เอสแอลอี แพทย์ทางเลือก แพทย์แผนไทย แพทย์แผนจีน โฮมิโอพาธี โรคพุ่มพวง

แผนจีน ไทย โฮมีโอพาธี สยบ เอสแอลอี

ศาสตร์จีนพันปีรักษาโรคยุคใหม่

สำหรับการรักษาตามศาสตร์แพทย์แผนจีน อาจารย์วีรชัยได้แนะนำไว้ 2 วิธี ได้แก่

1. การใช้ยาสมุนไพรจีน การเลือกสมุนไพรสำหรับรักษาผู้ป่วยเอสแอลอีมีหลักใหญ่ๆ คือ เพื่อบำรุงอินของไตและระบายความร้อนที่มีมากเกินไป โดยเฉพาะความร้อนในระดับเลือด ส่วนใหญ่จะใช้สมุนไพรฤทธิ์เย็นหรือฤทธิ์กลาง เช่น เซิงตี้หวง (แชตี่) จัดเป็นยาฤทธิ์เย็น มีสรรพคุณระบายความร้อนของเลือด บำรุงอินของไต ช่วยห้ามเลือดได้

ในการพิจารณาให้สมุนไพรแก่ผู้ป่วยนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคำนึงถึงสภาวะร่างกายของผู้ป่วยในขณะนั้น เพราะร่างกายของแต่ละคนไม่เหมือนกันและแปรเปลี่ยนได้ตลอดเวลา แพทย์จีนจึงไม่แนะนำให้

ผู้ที่เป็นโรคนี้ไปซื้อยาสมุนไพรมากินเอง แต่ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์จีนในการพิจารณาและเลือกสมุนไพรที่มีฤทธิ์เหมาะสม ซึ่งจะช่วยส่งเสริมส่วนดีหรือปรับความไม่สมดุลต่างๆ ในร่างกายเป็นรายคนไป

การฝังเข็ม รักษาโรคเอสแอลอี เอสแอลอี
การฝังเข็ม ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือด

2. การฝังเข็ม เป็นการรักษาเพื่อเสริมการรักษาด้วยยาสมุนไพร คือ บำรุงอิน ระบายพิษร้อน กระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและลมปราณเพราะตามหลักของแพทย์แผนจีนเชื่อว่า หากเลือดลมติดขัดที่ส่วนไหนก็จะทำให้เกิดอาการปวดขึ้นมาที่ส่วนนั้นได้ ผู้ป่วยโรคเอสแอลอีมีความร้อนในระดับเลือด ความร้อนจะเคี่ยวให้เลือดหนืดข้นและไหลเวียนไม่ดีส่งผลให้เกิดอาการปวดตามจุดต่างๆ การฝังเข็มช่วยให้เลือดลมเดินสะดวก จึงสามารถบรรเทาอาการปวดที่เกิดขึ้นได้

 

8 วิถีสู้โรค + ป้องกันเอสแอลอี

นอกจากรับการรักษาจากแพทย์แล้ว อาจารย์วีรชัยได้แนะนำ วิธีปรับวิถีชีวิตตามศาสตร์แพทย์แผนจีนสำหรับผู้ป่วยและผู้ที่ต้องการป้องกันตัวเองจากโรคร้ายนี้ ไว้ดังนี้ค่ะ

