เดินจงกรม

Amazing พิชิต 7 โรคร้ายด้วย เดินจงกรม

รับมือเด็กสมาธิสั้น พัฒนาการเรียนรู้

นายแพทย์ชินภัทร์อธิบายเพิ่มเติมว่า ตนเองและทีมวิจัย พบว่า การ เดินจงกรม สามารถนำมาปรับใช้กับกลุ่มเด็กสมาธิสั้นให้มีผลการเรียนที่ดีได้อีกด้วย

“ตัวอย่างเช่น เด็กชายซึ่งเป็นโรคสมาธิสั้น อายุ 9 ปี มีปัญหาในการเข้าสังคม มักปลีกตัว ไม่ทำกิจกรรมกับเด็กคนอื่น เขียนตัวอักษรทั้งภาษาไทยและอังกฤษไม่ได้ และมีพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจจากผู้ปกครองและครู

“ช่วงการเรียนหรือทำกิจกรรมในห้อง เด็กมักจะต่อต้าน แต่เมื่อนำกิจกรรมเดินจงกรมมาเสริมหลังเลิกเรียนหรือระหว่างทำกิจกรรมต่างๆ โดยระยะเวลาในการเดินที่เหมาะสมคือ 10 - 20 นาที พบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับนักบำบัดหรือครูดีขึ้น เรียนรู้ได้มากขึ้นมีความอดทนและร่าเริงแจ่มใส ทักษะในการเข้าสังคมดีขึ้นด้วย”

นายแพทย์ชินภัทร์อธิบายถึงกรณีศึกษานี้ว่า การเดินจงกรมเสมือนเป็นการให้รางวัลหลังทำกิจกรรมในห้องเรียนเสร็จ ช่วยให้เด็กรู้สึกผ่อนคลาย สร้างสมาธิและความอดทนได้อย่างเป็นธรรมชาติ

สุดท้าย ควรให้เด็กฝึกเดินจงกรมร่วมกับบุคคลที่เด็กไว้ใจ หรือรู้สึกผ่อนคลาย จากนั้นหลังการฝึกแนะนำให้สอบถามถึงกิจกรรมในห้องเรียน ปัญหาสุขภาพ ปัญหาด้านสังคม เพื่อให้ได้ข้อมูลซึ่งนำมาปรับปรุงวิธีการเรียน หรือทำกิจกรรมของเด็กได้ต่อไป หากทำเป็นประจำทุกวันจะให้ผลเร็วยิ่งขึ้น

เดินจงกรม ป้องกันโรคหัวใจ
ฝึกเดินจงกรมเป็นประจำ ช่วยลดอันตราการเต้นของหัวใจ ป้องกันการเกิดโรคหัวใจในอนาคต

บอกลาโรควิถีชีวิตยอดฮิต หัวใจ เบาหวาน ความดัน

ทีมวิจัยโดยแพทย์และพยาบาลจากโรงพยาบาลกันทรลักษ์ อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ได้ศึกษา วิธีส่งเสริมสุขภาพของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ด้วยหลักการแพทย์แผนไทย เมื่อปี พ.ศ. 2555 โดยมีวิธีการดังนี้

ศึกษาจากผู้ป่วยทั้งหมด 676 คน โดยมีกลุ่มทดลองจำนวน 291 คน ใช้การควบคุมอาหารควบคู่กับการออกกำลังกาย และมีการใช้หลักปฏิบัติตามแนวทางพุทธศาสนา คือ ถือศีล 5 และเดินจงกรม โดยแนะนำให้เดินบนพื้นกรวดแม่น้ำที่กลมมนเพียงวันละ 15 นาทีทุกวัน ส่วนผู้ป่วยที่เหลือให้ดำเนินชีวิตตามปกติ เมื่อทำการทดลองครบ 2 เดือน ผลปรากฏว่า กลุ่มผู้ป่วยซึ่งปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวมีคุณภาพชีวิตโดยรวม ซึ่งหมายถึงร่างกาย จิตใจ สังคม สิ่งแวดล้อม ดีกว่าช่วงก่อนการทดลอง และดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ปฏิบัติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05

ผลวิจัยนี้สัมพันธ์กับงานวิจัยของ แพทย์หญิงดวงรัตน์ ชลศฤงคาร อายุรแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลราชบุรี ซึ่งศึกษา ผลเฉียบพลันของการเดินจงกรมต่อระดับความดันโลหิตในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง พบว่า การเดินจงกรมลดระดับความดันโลหิตได้ไม่แตกต่างจากการนั่งพัก แต่สามารถลดอัตราการเต้นของหัวใจลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับการนั่งพัก

รองศาสตราจารย์ ดร.สมพร กันทรดุษฎี เตรียมชัยศรี ภาควิชาการพยาบาลสาธารณสุข คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า การเดินจงกรมอย่างต่อเนื่องทำให้จิตเป็นสมาธิ คลื่นสมองทำงานช้าลง และมีการหลั่งสารสื่อประสาทซึ่งช่วยยับยั้งการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติซิมพาเทติก (Sympathetic Nervous System) และกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติพาราซิมพาเทติก (Parasympathetic Nervous System) ลดการสลายไกลโคเจนจากตับ จึงลดระดับน้ำตาลในเลือดลงได้

นอกจากนี้ การเดินจงกรมยังช่วยลดระดับความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจ เนื่องจากการเดินจงกรมสร้างความสงบและลดเครียดอย่างได้ผล โดยไปกระตุ้นให้ร่างกายลดการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) พูดง่ายๆ ว่า การเดินจงกรมช่วยลดทั้งระดับน้ำตาลในเลือดและอัตราการเต้นของหัวใจได้ หากปฏิบัติเป็นประจำก็จะช่วยบอกลาโรควิถีชีวิตหรือ NCDs (Non-communicable Diseases) อย่างเบาหวาน ความดันโลหิตสูง รวมถึงโรคหัวใจ ไปได้เลย

 

 

 

<< อ่านต่อหน้าที่ 4 >>

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.