ไข้เลือดออก,ไข้เลือดออกระบาด,โรคไข้เลือดออก

ชวนรับมือไข้เลือดออกหน้าฝน หลังระบาดคร่าชีวิตแล้วหลายราย

Alternative Textaccount_circle
event
ไข้เลือดออก,ไข้เลือดออกระบาด,โรคไข้เลือดออก
ไข้เลือดออก,ไข้เลือดออกระบาด,โรคไข้เลือดออก

เฝ้าระวัง ไข้เลือดออกหน้าฝน ช่วงระบาดหนัก

ฝนไม่หยุดตก แหล่งน้ำขังกำจัดเท่าไรก็ไม่หมด ยุงลายเพิ่มจำนวน เราจึงหนีไม่พ้น ไข้เลือดออกหน้าฝน ที่มักระบาดเมื่อฝนชุก อย่างที่รู้กันว่าโรคนี้เป็นโรคที่ร้ายแรงพอจะคร่าชีวิตมนุษย์ได้ เราจึงชวนคุณมารับมือเสียตั้งแต่ตอนนี้

“ไข้เลือดออก” ไม่ใช่เรื่องเด็กๆ

โรคไข้เลือดออกที่เราเคยเข้าใจว่าเป็นโรคที่เกิดกับเด็ก ปัจจุบันกลายเป็นภัยที่ค่อยๆคืบคลานเข้าหาผู้ใหญ่อย่างเงียบๆ โดยที่เราไม่ทันรู้ตัว ดังคำแถลงโดย นายแพทย์วิชัย  สติมัย ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลงที่ว่า

“ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา มีผู้ใหญ่ในช่วงอายุระหว่าง 25 – 34 ปี ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกมากขึ้น จากเดิมที่ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกคือกลุ่มเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี

ไข้เลือดออก,ไข้เลือดออกระบาด,โรคไข้เลือดออก
โรคไข้เลือดออกมักระบาดช่วงหน้าฝน

“เฉพาะปีพ.ศ. 2555 นับถึงวันที่ 12 กรกฎาคม มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกจำนวน 21,289 คน ลดลงจากปีพ.ศ. 2554 ในช่วงเวลาเดียวกันถึงร้อยละ 22 แต่พบว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตกลับเพิ่มขึ้น จาก 18 คนในปีที่แล้วเป็น 24 คน และที่น่าเป็นห่วง คือ จำนวนประชากรวัยผู้ใหญ่ที่มีอัตราการป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคไข้เลือดออกเพิ่มขึ้นชัดเจน”

สถิติข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ภัยจากโรคไข้เลือดออกกำลังขยับเข้ามาใกล้ผู้ใหญ่อย่างเรามากขึ้นทุกที โดยสาเหตุการเพิ่มจำนวนของผู้ใหญ่ที่ป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคไข้เลือดออก คุณหมอวิชัยกล่าวว่า มีความเป็นไปได้2 ประการ คือ

• ผู้ที่ไม่เคยป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกในตอนเด็ก หากถูกยุงลายที่เป็นพาหะของโรคกัด แล้วป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกเมื่อเป็นผู้ใหญ่ มีโอกาสที่อาการของโรคจะหนักกว่าปกติ เพราะไม่เคยมีภูมิต้านทานโรคไข้เลือดออกมาก่อน

• การที่แพทย์วินิจฉัยโรคผิด เนื่องจากแต่เดิมกลุ่มผู้ใหญ่ที่ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกมีไม่มาก อีกทั้งมีโรคอีกหลายโรคที่มีอาการคล้ายกับอาการเริ่มแรกของโรคไข้เลือดออก คือ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย ตัวร้อนเป็นไข้ ทำให้แพทย์ผู้ตรวจรักษาอาจมองข้ามโรคไข้เลือดออกไป ซึ่งกว่าแพทย์จะวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้องก็ต่อเมื่อผู้ป่วยมีภาวะช็อก ซึ่งอาจสายเกินไป

เช็กให้แน่ใจว่าใช่โรคไข้เลือดออก

เพราะอาการเริ่มแรกของโรคไข้เลือดออกนั้นคล้ายกับอาการของคนเป็นไข้ธรรมดา อาจทำให้คุณผู้อ่านชีวจิตรู้สึกกังวลว่าหากตนเกิดไม่สบายขึ้นมา จะแน่ใจได้อย่างไรว่านี่คืออาการของโรคไข้เลือดออก และควรปฏิบัติอย่างไร

นายแพทย์สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดี กรมควบคุมโรค ชี้แจงวิธีสังเกตอาการของโรคไข้เลือดออกว่า

