เทศกาลกินเจ กินเจ

ประวัติเทศกาล กินเจ ความศรัทธาที่ถ่ายทอดผ่านทางวัฒนธรรมการกิน

กินเจ กินทำไม กินเพื่ออะไร

เข้าสู่เดือนตุลา คนไทยเชื้อสายจีนส่วนใหญ่จะเข้าใจดีกว่าในเดือนนี้จะมีช่วงเวลาที่เรียกว่าเทศกาล กินเจ อยู่ ซึ่งปัจจุบันเป็นที่แพร่หลาย แม้แต่คนไทยพุทธหรือบุคคลทั่วไปเริ่มสนใจการกินเจนี้มากขึ้นทุกปี วันนี้ผู้เขียนจึงอยากนำข้อมูลของเทศกาลกินเจมาแบ่งปัน เพื่อให้ผู้ที่เพิ่งสนใจหรืออยากจะร่วมกินเจ ได้เข้าใจถึงความหมายและวัตถุประสงค์ของเทศกาลนี้ให้มากขึ้น

ความเป็นมาของการกินเจ

อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง

การกินเจ คือ พิธีกรรมที่พุทธบริษัทไทยเชื้อสายจีนถือปฏิบัติมาแล้วนับสิบ นับร้อยปี   เทศกาลกินเจ   ตรงกับ วันที่ 1 เดือน 9 ถึงวันที่ 9 เดือน 9  ตามจันทรคติ ของปฏิทินจีน  พุทธบริษัทจีนจะไม่กินเนื้อสัตว์ในช่วงเวลาดังกล่าว    ซึ่งทำให้ได้ช่วยชีวิตสัตว์ไว้ได้ส่วนหนึ่ง เนื่องจากมีการฆ่าสัตว์น้อยลง  ผู้คนที่ศรัทธาในพุทธศาสนาจะพากันสละกิจโลกียวัตร  และ พากันนุ่งห่มเสื้อผ้าสีขาวเข้าวัด เข้าโรงเจ  พร้อมด้วยดอกไม้ธูปเทียนบำเพ็ญศีลสมาทาน ทำบุญทำทาน   ถือศีลกินเจเป็นเวลา 9 วัน

เจ มาจากคำในภาษาจีนมีความหมายทางพระพุทธศาสนาว่า “อุโบสถ” และคำว่ากินเจ ตามความหมายที่แท้จริงก็คือการกินอาหารก่อนเที่ยงวัน หรือชาวพุทธศาสนาถือ  “อุโบสถศีล” ที่เรียกว่า การรักษาศีล 8 ของคฤหัสถ์ นั่นเอง  การกินเจนั้น  หลายคนคิดว่าเป็นเพียงแค่การละเว้นเนื้อสัตว์เท่านั้น  แต่แท้ที่จริงแล้ว ไม่ใช่เพียงแค่การละเว้นเนื้อสัตว์ ยังมีข้อปฏิบัติอีกหลายอย่างที่จะต้องปฏิบัติในในช่วงเทศกาลกินเจ

การกินเจ  คือ การบริโภคแต่อาหารจำพวกพืชผัก และ ผลไม้เป็นหลัก   ไม่กินพืชผักที่มีกลิ่นหอม หรือ เผ็ดร้อนอันจะนำมาซึ่งกามกิเลส เช่น  หัวหอม  กระเทียม  ละเว้นไม่กระทำกิจใด ๆ อันนำมาซึ่งการเบียดเบียนเดือดร้อนให้เกิดแก่สัตว์โลก คือการไม่เอา ชีวิต เลือด เนื้อของสัตว์โลกให้มาเป็นของเรา     โดยทั่วไป  ผู้ที่จะเข้าสู่เทศกาลนี้   จะต้องเตรียมตัวเองให้พร้อมพอสมควร  นอกจากเรื่องอาหารการกินแล้ว ผู้ที่ถือเคร่ง จะไม่ข้องแวะทางโลกียวิสัย   คิด  และ ทำแต่สิ่งที่ดี  ระมัดระวังสำรวมในการพูดจา  รักษาศีล 5   รักษาจิตใจให้บริสุทธิ์ รักษาอารมณ์ให้คงที่ ทำบุญ ทำทาน  นุ่งขาว ห่มขาว  ดังนั้น การกินเจ ถือเป็นการชำระล้างทั้งทางร่างกาย และ จิตใจ ผู้ที่ถือศีลกินเจจะต้องเปี่ยมไปด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์

