ซึมเศร้า โรคซึมเศร้า

Before & After เคล็ดลับบอกลาโรค ซึมเศร้า

1. ความร่วมมือและจิตใจที่มุ่งมั่น

การจะพิชิตโรคซึมเศร้าได้นั้น ผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้าใจอาการของโรคและพร้อมที่จะเรียนรู้ความผิดปกติต่าง  เพื่อสามารถให้ความร่วมมือกับแพทย์ในการรักษาได้อย่างเต็มที่

BEFORE

หลังจากสูญเสียลูกจากภาวะครรภ์ไม่สมบูรณ์ประสบความล้มเหลวในชีวิตคู่ ปัญหาความสัมพันธ์ ระหว่างคุณหญิงกับพ่อแม่ที่เรื้อรังมาเนิ่นนานรวมทั้งปัญหาสุขภาพจากอาการหายใจเร็วเกินไป(Hyperventilation Syndrome) ซึ่งเป็นการแสดงออกของร่างกายเมื่อเกิดเรื่องกระทบจิตใจหรืออารมณ์ซึ่งเป็นมาตั้งแต่วัยรุ่น

ปัญหาเหล่านี้มีผลต่อจิตใจอย่างมหาศาลทำให้เธอกลายเป็นคนเก็บตัว ไม่อยากพบเจอใครไม่อยากทำงาน ความผิดปกตินี้ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันมาก เธอจึงตัดสินใจไปพบจิตแพทย์และคุณหมอได้วินิจฉัยว่า เธอป่วยเป็นโรคซึมเศร้า

ทันทีที่เข้ารับการบำบัด สมองของเธอเต็มไปด้วยคำถาม ความไม่เข้าใจ ทั้งตัวโรค ตนเองหรือแม้กระทั่งคนรอบข้าง ดังที่เธอกล่าวในหนังสือ เรื่องเล่าจากยอดภูเขาน้ำแข็ง ว่า

“…ไม่เข้าใจในการรักษาโรคจิตเวช ไม่เข้าใจโรคที่ตัวเองเป็นว่ามันคืออะไร เกิดจากอะไร และเริ่มต่อต้านการรักษา ต่อต้านการกินยา”

สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้เธออยากยอมแพ้โรคซึมเศร้า เพราะยาทำให้เกิดอาการข้างเคียงค่อนข้างมาก (ซึ่งจะลงรายละเอียดในหัวข้อต่อไป) การทำจิตบำบัดก็ไม่ทำให้คุณหญิงรู้สึกว่ากำลังได้รับการรักษา

“เกือบชั่วโมงกับการบำบัด ช่วงท้ายๆ ฉันเริ่มไม่สนใจและไม่จำแล้วว่านักจิตบำบัดพูดอะไรมันเบื่อ ไม่อยากฟัง ไม่รู้จะทำไปทำไม ไม่อยากร้องไห้ให้ใครเห็น ร้องไห้แล้วมันเหนื่อย มันล้ามันหดหู่ การทำจิตบำบัดจึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่เข้าใจและไม่อยากทำอีก”

เพราะความไม่เข้าใจทำให้การรักษาในรอบแรกไม่ประสบความสำเร็จ เธออยากล้มเลิกการรักษาซึ่งทำให้อาการของเธอยิ่งแย่ลง

โรคซึมเศร้า
ความมุ่งมั่น ตั้งใจ หัวใจสำคัญของการบำบัดอาการโรคซึมเศร้า

AFTER

เมื่อต้องจมอยู่กับอาการซึมเศร้าเป็นเวลานาน คุณหญิงจึงอยากเอาชนะโรคร้ายนี้ให้ได้ ซึ่งทำให้เธอเล็งเห็นความผิดพลาดจากการบำบัดรอบแรก นั่นก็คือ ความไม่รู้และความไม่เข้าใจ

เธอจึงใช้เวลาว่างหาข้อมูล ปรับทัศนคติ และคุยกับหมอให้มากขึ้นจนทราบว่า เธอมีอาการของโรคซึมเศร้าแบบอารมณ์สองขั้ว หรือ Bipolar Disorder Type II จึงทำความเข้าใจกับโรคนี้และเปิดใจรับการรักษามากขึ้น

“ประสบการณ์การรักษาพอจะบอกได้ว่า ผู้ป่วยอย่างเราต้องหมั่นสังเกตอาการข้างเคียงของตัวเองอยู่เสมอ จดบันทึกไว้เลยยิ่งดี แล้วนำกลับมาคุยกับหมอ หมอจะได้ปรับยาให้เหมาะสมและมีผลข้างเคียงน้อยที่สุด”

คุณหญิงพยายามจดบันทึกอาการต่างๆ สังเกตร่างกายและจิตใจตัวเองอยู่เสมอ ทำให้การพูดคุยกับหมอในการบำบัดรอบสองเต็มไปด้วยความเข้าใจตัวเธอเองก็มีส่วนร่วมในการบำบัดมากขึ้น อย่างที่เธอได้เขียนไว้ในหนังสือเรื่องเล่าจากยอดภูเขาน้ำแข็ง ว่า

“…ไม่ใช่เป็นแค่คนไข้ที่รอหมอสั่งยาให้กินอย่างเดียว…”

“…วันนี้ฉันเริ่มรู้สึกต่างออกไป กระตือรือร้นไปพบหมอน้อยลง หมอค่อยๆ ถูกลดความเป็นคนสำคัญในชีวิตลงไป พอสารภาพออกมา หมอกลับบอกว่า มันเป็นสัญญาณดี ไม่ใช่ไม่ดี แสดงให้เห็นว่าฉันสามารถดำเนินชีวิตปกติได้โดยไม่ต้องมีการทำจิตบำบัด…”

ความสำเร็จอยู่ใกล้แค่เอื้อมเหมือนเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ นับว่าเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ ก่อนที่เพื่อนผู้เข้มแข็งคนนี้จะบอกลาโรคซึมเศร้า

 

 

 

<< อ่านต่อหน้าที่ 3 >>

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.