไม่ควรเกิน 32 นิ้ว (80 เซนติเมตร) ส่วนผู้ชายไม่ควรกิน 36 นิ้ว (90 เซนติเมตร) ถ้าเกินจะมีโอกาสเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะไขมันในเลือดสูง และตามมาด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด
นอกจากนี้ควรดูแลรอบเอวไม่ให้มีขนาดเกินครึ่งหนึ่งของความสูง เช่น สูง 150 เซนติเมตร รอบเอวไม่ควรเกิน 75 เซนติเมตร