  1. ควรงดอาหารหวาน อาหารที่มีไขมันสูง และของทอดเพราะผู้ป่วยโรคเอสแอลอีต้องใช้ยาจำพวกสเตียรอยด์รักษาเป็นเวลานาน อาจส่งผลให้มีภาวะไขมันในเลือดสูงได้
  2. หลีกเลี่ยงอาหารบางชนิด เช่น ผักโขม ซึ่งมีปริมาณออกซาเลต (Oxalate) สูง กินมากๆ อาจทำให้เป็นโรคนิ่ว ทั้งยังส่งผลเสียต่อผู้ป่วยที่มีภาวะไตอักเสบจากโรคเอสแอลอี เพราะจะทำให้มีโปรตีนรั่วออกมาในปัสสาวะมากขึ้น รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงการกินเห็ดหอมและขึ้นฉ่าย เพราะส่งผลให้ผิวหนังไวต่อแสงแดด ทำให้ผิวเกิดการอักเสบและมีผื่นแดงได้
  3. งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการสูบบุหรี่ เพราะทั้งแอลกอฮอล์ในเหล้า และสารนิโคตินในบุหรี่กระตุ้นให้ผนังหลอดเลือดเกิดการระคายเคือง และมีการอักเสบมากขึ้น ทั้งยังส่งผลให้ไตทำงานหนักจากการขับสารพิษที่ร่างกายรับเข้าไป
  4. หลีกเลี่ยง “เสียชี่” (xié qì) หรือพลังไม่ดีจากภายนอกที่จะเข้าสู่ร่างกาย เช่น การติดเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรียแสงอัลตราไวโอเลต เพราะหากผู้ป่วยโรคเอสแอลอีมีการติดเชื้อจะยิ่งไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้ทำงานมากขึ้น อาการจะยิ่งกำเริบ
  5. กินอาหารฤทธิ์เย็นหรือฤทธิ์กลาง เช่น แตงโม สาลี่ เป็นต้น และหลีกเลี่ยงหรือจำกัดอาหารที่มีรสเผ็ดร้อนสามารถกินได้ แต่ต้องควบคุมให้อยู่ในปริมาณพอเหมาะ
  6. ดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติ และอยู่กับอากาศตามฤดูกาล การปล่อยให้ร่างกายต้องเผชิญกับอุณหภูมิที่แปรเปลี่ยนกะทันหันหรือถูกลมเป่าโกรกร่างกายตรงๆ เพราะจะทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทันและเจ็บป่วยง่าย
  7. พักผ่อนให้เพียงพอ แนะนำว่าอย่างน้อยๆ ควรนอนหลับให้สนิทในช่วงเวลา 23.00 น. – 3.00 น. เพราะเวลานี้เป็นเวลาที่เส้นลมปราณของถุงน้ำดีและตับทำงานมากที่สุด เลือดทั่วร่างกายจะไหลเวียนกลับไปสู่ตับ โดยตับจะช่วยทำลายสารพิษต่างๆ ในเลือดและสร้างเลือดใหม่
  8. ควรออกกำลังกายเบาๆ เช่น การรำไทเก๊ก ที่นอกจากจะช่วยให้เลือดลมเดินสะดวกแล้ว ยังช่วยเรื่องการเผาผลาญพลังงานและสร้างสมาธิ ทำให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น
การป้องกันโรคเอสแอลอี เอสแอลอี
ป้องกันโรคเอสแอลอี ด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำ

สุดท้ายนี้ อาจารย์วีรชัยได้ให้คำแนะนำสำหรับผู้ป่วยโรคเอสแอลอีไว้ว่า การรักษาโรคเอสแอลอีนั้นไม่ควรรักษาด้วยการแพทย์ทางเลือกอย่างเดียว แต่ควรทำควบคู่ไปกับการแพทย์แผนปัจจุบัน โดยแพทย์แผนจีนจะทำหน้าที่ช่วยส่งเสริมการรักษาหลัก ปรับการทำงานของอวัยวะภายในให้ประสานสอดคล้องกัน

ส่งผลในการเสริมฤทธิ์ของยาแผนปัจจุบันต่างๆ จึงสามารถลดขนาดยาแผนปัจจุบันลงมาในปริมาณที่ต่ำที่สุด แต่ยังมีฤทธิ์รักษาได้ เช่น ช่วยลดปริมาณการใช้ยาจำพวกสเตียรอยด์ลง จึงช่วยลดผลข้างเคียงที่เกิดจากการใช้ยาดังกล่าวได้

แต่ทั้งนี้ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ ไม่ควรซื้อยากินเองหรือปรับลดปริมาณยาด้วยตนเองโดยเด็ดขาด

 

 

 

<< แพทย์แผนไทย อ่านต่อหน้าที่ 3 >>

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.