มะเร็งเต้มนมชนิดรุนแรง

ประสบการณ์สุขภาพ : เมื่อฉันเป็นมะเร็งเต้านมชนิดรุนแรง

จากคำบอกเล่าของผู้ป่วย มะเร็งเต้านมชนิดรุนแรง

วันนี้เราขอหยิบยกเอาประสบการณ์สุขภาพของผู้หญิงแกร่งคนหนึ่ง ซึ่งพบว่าตัวเองป่วยเป็นโรค มะเร็งเต้านมชนิดรุนแรง แต่ด้วยกำลังใจที่มีทำให้เธอไม่ย่อท้อ และตัดสินใจสู้กับมัน เธอคนนี้ได้เล่าเรื่องราวของตนเองไว้ในนิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 442 มาอ่านเรื่องของเธอกันค่ะ

ในวันที่ฉันเป็นมะเร็ง

คุณติ๊ก – พิริยาอร จุไรรัตนาภรณ์ วัย 54 ปี เล่าย้อนไปเมื่อกว่า 10 ปีก่อน ตอนที่เธอเริ่มมีอาการเป็นหวัดและปวดท้องบ่อยครั้ง แต่เพราะเคยชินกับสุขภาพที่ไม่ค่อยแข็งแรงมาตั้งแต่เด็กจึงไม่คิดอะไรมาก พอนานวันเข้าอาการปวดท้องก็เริ่มรุนแรง จนหมอที่รักษาถึงกับขอผ่าตัดเปิดหน้าท้องเพื่อตรวจหาสาเหตุ แต่ท้ายที่สุดก็ไม่พบ

“วันหนึ่งฉันคลำพบก้อนเนื้อที่เต้านมขวาเข้าโดยบังเอิญ พอไปตรวจที่โรงพยาบาลอีกครั้งคุณหมอได้คลำก้อน สันนิษฐานทันทีว่าน่าจะเป็นก้อนมะเร็ง และขอตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ

“…แต่ตอนนั้นไม่รับรู้แล้วค่ะ พอได้ยินคำว่า ‘มะเร็ง’ สมองก็ชาทันทีเหมือนหยุดทำงาน”

ไม่ผิดอย่างที่คาด ผลตรวจที่ออกมาระบุว่า เธอป่วยเป็นมะเร็งเต้านมชนิดรุนแรงเรียกว่าเฮอร์ทู (Human Epidermal Growth Factor Receptor : HER2 Positive) เข้าสู่ระยะที่ 3 ต้องเลือกว่าจะตัดเต้านมข้างขวาทั้งหมด หรือเพียงคว้านเนื้อบริเวณนั้นออกเมื่อคุณติ๊กคิดอะไรไม่ออก สามีของเธอจึงช่วยตัดสินใจ

“ตั้งแต่มีอาการผิดปกติ สามีก็ไปพบหมอด้วยเสมอ เขาจึงตอบโดยไม่ลังเลว่าให้ตัดเต้านม เพราะเชื่อว่าวิธีนี้รักษาชีวิตเราได้ ฉันก็ตอบตกลงตามนั้น แต่สภาพจิตใจแย่มาก เริ่มคิดถึงเรื่องน่ากลัวและความตาย

“จนเมื่อกลับบ้านมาเห็นหน้าลูก น้องหลิง (นางสาวพัชร์ศิกร จุไรรัตนาภรณ์) เพิ่งเรียนชั้นป.5 ส่วนน้องเจิน (นางสาวดลนภา จุไรรัตนาภรณ์ ) อยู่ป.3 (ในตอนนั้น) ลูกยังเล็กมาก เราต้องสู้เพื่อลูก”

มะเร็งเต้านมชนิดรุนแรง

ชนะความทรมานด้วยอ้อมกอด

หลังผ่าตัด คุณติ๊กต้องรับเคมีบำบัดชนิดแรง 8 ครั้ง ต่อด้วยการฉายแสง 25 ครั้ง ซึ่งผลข้างเคียงจากการรับเคมีบำบัดและฉายแสงทำให้เธอมีอาการผมร่วง ปากเปื่อย เล็บดำ อาเจียน และรู้สึกอ่อนเพลียมาก

