โรคมะเร็งตับ,มะเร็งตับ,มะเร็ง

ประสบการณ์สุขภาพ : เรื่องเล่าจากผู้ป่วยมะเร็งตับ (2)

เรื่องเล่าจาก ผู้ป่วยมะเร็งตับ (ตอนจบ)

มาติดตามกันต่อ กับประสบการณ์การเผชิญโรคร้ายกับ ผู้ป่วยมะเร็งตับ เล่าโดยแพทย์หญิงชัญวลี ศรีสุโข คนเดิมค่ะ

ชีวิตหลังผ่าตัด

กลับมาเล่าเรื่องคุณสุรัสสวจีต่อค่ะ เธอมีความสุขหลังผ่าตัดเอามะเร็งตับออกไปได้เพียงสองปี อยู่ดีๆก็พบว่ามีอาการตาเหลืองตัวเหลือง อ่อนเพลีย ผลการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์พบว่า มะเร็งตับกลับมาและแพร่กระจายเข้าไปในท่อน้ำดี กลายเป็นมะเร็งท่อน้ำดี

คุณสุรัสสวจีรักษาด้วยการให้เคมีบำบัด แต่เธอรู้สึกว่าอาการกลับทรุดลง กินอาหารไม่ได้อ่อนเพลียมาก ขณะเดียวกัน ก้อนมะเร็งก็ไม่ได้
ลดขนาดลง เธอจึงขอยุติการรักษาหลังจากรับเคมีบำบัดไปสองครั้ง

ญาติพี่น้องของคุณสุรัสสวจีพาเธอไปรักษาด้วยการแพทย์ทางเลือก เช่น สมุนไพร ฝังเข็มแต่อาการยังไม่ดีขึ้น เธอจึงหันไปพึ่งธรรมะ เข้า
วัดทำสมาธิ เมื่อไปวัดไม่ได้ ก็นิมนต์พระมาเทศน์ที่บ้านเป็นครั้งคราว ส่วนความเจ็บปวดทางร่างกายจะใช้แผ่นมอร์ฟีนแปะที่ผิวหนังระงับอาการปวด

แม้สังขารทรุดโทรมเพราะโรคภัยไข้เจ็บ แต่คุณสุรัสสวจีมีสติดี ไม่ทรมาน จนถึงวันสุดท้ายของชีวิต รวมเวลาที่เป็นมะเร็งตับนานประมาณสามปี

การตรวจวินิจฉัยมะเร็งตับ

เป็นการตรวจที่ยังไม่มีการคัดกรองเหมือนมะเร็งปากมดลูก ที่ทำให้ตรวจพบตั้งแต่ยังไม่มีอาการ อย่างไรก็ตาม คนกลุ่มเสี่ยง เช่น มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี เป็นตับแข็ง หรือดีซ่าน มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งตับ ควรเจาะเลือดหาสารเคมีของมะเร็งตับ ได้แก่ แอลฟาฟีโตโปรตีน (AFP: Alphafetoprotein) และตรวจอัลตราซาวนด์ตับดู

ข้อเสียคือ เมื่อพบมะเร็งมักเป็นมากแล้ว เพราะหากเป็นมะเร็งตับขนาดเล็ก สารแอลฟาฟีโตโปรตีนร้อยละ 50 มักแสดงค่าปกติ และการตรวจอัลตราซาวนด์ก็ไม่พบ

การรักษามะเร็งตับ

เมื่อพบมะเร็งตับ แพทย์จะแนะนำแนวทางรักษาต่างๆให้ผู้ป่วยและญาติเป็นผู้ตัดสินใจเลือก ซึ่งมีดังต่อไปนี้

1. การผ่าตัด เชื่อว่าเป็นวิธีเดียวที่ทำให้มะเร็งตับหายขาดแต่ก้อนมะเร็งต้องไม่ใหญ่ ไม่กระจายไปทั่วเนื้อตับ และผู้ป่วยต้องไม่มีอาการตับแข็งจนไม่เหลือเนื้อตับดีพอสำหรับดำรงชีวิต

