พยาธิตืดหมู,พยาธิ,พยาธิตัวตืด,พยาธิตัวตืดหมู

พยาธิตืดหมู ตัวเล็กๆ นี้ทำอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ได้มากแค่ไหน

พยาธิตืดหมู มาอยู่ในขาคนได้อย่างไร

เร็วๆ นี้ เชื่อว่าหลายคนคงได้เห็นภาพฟิล์มเอกซเรย์ช่วงขาของคนคนๆหนึ่ง ที่มีจุดขาวๆ กระจายทั่วหน้าขาทั้งสองข้าง ดูแล้วรู้สึกขนลุกบอกไม่ถูก สิ่งนั้นก็คือตัวอ่อนของ พยาธิตืดหมู นั่นเอง แล้วที่มาที่ไปเป็นอย่างไร จะขออ้างอิงข่าวจากเว็บไซต์ ไทยรัฐ ดังนี้

ภาพเอกซเรย์เจอตัวอ่อนพยาธิตืดหมู

หมอสาวลงภาพเอกซเรย์คนไข้ หลังเข้ารักษาด้วยอาการหายใจลำบาก มีเสมหะในคอ แต่กลับเจอตัวอ่อนพยาธิตืดหมู กระจายไปทั่วสะโพกและขา ด้าน “จ่าพิชิต” ให้ความรู้พร้อมสาเหตุการเกิดพยาธิ

แฟนเพจเฟซบุ๊ก Drama-addict แชร์โพสต์คุณหมอสาวคนหนึ่ง ที่ลงรูปเอกซเรย์พบ “ตัวอ่อนพยาธิตืดหมู” จำนวนมากในร่างกายคนไข้ที่มารักษาโดยมีอาการหายใจลำบาก คอไม่โล่ง มีเสมหะในคอ โดยทางเพจอธิบายภาพดังกล่าวว่า “x-ray ตรงขา สะโพก แล้วไอ้ขาวๆ ที่กระจายทั่วกล้ามเนื้อคือ ตัวอ่อนพยาธิตืดหมู ที่ไชเข้าสู่ร่างกาย แล้วระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายก็รับมือกับมันจนเกิดหินปูนมาเกาะครับ อึ๋ยยยยยย เคยเห็นแต่ในตำรา หมอเจ้าของโพสต์ได้เจอของจริงจะๆ เลย อึ๋ยยยยยยยยย

ป.ล. สาเหตุเกิดจากการกินเมนูที่ใส่หมูดิบแล้วมีตัวอ่อนพยาธิในนั้น หรือกินผักที่ปนเปื้อนไข่ของพยาธิชนิดนี้ครับ แล้วพอตัวอ่อนมันไชเข้าร่างกาย ก็จะไปแถวกล้ามเนื้อมั่ง หรือเข้าสมอง จากนั้นก็จะกลายเป็นหินปูนแบบที่เห็น แล้วทำให้เกิดอาการต่างๆ นานา บางคนที่ไชเข้าสมอง ก็จะไปหาหมอด้วยอาการ ปวดหัวเรื้อรัง ชักเกร็ง ไรงี้ ส่วนการรักษาก็มีตั้งแต่การกินยาฆ่าพยาธิจนถึงผ่าตัดเอาตัวอ่อนออก”

พยาธิตืดหมู
ภาพเอกซเรย์แสดงภาพตัวอ่อนพยาธิ

ว่าด้วยอันตรายจากพยาธิตืดหมู

ทั้งนี้ เรามาดูข้อมูลจากบทความของ ศ.ดร.พีรพรรณ ตันอารีย์ ภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ในเว็บไซต์ sc.mahidol.ac.th กันว่า ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับพยาธิตัวตืดหมูนี้ว่าอย่างไรบ้าง