“ไม่เคยคิดว่าชีวิตจะเจอความทรมานขนาดนี้ ขาเข้าไปฉายแสงเราเดินเข้าไป แต่ขาออกแทบจะคลานออกมา ทุกเช้าที่ตื่นมาจะคิดถึงแต่ตัวเองค่ะ รู้สึกทรมานจนไม่อยากสู้ต่อ แต่พอตกเย็นตอนลูกๆ กลับบ้าน รีบอาบน้ำให้ตัวสะอาด แล้วเข้ามากอดตัวหอมๆของลูก เป็นเหมือนเครื่องเตือนสติให้เราสู้ต่อ ไม่ยอมแพ้”

นอกจากหัวใจจะถูกเติมเต็มจากอ้อมกอดแล้ว ความมุ่งมั่นของเด็ก ๆยังสร้างกำลังใจให้คุณติ๊กอีกด้วย

“เมื่อก่อนนี้ลูกสาวทั้งสองคนจะเป็นเด็กเรื่อยๆ ติดจะไม่กระตือรือร้น แต่พอเห็นแม่ป่วยหนัก ลูกก็เปลี่ยนไป ทั้งว่าง่าย ไม่ดื้อ ผลการเรียนดีขึ้นเมื่อบวกกับสามีซึ่งเคยชอบสังสรรค์ก็หันมาทุ่มเทเวลาให้เราทั้งหมด ฉันเลยรู้ว่า ต้องสู้เพื่อมีชีวิตอยู่ต่อให้ทรมานแค่ไหน จะอดทน และไม่ทิ้งคนที่รักและเคียงข้างเรา

“ที่น่าประทับใจอีกอย่างคือ หลังจากหมอวินิจฉัยว่าฉันหายแล้ว แต่ลูกและสามียังคงทำตัวเสมอต้นเสมอปลายไม่เปลี่ยน มีครั้งหนึ่งน้องหลิงสอบชิงทุนได้เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ประเทศแคนาดาตอนอยู่ชั้นม.5 ฉันไม่รู้เลยว่าก่อนสอบลูกนอนร้องไห้ทุกคืนไม่อยากไป ทั้งกลัวการใช้ชีวิตในต่างแดนและกลัวว่าขณะที่ไม่อยู่แม่อาจป่วยอีก แต่เพราะรู้ว่าเป็นความฝันของแม่จึงทำจนสำเร็จ ทั้งสงสารและขอบใจลูกมากๆค่ะ”

จนวันหนึ่งสามีของเธอต้องจากไปกะทันหันด้วยอาการเลือดออกในกระเพาะ เธอจึงต้องทำหน้าที่ใหม่ คือ การเป็นหัวหน้าครอบครัว

ต้องอยู่ให้ได้อย่างเข้มแข็ง

“ตอนสามีจากไปเสียใจมากค่ะ เพราะเขาดูแลเราจนลืมดูแลตัวเอง ทำให้รู้สึกเหงาและเคว้งคว้างมาก

“แต่พอหันไปมองลูกสาวสองคนที่เพิ่งเรียนจบ กำลังเติบโตเป็นผู้ใหญ่และต้องการหลักนำทาง จึงบอกตัวเองให้เข้มแข็ง อยู่เป็นหลักให้ลูก และไม่ยอมเป็นอะไรจนกว่าจะได้เห็นเขามีชีวิตที่ดีตลอดรอดฝั่ง”

จึงเป็นที่มาของการดูแลตัวเอง ออกกำลังกายด้วยการรำกระบองหรือเดินในสวนสาธารณะ ทำอาหารประเภทผักที่ทั้งอร่อยและดีต่อสุขภาพกินเองทุกมื้อ

…ทั้งหมดก็เพื่อให้ได้อยู่กับคนที่เธอรักให้นานที่สุดเท่าที่ร่างกายจะทำได้นั่นเอง


บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

เหตุผลต้องรู้ ก่อนตรวจหายีน มะเร็งเต้านม

ประสบการณ์สุขภาพ : สาวใจสู้ รักษามะเร็งเต้านมให้หายขาด

4 ข้อเท็จจริง “มะเร็งเต้านม” ที่น้อยคนจะรู้

สูตรป้องกันมะเร็งเต้านม ฉบับใช้ได้ตลอดชีวิต

 

 

 

 

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.