2. การผ่าตัดปลูกถ่ายตับ เป็นทางเลือกของผู้ป่วยมะเร็งตับที่ไม่สามารถผ่าตัดออกได้หมด แต่ปัญหาคือปัจจุบันยังไม่มีตับเพียงพอสำหรับนำมาปลูกถ่าย ทั้งขาดแคลนศัลยแพทย์เฉพาะทาง หลังผ่าตัดปลูกถ่ายตับผู้ป่วยยังต้องรับยากดภูมิต้านทานร่างกายไปตลอด ซึ่งอาจ
ทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิต

3. การทำลายก้อนมะเร็งด้วยคลื่นวิทยุ ความร้อนความเย็น หรือคลื่นรังสีโปรตอน (Ablation Therapy) แต่ไม่อาจทำลายมะเร็งตับได้หมด

4. การฉีดสารเพื่ออุดเส้นเลือดแดงที่ไปเลี้ยงมะเร็งตับ

5. การให้เคมีบำบัด โดยฉีดเคมีบำบัดเข้าเส้นเลือดแดงที่ไปเลี้ยงมะเร็งตับ

6. การรักษาด้วยรังสี มีทั้งการฉายรังสีบริเวณท้องและการฉีดเม็ดรังสีเข้าเส้นเลือดแดงที่ไปเลี้ยงมะเร็งตับ (Radioembolization)

7. การรักษาด้วยรังสีศัลยกรรม เป็นวิธีใหม่ที่ทำโดยใช้เครื่องไซเบอร์ไนฟ์(Cyberknife) ยิงลำรังสีไปทำลายก้อนมะเร็งเฉพาะจุดที่ไม่สามารถผ่าตัดได้

โรคตับ,ไขมันเกาะตับ,มะเร็งตับ,ผู้ป่วยมะเร็งตับ
มะเร็งตับบางชนิด สามารถรักษาให้หายขาดได้

อัตราการรอดชีวิต

หากผ่าตัดออกได้หมด อัตรารอดชีวิตจากมะเร็งตับเป็นเวลา 5 ปีอยู่ที่ร้อยละ 30 – 60 หากผ่าตัดไม่ได้หรือโรคมะเร็งลุกลามออกนอกตับ อัตรารอดชีวิตเหลือน้อยกว่าร้อยละ 5

นอกจากนั้นการรอดชีวิตจากมะเร็งตับยังขึ้นอยู่กับ

1. ชนิดของมะเร็งตับ เช่น มะเร็งเซลล์ตับหรือไฟโบรลาเมลลาร์(Fibrolamellar) มีอัตรารอดชีวิตสูงมาก เพราะมีโอกาสผ่าตัดออกหมดและหายขาด

2. ระยะของมะเร็งตับ ถ้าถึงระยะที่มะเร็งแพร่กระจายออกนอกตับ โอกาสรอดชีวิตต่ำ

3. จำนวนก้อนและขนาดมะเร็งตับ หากกระจายทั่วตับหรือออกนอกตับ และมีจำนวนหลายก้อน หรือก้อนขนาดใหญ่เกิน 5 เซนติเมตร โอกาสรอดชีวิตต่ำ

4. อายุและความแข็งแรงของร่างกาย หากอายุมากหรือไม่แข็งแรง โอกาสรอดชีวิตต่ำ

5. ระดับของสารแอลฟาฟีโตโปรตีน หากมากกว่า 30 นาโนกรัม/ เดซิลิตร โอกาสรอดชีวิตต่ำ

6. กรณีเป็นมะเร็งท่อน้ำดีหรือถุงน้ำดี หากค่าสารเคมีซีอีเอ (CEA: Carcinoembryonic Antigen) มากกว่า 200 ไมโครกรัม/ลิตร โอกาสรอดชีวิตต่ำ


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

สยบ โรคไขมันแทรกตับ

งานวิจัยแนะนำ กินอาหารอย่างไร ไม่ให้เป็นไขมันพอกตับ

ประสบการณ์สุขภาพ : เรื่องเล่าจากผู้ป่วยมะเร็งตับ (1)

 

สามารถติดตาม ชีวจิต ในช่องทางอื่นๆ ได้ที่

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.