พยาธิตืดหมูชื่อที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Taenia solium เป็นพยาธิตัวแบนซึ่งเป็นกระเทย (Hermaphrodite) เนื่องจากมีอวัยวะเพศผู้และเพศเมียอยู่ในปล้องเดียวกัน ตัวเต็มวัยมีลักษณะเป็นปล้องแบน (Proglottid) ต่อเป็นสายยาวเป็นเมตร  เหตุที่ชื่อว่าพยาธิตืดหมูเนื่องจากมีหมูเป็นเป็นโฮสต์ตัวกลาง พยาธิตืดหมูทำให้เกิดโรคในคนได้ 2 ชนิด คือ โรคพยาธิตืดหมูอาศัยอยู่ในลำไส้ ที่เรียกว่าโรค ทีนิเอซีส (Taeniasis) ซึ่งในกรณีนี้คนทำหน้าที่เป็นโฮสต์สุดท้ายหรือโฮสต์จำเพาะ (Final host หรือ definitive host) และ โรคที่มีพยาธิตัวอ่อนในถุงน้ำ หรือที่เรียกว่า ซีสต์เม็ดสาคู เข้าไปฝังตัวในเนื้อเยื่อของคน เรียกว่าโรคซีสติเซอร์โคซิส (Cysticercosis) ในกรณีนี้คนทำหน้าที่เป็นเป็นโฮสต์ตัวกลาง (Intermediate host ) แทนที่หมู โรคดังกล่าวพบได้ทั่วโลก โดยพบได้บ่อยในประเทศด้อยพัฒนาและในประเทศที่กำลังพัฒนา รวมถึงทุกแหล่งที่มีการสาธารณสุขที่ไม่ดี ทั้งนี้ ทั่วโลกพบการติดเชื้อโรคนี้ได้ประมาณ 50-100 ล้านคน การติดเชื้อนี้พบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กเล็กไปจนถึงผู้สูงอายุ ผู้หญิงและในผู้ชายมีโอกาสเกิดโรคใกล้เคียงกัน พบมากในผู้ที่ชอบรับประทานหมูสุกๆดิบๆ หรือรับประทานผักสดที่ล้างไม่สะอาด ในประเทศไทยพบมากแถบภาคอิสานเนื่องจากรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ ลู่ น้ำตก หมู แหนม ผักสด ผลไม้สด เป็นต้น

อาการแสดงออกของโรค

โรคพยาธิตืดหมูในลำไส้ (Taeniasis )
พยาธิตัวเต็มวัยในลำไส้จะแย่งอาหารทำให้ผู้ที่มีพยาธินี้จะรับประทานอาหารเก่ง หิวบ่อยแต่ผอมลง น้ำหนักลด นอกจากนั้นอาจจะมีอาการปวดท้อง ท้องอืด คลื่นไส้ อาเจียน หรืออุจจาระบ่อย เนื่องจากเกิดจากการระคายเคืองต่อลำไส้

โรคที่มีซีสต์ของพยาธิตืดหมูที่เนื้อเยื่อต่างๆของร่างกาย (Cysticercosis )
ถ้าคนรับประทานไข่พยาธิตืดหมูที่ติดตามผัก ผลไม้ หรืออาเจียนขย้อนปล้องสุกของพยาธินี้มาที่กระเพาะคน คนก็จะทำหน้าที่เป็นโฮสต์ตัวกลางเหมือนหมู พยาธินี้จะเจริญเหมือนในหมู พยาธิตัวอ่อนจะฟักจากไข่แล้วไชทะลุลำไส้เข้าสู่กระแสเลือดหรือน้ำเหลืองไปยังกล้ามเนื้อหรืออวัยวะต่างๆ เช่นเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง กล้ามเนื้อ สมอง ไขสันหลัง ตา หัวใจ ตับ ปอด โดยเจริญไปเป็นระยะถุงซีสต์ เรียกว่า ซีสติเซอร์คัส (Cysticercus) ซึ่งเป็นตัวอ่อนที่มีส่วนหัว (Scolex) และส่วนคอ (Neck) อยู่ตรงกลางในถุงน้ำเล็กๆ  ทำให้มีรูปร่างเหมือนเม็ดสาคูเม็ดใหญ่ จึงเรียกว่า พยาธิเม็ดสาคูในเนื้อหมู หรือ ซีสต์เม็ดสาคูในเนื้อหมู อาการและอาการแสดงออกต่างๆจะขึ้นกับตำแหน่งของซีสต์ ถ้าอยู่ใต้ผิวหนังก็จะมีก้อนใต้ผิวหนัง ถ้าอยู่ที่ตาก็จะปวดตา ตาพร่ามัว สายตาผิดปกติหรือตาบอด เรียกโรคนี้ว่า โรคซีสติเซอร์โคซีส (Cysticercosis) แต่ถ้าซิสต์นี้เกิดขึ้นในเนื้อสมอง ซึ่งอาจจะไม่มีอาการหรืออาจมีอาการ เช่น ทำให้เกิดอาการชัก มือและเท้าชา เป็นลม วิงเวียน หรืออาจจะมีอาการปวดศีรษะเนื่องจาก ซีสต์ไปอุดทางเดินน้ำไขสันหลังทำให้ความดันในสมองสูง ซึ่งเป็นอาการที่ผู้ป่วยไปพบแพทย์มากที่สุด เรียกว่า โรคนิวโรซีสติเซอร์โคซีส (Neurocysticercosis) ถ้าผู้ป่วยเป็นมากอาจเสียชีวิตได้

