โรคมะเร็งตับอ่อน

เรื่องเล่าจากหมอ โรคมะเร็งตับอ่อน ภัยร้ายไม่คาดคิด (1)

โรคมะเร็งตับอ่อน โรคร้ายที่ไม่อยากเผชิญ

วันนี้คุณหมอชัญวลี ศรีสุโข คอลัมนิสต์ประจำนิตยสารชีวจิตหยิบยกเอาประสบการณ์ของผู้ที่ป่วยด้วย โรคมะเร็งตับอ่อน มาบอกเล่า และหวังว่าเรื่องเล่านี้จะมีประโยชน์ต่อผู้อ่านค่ะ

เครียด

 

บทเรียนจากมะเร็งตับอ่อน

“ชัตย์(นามสมมติ) เสียชีวิตแล้วนะ”  เสียงคนรู้จักรัวดังมาจากสายโทรศัพท์

“อ้าว เป็นอะไร เพิ่งเจอกัน 6 เดือนก่อนยังแข็งแรงดี” ฉันอุทานอย่างตกใจ  ชัตย์เป็นแพทย์ที่ฉันรู้จัก  อายุ55 ปี  มีลูก 2 คน  อาชีพรับราชการมีความรู้ทางการแพทย์ดีเยี่ยม  ใครๆก็รู้ว่าเขาเป็นคนดี  ทำงานเก่ง  มีฐานะ  อนาคตไกล  แถมยังแข็งแรง  ออกกำลังกายทุกวัน

“เป็นมะเร็งตับอ่อน ตั้งแต่รู้ เขาใจเสียมากไม่อยากให้ใครรู้ นอกจากคนในบ้าน เลยไม่มีใครได้ไปเยี่ยม มารู้อีกทีก็เสียแล้ว”

“โถ…ฟังแล้วใจหายจัง ทำไมไปเร็วอย่างนี้นะ” ฉันอุทานอีกครั้ง

เกริ่นอย่างนี้  คุณคงทราบแล้วว่า  มะเร็งเป็นโรคร้ายอันดับหนึ่งที่ได้สมญานามว่าเพชฌฆาตโหดโดยเฉพาะมะเร็งตับอ่อน

เพชฌฆาตนี้โหดอย่างไร

ตับอ่อน เป็นอวัยวะที่อยู่ในช่องท้องช่วงบน ลักษณะเป็นต่อมขนาดใหญ่อยู่ใต้กระเพาะอาหารส่วนที่ติดกับลำไส้เล็ก  ต่อมของตับอ่อนแบ่งเป็น 2 ชนิด  ได้แก่

ต่อมมีท่อ ทำหน้าที่สร้างน้ำย่อยช่วยย่อยอาหารโดยน้ำย่อยจะส่งผ่านท่อในตับอ่อนเข้าสู่ลำไส้เล็กส่วนต้น

ต่อมไร้ท่อ ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนหลายชนิด เช่น  อินซูลิน (insulin)  แล้วส่งเข้ากระแสเลือดช่วยเก็บน้ำตาลไว้สร้างพลังงานและควบคุมระดับน้ำตาลให้พอดี

มะเร็งตับอ่อนแบ่งเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆตามชนิดของต่อม  ส่วนใหญ่เกิดจากต่อมมีท่อ  เป็นชนิดอะดีโนคาร์ซิโนมา (Adenocarcinoma: มะเร็งชนิดต่อม)  ส่วนน้อยเป็นมะเร็งของต่อมไร้ท่อ (Islet cell neuroendocrine tumor)  เมื่อพูดถึงมะเร็งตับอ่อนจึงมักหมายถึงมะเร็งของต่อมมีท่อ

มะเร็งตับอ่อนแสดงอาการไม่ชัดเจน  ตรวจพบยาก  เพราะเป็นอวัยวะที่คลำไม่ได้  กว่าจะตรวจพบ  เวลาเฉลี่ยที่คนไข้มีอาการคือ 3 ปี  เมื่อตรวจพบ  มะเร็งตับอ่อนมักกระจายจากตับอ่อนไปแล้ว

ในประเทศสหรัฐอเมริกา  ปีพ.ศ. 2547  พบผู้ป่วยมะเร็งตับอ่อน 31,800 ราย  ภายในปีเดียวกันคนไข้กลุ่มนี้เสียชีวิต 31,200 ราย  แปลความหมายว่า  คนไข้ส่วนใหญ่รักษาไม่หายและมีชีวิตอยู่ไม่ถึงหนึ่งปีหลังจากได้รับการวินิจฉัย

อาการของมะเร็งตับอ่อน  ไม่ชัดเจน  ที่พบมาก ได้แก่

1. ปวดท้อง  พบร้อยละ 80 – 85 ของคนไข้ อาการคือ  ปวดท้องด้านบนร้าวไปถึงหลัง  โดยมักปวดตื้อๆแน่นๆ  ปวดเป็นครั้งๆ  และปวดมากขึ้นหากกินอาหาร