เทศกาลกินเจ    มาจากคำบอกเล่าต่อ ๆ กันมา  และ มาจากคำสอนตามความเชื่อทางศาสนาพุทธฝ่ายนิกายมหายาน  เป็นกุศโลบายให้คนทำความดี  แต่คนรุ่นหลังได้มีการเพิ่มเติมเสริมแต่งพิธีการ เพื่อให้เกิดความขลัง  ให้มีความน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น จึงทำให้กลายเป็นเทศกาลที่ต้องใช้เงินมากมายในการประกอบพิธีให้ครบถ้วน

เทศกาลกินเจ
อาหารเจจะเน้นส่วนประกอบจากพืช

บูชาดาวนพเคราะห์

อีกความเชื่อหนึ่ง  มาจากการบูชาดาวนพเคราะห์ทั้งปวงตามความเชื่อในพุทธศาสนาฝ่ายมหายานของจีน   ที่ถือการทำบุญทำทานแก่ผู้ยากจน  เป็นที่นิยมมาแต่โบราณ   เชื่อกันว่าการกินเจนั้นให้ผลดีทางด้านจิตใจ  เป็นพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์  ได้แผ่เมตตา กรุณา ช่วยชีวิตให้แก่สัตว์ให้รอดตายได้จริง ๆ  จากตอนหนึ่งในหนังสือ “ประวัติการกินเจ” ของอาจารย์เสถียร  โพธินันทะ  พิมพ์โดยโรงเจฮั่วเฮียง  ท่านกล่าวถึงประวัติการกินเจเดือนเก้าจีนไว้มีใจความว่า

พิธีการกินเจเดือนเก้าตามปฏิทินจีนทุก ๆ  ปี  มีกำหนด 9 วันนั้น  ลัทธิมหายานในพุทธศาสนา  อธิบายว่า เป็นการประกอบพิธีกรรม สักการบูชาพระพุทธเจ้า 7 พระองค์ กับ พระโพธิสัตว์อีก 2 พระองค์  รวมเป็น 9 พระองค์  หรือ นัยหนึ่งคือ “ดาวพระเคราะห์ทั้ง 9”  ซึ่งในพระสูตร “ปั๊กเต้าโก้วฮุดเซียวไจเอี่ยงซิ่วเมียวเกง”  ได้เอ่ยนามไว้  และ  ได้แบ่งภาคต่อ ๆ มาเป็น ดาวนพเคราะห์คือ

  1. ดาวไท่เอี๊ยงแช คือ      พระอาทิตย์
  2. ดาวโถ่วแช คือ      ดาวพระเสาร์
  3. ดาวลอเกาแช คือ      พระราหู
  4. ดาวโกยโต๋วแช คือ      พระเกตุ
  5. ดาวไท้อิมแช คือ      พระจันทร์
  6. ดาวฮวยแช คือ      ดาวพระอังคาร
  7. ดาวจุ้ยแช คือ      ดาวพระพุทธ
  8. ดาวบักแช คือ      ดาวพฤหัสบดี
  9. ดาวกิมแช คือ      ดาวพระศุกร์

เทพเจ้าทั้ง 9  ทรงเครื่องอย่างกษัตริย์   พุทธบริษัทจีนจึงพากันเรียกว่า “ เก๋าอ๊วง ” หรือ “กิ๋วอ๊วง” หมายถึง   นพราชา  (พระราชา 9พระองค์)

เมื่อถึงวันขึ้น  1  ค่ำ เดือน 9  ตามจันทรคติจีน   เทพเจ้าทั้ง 9 จะผลัดเปลี่ยนกันมาตรวจโลก คอยให้คุณให้โทษแก่ประชาชนทั่วไป  ด้วยความที่ทรงมีน้ำพระทัยเปี่ยมไปด้วยพระเมตตา  ถึงพร้อมด้วยความบริบูรณ์ทางธรรม สอดส่องควบคุมทุกข์สุขของสัตว์โลก    บัณฑิตโบราณจึงบัญญัติไว้ว่า  พิธีกรรมบูชาดาวนพเคราะห์   เพื่อเป็นการแสดงความเคารพ  ให้พุทธบริษัทมาประชุมบำเพ็ญกุศลวัตรถวายพุทธบริโภค  รักษาศีล สดับฟังพระอภิธรรม และ ธรรมเทศนา  บริจาคไทยทาน  ทิ้งกระจาด และ ลอยกระทงแผ่กุศลแก่สัตว์ที่ตกทุกข์ได้ยากในนรกอเวจี  และปล่อยนก ปล่อยปลา  ปล่อยเต่า เป็นต้น