พยาธิตืดหมู
ปวดท้อง อุจจาระบ่อย อาจเป็นอาการของโรคพยาธิตืดหมูในลำไส้

สำหรับพยาธิสภาพโรคนิวโรซีสติเซอร์โคซีสนั้น  ส่วนใหญ่พยาธิตัวตืดที่เข้าไปในสมองในช่วงแรกจะก่อให้เกิดปฏิกิริยาอักเสบในสมอง เมื่อผ่านไปสักระยะหนึ่ง กลไกของร่างกายพยายามจะทำให้พยาธิตายลง พอตายก็จะเกิดมีหินปูนมาเกาะอยู่ การที่เกิดแคลเซี่ยมนั่นแสดงว่าตัวพยาธิได้เสียชีวิตไปแล้ว แต่สิ่งเกิดขึ้นเป็นหินปูนที่คล้ายๆ แผลเป็นในสมอง แผลเป็นตัวนี้จะเป็นปัญหาระยะยาว เนื่องจากว่าจะทำให้ไฟฟ้าในสมองส่วนตำแหน่งนั้นผิดปกติ ทำให้เกิดอาการวูบหรืออาการชักตามมาได้ โดยทั่วไปมักจะบอกไม่ได้ว่าแคลเซี่ยมตัวนี้เกิดเมื่อไหร่ แต่คงเกิดมาสักระยะหนึ่งแล้ว โดยที่ผู้ป่วยไม่มีอาการผิดปกติแต่อย่างใด ส่วนใหญ่คนที่มีหินปูนแล้วมักไม่ทราบว่าตัวเองมีโรค ในกรณีที่อดนอนหรือทำงานเหนื่อย อาจเกิดอาการวูบขึ้นมา ซึ่งเมื่อมาพบแพทย์ก็จะตรวจพบว่ามีตัวพยาธิอยู่ในสมองแล้ว ถ้าพยาธิไปอยู่ที่ส่วนไม่สำคัญและมีจำนวนน้อย ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการใดปรากฏ แต่ส่วนใหญ่แล้วคนไข้ที่ป่วยเป็นโรคนี้จะหายเป็นปกติ

การติดต่อของพยาธิตืดหมู

  1. จากการดื่มหรือรับประทานอาหารที่มีไข่ของพยาธิ เช่น ผัก ผลไม้ ที่ผลิตผลอยู่บนดินหรือมีหัวอยู่ในดิน เช่น สตรอเบอรี่ แครอท หัวไชเท้า รวมทั้งพืชผักที่ใช้อุจจระของคนเป็นปุ๋ย เป็นต้น
  2. จากการรับประทานตัวอ่อนของพยาธิที่อยู่ในกล้ามเนื้อของหมูซึ่งทำเป็นอาหารที่สุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ ลู่ หมู น้ำตก แหนมดิบ เป็นต้น
  3. จากการที่ขย้อนปล้องสุกเข้าสู่กระเพาะ ทำให้เหมือนเรากินไข่พยาธิเข้าไปกับอาหาร
  4. จากการที่ผู้ป่วยที่มีพยาธิตัวเต็มวัยอยู่ในลำไส้ ใช้มือล้างหรือเกาบริเวณทวารหนัก แล้วมีไข่พยาธิที่มาติดอยู่บริเวณนั้นติดนิ้วมือไป ถ้าผู้ป่วยไม่ล้างมือแล้วใช้มือจับอาหารเข้าปากหรืออมนิ้ว ก็จะได้ไข่พยาธิเข้าปากของตัวเอง โดยไม่ไปผ่านการเจริญเป็นซีสติเซอร์คัสในหมู ในกรณีนี้ผู้ป่วยจะทำหน้าที่เหมือนโฮสต์ตัวกลาง (Intermediate host) แทนหมูนั่นเอง การติดต่อวิธีนี้เกิดจากไดัรับไข่พยาธิจากอุจจระเข้าสู่ปากโดยตรง (Fecal-oral route) หรือติดเชื้อซ้ำโดยตนเอง (Autoinfection)

อ่านบทความต่อได้ที่  sc.mahidol.ac.th


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ประสบการณ์สุขภาพ : เรื่องเล่าจากผู้ป่วยมะเร็งตับ (1)

ท้องร่วง ในเด็ก ผู้ใหญ่ ดูแลอย่างไรไม่ให้ช็อกหมดสติ

สารพัดวิธีรบ…สยบ มะเร็ง ผู้หญิง

เทคนิค 6+3 ป้องกัน+ดูแล ต้านโรคมะเร็งตับ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.