เลือกผลไม้

Fresh Fruit เลือกผลไม้ อย่างไรให้ถูกใจคุณ

Fresh Fruit เลือกผลไม้ อย่างไรให้ถูกใจคุณ

วิธี เลือกผลไม้ เมื่อก่อนยุงมีปัญหาในการเลือกวัตถุดิบมาปรุงอาหารมาก ยิ่งเป็นผลไม้ลูกโตๆ ที่ต้องใช้ความชำนาญในการเลือกว่าสุกหรือห่ามนี่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยค่ะ บางทีจับลูกโน้น วางลูกนี้ เลือกไปอย่างนั้นเอง แล้วก็วนกลับมาเอาลูกเดิมตัดสินจากแค่ความสวย พอกลับมาถึงบ้าน จะใช้นั่นแหละถึงรู้ว่าเลือกผิด ช้ำใจเหลือเกิน

แต่สำหรับผู้อ่านชีวจิต ที่กินผลไม้เป็นประจำไม่ต้องกลัวว่าจะพลาดเหมือนกับยุงค่ะ เพราะ ชีวจิตมีเคล็ด (ไม่) ลับในการเลือกผลไม้ มาฝากกัน

ชนิดแรกก็คือ “กล้วยหอม” ต้องเลือกที่สีผิวก่อน ผิวสีเหลืองทองเหมาะสำหรับกินเลย ไม่มีรอยขีดข่วนหรือรอยช้ำ เพราะกล้วยหอมบอบบางมากหลุดจากขั้วง่าย ถ้าต้องการเก็บไว้หลายวันต้องเลือกผิวสีออกกระดังงา คือมีสีเขียวติดอยู่นิดหน่อย ใช้พลาสติกหุ้มปิดขั้วไว้ถ้าอยากให้สุกช้าก็ใช้ผ้าชุบน้ำบิดหมาด ๆ คลุมเอาไว้อีกที เป็นการยืดอายุกล้วยให้นานออกไปอีก ยุงเคยแช่ตู้เย็นเก็บได้เหมือนกันค่ะ แต่ผิวดำ ไม่สวย

หรือถ้าจะเลือกกล้วยหอมสำหรับเทศกาลต่างๆ เรามักเจอกล้วยอ่อนต้องเลือกดูที่ผิวไม่มีรอยขีดข่วน สีเขียวออกเหลืองนิดหน่อย ลูกอวบๆ เหลี่ยมบนลูกไม่เป็นสันมาก ขั้วไม่เหี่ยว รับรองไม่ใช่กล้วยอ่อนแน่นอน

การเลือกสับปะรด
วิธีเลือกสับปะรด ควรสังเกตเปลือกและขั่วของสับปะรด

ต่อมาก็คือ “สับปะรด” เดี๋ยวนี้มีแบบปอกขายเยอะแยะ แต่ถ้าซื้อเก็บไว้นานหน่อยจะมีกลิ่นเหม็น ไม่น่ากินบางคนก็เลยต้องยอมซื้อทั้งเปลือก พอกลับมาปอกที่บ้านเจอแบบเปรี้ยวทุกทีวิธีเลือกง่ายๆ ก็คือ เลือกที่สีเปลือกออกเหลืองหน่อย ขั้วไม่แห้ง ตาจะใหญ่แบน ๆ ดมดูจะมีกลิ่นหอม รสจะหวานเวลาจับมีน้ำหนัก ถ้าลองใช้นิ้วดีดหรือเอาไม้เคาะจะมีเสียงแปะๆ แสดงว่าขั้น ส.ว.แล้ว (สูงวัยค่ะ) ใช้ได้

“แตงโม” เป็นผลไม้ที่เลือกยากพอสมควร อย่างว่าแหละ เหมือนกับ “มองคนแต่เปลือกนอก” ยากจัง…แต่ก็มีวิธีสังเกตง่ายๆ ยุงถามมาจากพ่อค้าแตงโมแผงใหญ่ในตลาด เผอิญเป็นแฟนตัวจริงของนิตยสาร ชีวจิต ค่ะ เลยอธิบายชัดเจนมาก