2. ตัวเหลือง  ตาเหลือง  ที่เรียกว่าดีซ่าน มักมาพร้อมกับอาการท้องเสีย  อุจจาระเป็นสีซีด มีไขมันปะปน  ปัสสาวะมีสีเหลืองเข้ม  คันตามตัว

3. กินไม่ลง  อิ่มง่าย  น้ำหนักลด  ผอม อืดท้อง  ผายลมบ่อย

อย่างไรก็ตาม  อาการทั้งสามข้อไม่จำเพาะเจาะจงว่าเป็นมะเร็งตับอ่อน  เพราะเป็นอาการของโรคอะไรก็ได้  เช่น  โรคกระเพาะอาหาร  กรดไหลย้อน  ตับอักเสบ  นิ่วในถุงน้ำดี  ฯลฯ

โรคมะเร็งตับอ่อน

ทำไมจึงเป็นมะเร็งตับอ่อน

คำถามนี้มีคนสงสัยมากมาย  หากเราทราบสาเหตุก็จะสามารถป้องกันและรักษาโรคได้  แต่มะเร็งตับอ่อนเป็นเพชฌฆาตโหด  ยังไม่ทราบสาเหตุว่าเป็นเพราะอะไร  โรคนี้พบมากในกลุ่มต่อไปนี้

• ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งตับอ่อน
• ผู้สูงอายุ
• ผู้ชายพบมากกว่าผู้หญิงในอัตราส่วน 1.3 ต่อ 1 คน
• ดื่มเหล้าจัด
• เคยเป็นตับอ่อนอักเสบ
• เป็นโรคเบาหวาน
• สูบบุหรี่

วินิจฉัยโรคมะเร็งตับอ่อนอย่างไร

แพทย์วินิจฉัยโดยการตรวจอัลตราซาวนด์  การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์  การส่องกล้องเข้าไปในกระเพาะอาหารและลำไส้ส่วนต้น  เพื่อตัดชิ้นเนื้อตับอ่อนไปตรวจ  หรือการผ่าตัดเปิดช่องท้องเพื่อตัดชิ้นเนื้อตับอ่อนไปตรวจ

มะเร็งตับอ่อนรักษาได้

การติดตามรักษามะเร็งตับอ่อนใช้วิธีตรวจเลือดหาสารเคมีมะเร็งชื่อ  ซีเอ 19-9 (CA 19-9)  ซึ่งค่าจะสูงขึ้นถึงร้อยละ 80 ในคนไข้มะเร็งตับอ่อน  และลดลงหากการรักษาได้ผลดี

หากโรคยังอยู่ในตับอ่อน  การรักษาโดยการผ่าตัดเป็นวิธีที่ดีที่สุดและได้ผลที่สุด  แต่ในกรณีที่ผ่าตัดไม่ได้หรือโรคลุกลามออกนอกตับอ่อนแล้วจะใช้รังสีบำบัดและเคมีบำบัด

พยากรณ์โรคมะเร็งตับอ่อนได้แค่ไหน

ดังที่เรียนให้ทราบว่า  โรคนี้ได้สมญานามว่าเป็นเพชฌฆาตโหด  ไม่ว่าการแพทย์จะก้าวหน้าหรือวิธีรักษามีประสิทธิภาพเพียงใด  การพยากรณ์โรคยังเรียกว่าแย่ (poor)  เพราะส่วนใหญ่พบโรคเมื่ออยู่ในระยะลุกลามหรือผ่าตัดไม่ได้แล้ว

ในกรณีที่ผ่าตัดไม่ได้  หากรักษาด้วยรังสีบำบัดหรือเคมีบำบัด  โอกาสรอดชีวิตภายใน 1 ปีมีเพียงร้อยละ 20  ส่วนภายใน 3 ปีแทบไม่มีเลย  และหากไม่สามารถรักษาด้วยวิธีใด  โอกาสรอดชีวิตภายใน 1 ปีมีเพียงร้อยละ 5

หากโชคดีโรคมะเร็งตับอ่อนไม่ลุกลาม  ผ่าตัดออกได้หมด  โอกาสรอดชีวิตภายใน 5 ปีมีร้อยละ 20  หากผ่าตัดได้หมด  แต่พบว่ามะเร็งกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือง  โอกาสรอดชีวิตภายใน 5 ปีมีเพียงร้อยละ 10

ตอนนี้ยังไม่ได้เล่าถึงบทเรียนจากมะเร็งตับอ่อนคงต้องติดตามกันในตอนหน้านะคะ


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ประสบการณ์สุขภาพ : เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ทั้งๆที่ชอบกินผัก

เตือนนิสัยกินบุฟเฟ่ต์-หมูกระทะ เสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

สาวๆ ควรทำอย่างไร เมื่อมีพันธุกรรมมะเร็ง “ปากมดลูก”

กุยช่าย ป้องกันมะเร็งคุณผู้ชาย

 

สามารถติดตาม ชีวจิต ในช่องทางอื่นๆ ได้ที่

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.