“อาการโดยทั่วไปของผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก คือ มีไข้สูงลอย (กินยาแล้วไข้ไม่ลด) หน้าแดง ปวดกล้ามเนื้อตามตัว ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเจ็บชายโครงเนื่องจากตับขยายตัว และอาการที่บ่งบอกได้ชัดเจนว่ากำลังป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก คือ การมีจุดเลือดออกตามผิวหนัง”

ไข้เลือดออก,ไข้เลือดออกระบาด,โรคไข้เลือดออก
การกำจัดลูกน้ำยุงลาย และแหล่งเพาะพันธู์ ป้องกันโรคไข้เลือดออกได้

ส่วนการปฏิบัติตนของผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคไข้เลือดออกคุณหมอสุวรรณชัยแนะนำว่า “ในช่วงที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออก ผู้ที่ต้องอาศัยหรือเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดหากพบว่าตนเองมีไข้สูงลอย กินยาลดไข้แล้วไม่ดีขึ้น หรือกินยาแล้วไข้ลดฉับพลัน แต่ยังซึม ตัวเย็น เบื่ออาหาร ถ่ายเป็นสีดำควรรีบไปพบแพทย์ และไม่ควรวางใจ เพราะอาจเกิดภาวะช็อกตามมาได้ ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต”

คุณหมอสุวรรณชัยระบุถึงขนาดการรับประทานยาพาราเซตามอลเมื่อป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกว่าควรกินยาครั้งละ 1 – 2 เม็ด ทุก 6 ชั่วโมง และในหนึ่งวันไม่ควรกินเกิน 15 เม็ด

ป้องกันไข้เลือดออกด้วย “5 ป. ปราบยุงลาย”

ในเมื่อเราไม่มีทางล่วงรู้ได้ว่า เราจะเป็นคนที่ถูกโรคไข้เลือดออกเล่นงานหรือไม่ การทำตามคำกล่าวที่ว่า “กันไว้ดีกว่าแก้” จึงเป็นทางออกที่ดี ตามที่คุณหมอวิชัยกล่าวไว้ว่า

“ประชาชนทุกคนควรรู้จักป้องกันโรคไข้เลือดออกในเบื้องต้นด้วยการดูแลบ้านของตัวเองไม่ให้มีลูกน้ำยุงลาย เพราะในระยะที่ยังเป็นลูกน้ำอยู่ในภาชนะ เราสามารถจัดการได้ง่ายกว่าระยะที่โตเป็นยุงแล้ว

“หากภาคประชาชนสามารถร่วมมือกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทั้งในระดับบ้าน โรงเรียน และชุมชน ปัญหาโรคไข้เลือดออกก็จะลดน้อยลง”

คุณหมอวิชัยได้ฝากคำแนะนำมาถึงผู้อ่านชีวจิตด้วยว่า หากอยากอยู่ห่างไกลจากโรคไข้เลือดออก เราต้องปรับพฤติกรรมให้ถูกต้องตามหลัก “5 ป. ปราบยุงลาย” ดังต่อไปนี้

ปิด คือ ปิดฝาภาชนะกักเก็บน้ำทุกชนิด

เปลี่ยน คือ เปลี่ยนน้ำในภาชนะต่างๆทุก 7 วัน

ปล่อย  คือ ปล่อยปลา หรือเลี้ยงปลากินลูกน้ำยุงลาย เช่น ปลาหางนกยูง ลงในภาชนะกักเก็บน้ำ

ปรับปรุง คือ ปรับปรุงสิ่งแวดล้อมไม่ให้กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

ปฏิบัติ คือ ปฏิบัติตามหลัก “5 ป. ปราบยุงลาย” จนเป็นนิสัย เพื่อการแก้ปัญหาโรคไข้เลือดออกอย่างยั่งยืน

หากปฏิบัติตามหลักในการป้องกันศัตรูที่ชื่อ “โรคไข้เลือดออก” อย่างเคร่งครัด เราก็จะเอาชนะโรคนี้ได้อย่างแน่นอน


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

วิธีไล่ยุง ป้องกันไข้เลือดออก

ยาจีนลดความร้อน ป้องกัน ไข้เลือดออก

แพทย์เตือนฤดูฝนปราบยุงลายป้องกันไข้เลือดออก

อย่าเสี่ยงกับความรุนแรงของไข้เลือดออก “โบ” ย้ำเตือน ชีวิตมีค่า เน้นป้องกันก่อนสายเกินไป

ติดตามคำแนะนำจาก กูรูสุขภาพ ทำตามง่าย เห็นผลจริง คลิกเลย!
keyboard_arrow_up