โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่, เนื้อเเดง, ชีวจิต

กินสารเร่งเนื้อเเดง (ตลาดเขียง) เสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

ประสบการณ์ตรงผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

ด้าน นายจาคี ฉายปิติศิริ ผู้ดูแลเพจ ‘จาคี มะเร็งไดอารี่’  กล่าวถึงประสบการณ์ตรงของผู้ป่วย โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ว่า ตนเองเกิดอาการของโรคในช่วงปี 2549-2550 เริ่มปวดท้อง ระบบขับถ่ายผิดปกติ รับประทานอาหารไม่ได้และไม่มีเรี่ยวแรง ซึ่งผลการตรวจพบเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะสุดท้าย

เมื่อเริ่มการรักษาก็ต้องพบกับผลข้างเคียงหลายอย่าง แต่ก็พยายามทำตามคำแนะนำของแพทย์เพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวแข็งแรงมากพอที่จะรับการรักษาต่อไป โดยปรับปรุงเรื่องอาหาร การออกกำลังกาย ดูแลสภาพจิตใจตัวเองและคนรอบข้างให้ดีที่สุดจนการรักษาผ่านไปได้อย่างราบรื่น

“ผมเชื่อว่าสิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการสู้โรค คือการสู้กับความไม่รู้ นำมาซึ่งความวิตกกังวลและความกลัว แต่ถ้าเรามีข้อมูลมากเพียงพอก็จะเข้ารับการรักษาด้วยความเข้าใจ จึงพยายามสอดแทรกเนื้อหาส่งเสริมสภาพจิตใจให้ผู้ที่ติดตามรู้สึกเหมือนเราเป็นเพื่อน ระหว่างป่วยจึงเริ่มพัฒนาเพจ ‘จาคีมะเร็งไดอารี่’ เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับ โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ในแง่มุมที่เป็นประสบการณ์ตรงจากการรักษา นำเสนอในสิ่งที่ตนเองเคยเป็นหรือเคยทำมาแล้ว ซึ่งแพทย์และพยาบาลเป็นผู้แนะนำ”

ปัจจุบัน พยายามใช้ชีวิตให้อยู่ในมาตรฐานคนสุขภาพดีทั่วไป คือเลือกกินอาหารที่ดีมีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แนะนำว่าทุกคนควรหันมาดูแลสุขภาพตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะคนที่มีต้นทุนทางสุขภาพดี ย่อมจะมีโอกาสฟื้นตัวได้ดีกว่าคนที่ไม่เคยดูแลสุขภาพมาก่อน

อ่านเพิ่มเติม: FAMILY’S MISSION สู้มะเร็งลำไส้ใหญ่ จอมวายร้าย

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัด เวที สช.เจาะประเด็น ครั้งที่ 3/2561 เรื่อง “กินเปลี่ยนชีวิต หยุดวิกฤตมะเร็งลำไส้ใหญ่”
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัด เวที สช.เจาะประเด็น ครั้งที่ 3/2561 เรื่อง “กินเปลี่ยนชีวิต หยุดวิกฤตมะเร็งลำไส้ใหญ่” เมื่อวันอังคารที่ 11 กันยายน 2561 ณ ห้องประชุมบองมาร์เช่ มาร์เก็ต ประชานิเวศน์ 1

เท่าทันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

ผศ.ดร.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ผู้บริโภคต้องรู้เท่าทันโรคเพื่อให้สามารถป้องกัน โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้ โดยทุกภาคส่วนพยายามรณรงค์ให้ผู้บริโภคมี ความรู้เท่าทันด้านสุขภาพ (Health Literacy) โดยเฉพาะเมื่อเทคโนโลยีและสังคมออนไลน์มาเกี่ยวข้อง ทุกฝ่ายจึงต้องรู้เท่าทันเรื่องดิจิทัล (Digital Literacy) และ รู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy) ด้วย เพื่อเสพข้อมูลข่าวสารอย่างมีวิจารณญาณและช่วยกันจับตาข้อมูลที่บิดเบือนในยุค 4.0 อย่างไรก็ดี การรณรงค์ให้ความรู้เท่าทันสุขภาพด้านอาหารเป็นเรื่องค่อนข้างยาก เช่น ควรแนะนำให้ “หลีกเลี่ยง” หรือดู “ความเหมาะสม” หมายถึงผู้บริโภคต้องมีความเข้าใจและตระหนักในการเลือกรับประทานมากกว่าความชอบส่วนตัวและรสชาติ ดังคำกล่าวที่ว่า “you are what you eat” สุขภาพอยู่ที่เราเลือก

“ทุกภาคส่วนสามารถสร้างสังคมสุขภาวะร่วมกัน ผู้ประกอบการผลิตอาหารที่ลดความเสี่ยง สร้างคำเตือนหรือไม่โฆษณาที่กระตุ้นการบริโภคเกินปริมาณ ขณะที่สื่อมวลชนก็ควรแสดงออกถึงความรับผิดชอบ ไม่โฆษณาชวนเชื่อเกินจริง มีพื้นที่หรือเวลาเผยแพร่ข้อมูลที่เอื้อต่อสุขภาพด้วย ที่ผ่านมา สช. ได้สนับสนุนการทำงานร่วมกับสถาบันมะเร็งแห่งชาติและเครือข่ายนักวิชาการเพื่อพัฒนาข้อเสนอทางนโยบายเพื่อป้องกันและควบคุมโรค”

ผศ.ดร.วีระศักดิ์ กล่าวว่า ความรู้เท่าทันด้านสุขภาพ ถูกกำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเพื่อป้องกันและควบคุมปัจจัยคุกคามสุขภาพ รวมทั้งอยู่ในแผนปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ซึ่งการประชุม “สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11” ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-14 ธันวาคม 2561 ณ ศูนย์ประชุมวายุภักดิ์ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ คณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติจึงนำเรื่อง “ความรอบรู้ด้านสุขภาพเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อ (Health Literacy  for NCDs)” เป็นระเบียบวาระหนึ่งเพื่อพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายแบบมีส่วนร่วม ภายใต้ธีมงาน “รู้เท่าทันสุขภาพ ร่วมสร้างสังคมสุขภาวะ” ผู้ที่สนใจติดตามความคืบหน้าที่ www.nationalhealth.or.th หรือ www.samatcha.org

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป

อ่านเพิ่มเติม

ANTI CANCER FOODS กินต้านมะเร็งลำไส้ใหญ่

ประสบการณ์สุขภาพ สู้อาการแพ้เคมีบำบัด มะเร็งลำไส้ใหญ่ เยียวยาด้วยน้ำอาร์ซี

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.