เขาบอกว่า ให้เลือกผิวสีเขียวเข้มลูบผิวแล้วเนียน ไม่ขรุขระ ลายเส้นเขียวๆ ที่ผิวเห็นเด่นชัด มีน้ำหนัก เลือกที่ลูกใหญ่เพราะแสดงถึงความสมบูรณ์สำคัญที่สุดคือ ขั้วต้องงอโค้ง ไม่ตรงสุดท้ายคือเอานิ้วดีดมีเสียงดังแปะๆ แน่นๆ แสดงว่าไส้ไม่ล้ม ยุงทดลองทำตาม ใช้ได้เลยค่ะ

การเลือกมะละกอ
มะละกอที่ดี ควรมีสีเหลืองทั้งลูก ผิวไม่มีรอยช้ำ เนื้อแข็ง

มาถึงผลไม้ที่ชาวชีวจิตกินเป็นประจำอย่าง “มะละกอ” เวลาจัดคอร์สสุขภาพต่างๆ ยุงจะมีหน้าที่เลือกมะละกอเป็นผลไม้หลักในคอร์ส ก็เลยนำวิธีสังเกตมาแบ่งปันกัน แนะนำให้เลือกลูกหนัก ๆ ผิวไม่มีรอยช้ำ ถ้ากินเลยก็ควรมีสีเหลืองทั้งลูก เนื้อต้องแข็ง ถ้าเก็บไว้กินอีกวันสองวัน ยุงจะเลือกที่สีเหลืองปนเขียวลูกรียาว แล้วห่อกระดาษไว้ก่อน ผิวจะได้เนียนสวย เท่านี้ก็ใช้ได้แล้ว

สุดท้าย “ส้มโอ” ยุงชอบกินมากก็เลยหาวิธีเลือกแบบที่เอากลับมาปอกที่บ้านแล้วไม่เสียใจ ส้มโอมีหลายพันธุ์แล้วแต่ใครชอบแบบไหน วิธีการเลือกก็จะคล้ายๆ กันคือ เลือกที่ผิวสีนวลออกเหลืองนิดๆ เปลือกบาง ถ้าเอามือกดที่ก้นจะนุ่มๆ ต่อมน้ำมันหรือตาน้ำบนผิวจะห่าง แปลว่าส้มโอแก่ได้ที่และผ่านการทิ้งให้ลืมต้นจนคลายความเปรี้ยวแล้ว

รวมถึงเลือกลูกที่มีน้ำหนัก หรือถ้าได้รับมาเป็นของฝากที่ผิวยังมีสีเขียวเข้มอย่าเพิ่งปอกนะคะ ทิ้งไว้สัก 2 – 3 วันก่อน แต่ในบรรดาผลไม้ทั้งหมดที่ยุงบอกมาส้มโอจะเก็บได้นานที่สุด ถึงเปลือกเหี่ยวแล้วก็ยังใช้ได้ค่ะ

ความจริงแล้วยังมีผลไม้อีกหลายชนิดแต่ยุงแนะวิธีเลือกผลไม้ลูกใหญ่ที่กินกันบ่อยๆ เพื่อคุณผู้อ่านจะได้ไม่อารมณ์เสียเวลาซื้อกลับมาที่บ้านแล้วเจอแบบยุง

จะได้รู้ว่าการเลือกผลไม้ถึงจะเห็นแค่เปลือกนอก (หนาๆ) ก็สามารถมองทะลุถึงเนื้อในได้ไม่ยาก หากเลือกเป็นค่ะ

 

จาก คอลัมน์ท้ายครัวป้ายุง  นิตยสารชีวจิต ฉบับ 407


บทความน่าสนใจอื่นๆ

คู่มือกินผักผลไม้ ปรับสมดุลแร่ธาตุ ฟื้นสุขภาพ ผู้ป่วยโรคไต

10 อาหาร สมุนไพร ผักผลไม้ ควรเลี่ยงเมื่อกินยา

ชีวจิตคิดให้ กินผัก กินผลไม้ ดิบ-สุก ประโยชน์ต่างกันอย่างไร

ติดตาม ชีวจิต ในช่องทางต่างๆ ได้ที่

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.