เทศกาลกินเจ
ในช่วงเทศกาลกินเจ จะมีการประกอบพิธีกรรมในบางพื้นที่

บูชาพระโพธิสัตว์

ส่วนความเชื่ออันเป็นที่มาของการถือศีลกินเจของภาคใต้ โดยเฉพาะที่ภูเก็ตนั้น   เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า และ พระโพธิสัตว์เช่นกัน    มีชื่อพระพุทธเจ้าต่างออกไปบ้าง   แต่สุดท้ายก็แบ่งภาคมาเป็น นพราชาเหมือนกัน   เบื้องต้น มาจากมณฑลกงไซ้ (กังไส)   พระราชโอรสทั้งเก้าเสียชีวิตในสงคราม   และจุติเป็นวิญญาณอมตะเที่ยวสอดส่องดูแลทุกข์สุขของชาวเมือง  ได้แนะนำให้เศรษฐีผู้ใจบุญถือศีลกินเจ ผลไม้ 5 อย่าง  ผัก 6 อย่าง พร้อมกับจุดตะเกียง  9 ดวง  อันหมายถึงพระราชโอรสทั้ง 9 กระองค์   ในระหว่างกินเจ ห้ามฆ่าสัตว์ ห้ามของคาวทุกชนิด   ห้ามดื่มของมึนเมาเป็นต้น  เศรษฐีเห็นว่าพระราชโอรสได้สอนและหายตัวไปในวันที่ 1 เดือน 9  จึงได้เริ่มกินเจในวันดังกล่าวเรื่อยมา   ต่อมาคณะงิ้วผ่านมาเห็นเป็นเรื่องน่าสนใจ    จึงนำเรื่องราวไปแต่งเติม  และเล่นงิ้วเผยแพร่ไปทั่ว  พิธีกินเจที่คณะงิ้วนำไปนั้นได้เพิ่มกำหนดพิธีการต่าง ๆ  เป็นขั้นเป็นตอน เช่น  พิธีอัญเชิญพระอิศวรมาประทับเป็นประธานในพิธี  พิธีสักการะ นพราชา  พิธีปล่อยทหารเอกออกไปรักษามณฑลพิธี  พิธีเลี้ยงอาหารทหาร   พิธีเรียกทหารกลับ   พิธีลุยไฟ  พิธีสะเดาะเคราะห์เสริมดวงชะตา   และจบด้วยพิธีบวงสรวงดาวนพเคราะห์  ซึ่งพิธีกินเจบางแห่ง  เช่นทางภาคใต้ของไทยมีการทรมานกาย  การแสดงการต่อสู้ของคณะเอ็งกอ  นั่นก็มาจากคณะงิ้วที่นำมาเผยแพร่นั่นเอง

การถือศีลกินเจในเทศกาลกินเจเดือน 9  ตามปฏิทินจีนตามข้างต้นนั้น  เป็นความเชื่อที่ถือกันมาแต่โบราณ   เป็นกุศโลบายของนักปราชญ์  ราชบัณฑิต ผู้มีกุศลจิตในสมัยนั้นที่ต้องการให้ผู้คนอยู่ในศีลในธรรม   ถือศีลกินเจ  ทำบุญทำทานเพื่อให้จิตใจอ่อนโยน  มีความเมตตากรุณาต่อมวลสัตว์โลกทั้งหลาย แม้ความเชื่อจะต่างกัน  แต่ผลแห่งการกระทำนั้นคือจุดมุ่งหมายเดียวกันคือ  บุคคลทั่วไปควรจะลดละอกุศลกรรมทั้งมวล สะสมแต่สิ่งที่ดีงาม  เพื่อรับพรจากเทพเจ้าทั้ง 9 พระองค์  ก็จักทำให้จิตใจเบิกบาน  ผ่องแผ้ว มีแต่ความสุข ความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตสืบไป

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.