ข้าวกล้อง รักษาโรค

10 อาหารคู่ ข้าวกล้อง รักษา 10 โรคฮิตคนไทย

2. ข้าวกล้อง + ยำมะระขี้นก แก้โรคเบาหวาน

ข้าวกล้อง มีใยอาหารสูง ช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำตาลในเลือด โดยใยอาหารทำหน้าที่เหมือนแผ่นกั้นบางๆ ในลำไส้เล็ก ทำให้น้ำตาลถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดช้าลง

ฉะนั้นข้าวกล้องจึงเหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ต้องการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ แต่ไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่เป็นโรคไตร่วมด้วย เพราะไตไม่สามารถขับของเสียหรือสารอาหารส่วนเกินได้ตามปกติ หากกินข้าวกล้องอาจทำให้ไตทำงานหนักขึ้นและเสี่ยงโรคแทรกซ้อน

แม้การกินข้าวกล้องทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มช้ากว่ากินข้าวขัดขาว แต่หากผู้ป่วยโรคเบาหวานกินมากเกินไปก็สามารถทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงได้ เพราะข้าวกล้องมีคาร์โบไฮเดรตเป็นส่วนประกอบหลัก หลังจากถูกย่อยจะกลายเป็นน้ำตาล ฉะนั้นผู้ป่วยโรคเบาหวานควรขอคำแนะนำจากแพทย์ พยาบาล นักกำหนดอาหาร หรือนักโภชนาการ ถึงปริมาณที่ควรกินเพื่อให้เหมาะสมกับปริมาณยาที่กินหรือฉีดและสภาวะของแต่ละบุคคล

การกินข้าวกล้อง ช่วยลดความเสี่ยงโรคเบาหวาน และควบคุมระดับน้ำตาลได้ผลเป็นทวีคูณเมื่อกินร่วมกับผักที่มีใยอาหารสูง เช่น ถั่วลันเตา ผักกระเฉด ผักบุ้ง ผักกูด ผักคะน้า ผักเหลียง ผักหวาน มะระขี้นก โดยเฉพาะมะระขี้นกที่มีรายงานชัดเจนว่า ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีทั้งในสัตว์ทดลองและคน โดยการทดลองหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Planta Medica พบว่า หลังจากกินสารสกัดจากผลและเมล็ดมะระขี้นก ระดับน้ำตาลในเลือดของหนูทดลองลดลงภายในเวลา 15 – 45 นาที สำหรับการทดลองในคนพบว่าช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงภายใน 1 ชั่วโมง

ข้าวกล้องกับยำมะระขี้นก แก้โรคเบาหวาน

ยำมะระขี้นกกุ้งสด ต้านเบาหวาน

ส่วนผสม (สำหรับ 2 ที่)

มะระขี้นก 8 – 10 ลูก กุ้งสดลวก 10 ตัว

กระเทียมจีนฝานเป็นแผ่นบาง 6 กลีบ หอมเล็กซอย 5 หัว

ขึ้นฉ่าย ½ ถ้วย น้ำมะนาว 2 ช้อนโต๊ะ

น้ำปลา 2 ช้อนโต๊ะ น้ำตาลทรายแดง ½ ช้อนชา

พริกขี้หนูซอยปริมาณตามชอบ

วิธีทำ

1. ผ่ามะระขี้นกตามยาว ขูดเมล็ดและผิวด้านในออก จากนั้นหั่นตามขวางหนาประมาณ 2 มิลลิเมตร โรยเกลือให้ทั่ว คลุกเคล้าให้เข้ากัน พักไว้ 10 นาที จากนั้นล้างออกด้วยน้ำสะอาด 2 – 3 ครั้ง บีบน้ำออกพอหมาด พักไว้

2. ปอกเปลือกกุ้ง ผ่าหลังเอาไส้ออก ลวกจนสุก เก็บน้ำที่ได้จากการลวกกุ้งพักไว้

3. ผสมน้ำมะนาว น้ำปลา น้ำตาลทรายแดง คนให้เข้ากันจนน้ำตาลละลาย

4. วางมะระขี้นกในชามผสม ใส่กุ้ง กระเทียม หอมแดง ขึ้นฉ่าย พริกขี้หนูซอย ราดด้วยน้ำยำและน้ำลวกกุ้งทีละน้อย เคล้าให้เข้ากัน เมื่อได้รสตามชอบ จัดใส่จานเสิร์ฟ

 

3. ข้าวกล้อง + ชาดอกกระเจี๊ยบ ลดความดัน

การกินข้าวกล้องร่วมกับอาหารที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุโพแทสเซียมช่วยควบคุมความดันโลหิต โดยแนะนำให้กินผักที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น ฟักทอง แครอต มะเขือเทศ บรอกโคลี มะระขี้นก มะเขือเปราะ ตบท้ายด้วยผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น แก้วมังกร ส้ม ฝรั่ง มะละกอ

พร้อมหลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นสาเหตุของโรคความดันโลหิตสูง เช่น อาหารรสเค็ม อาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น อาหารสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง อาหารใส่ผงชูรส ขนมขบเคี้ยว เนื้อสัตว์แปรรูปต่างๆ เช่น แฮม เบคอน ไส้กรอก

นอกจากนี้อาจเลือกเสริมเครื่องดื่มที่มีสรรพคุณช่วยลดความดันโลหิต เช่น ชาดอกกระเจี๊ยบแดง ซึ่งพิสูจน์โดยทีมวิจัยของ Jean Mayer USDA Human Nutrition Research Center on Aging มหาวิทยาลัยทัฟส์ (Tufts University) ประเทศสหรัฐอเมริกา ว่าช่วยลดความดันโลหิตได้

โดยหลังจากอาสาสมัคร 65 คน อายุระหว่าง 30 – 70 ปี ดื่มชาดอกกระเจี๊ยบวันละ 3 แก้ว ต่อเนื่องเป็นเวลา 6 สัปดาห์ (ปริมาณแก้วละ 240 มิลลิลิตร) พบว่า ค่าความดันโลหิตตัวบนลดลงเฉลี่ย 7.2 มิลลิเมตรปรอท และความดันโลหิตตัวล่างลดลงเฉลี่ย 3.1 มิลลิเมตรปรอท โดยนักวิจัยอ้างถึงข้อมูลจากการศึกษาก่อนหน้านี้และสรุปว่า ชาดอกกระเจี๊ยบมีคุณสมบัติคล้ายยาขับปัสสาวะซึ่งให้ผลในการลดความดันโลหิตได้

อีกการศึกษาหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Ethnopharmacology ทดลองให้ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง (ค่าความความดันโลหิต 160-180/100-114 มิลลิเมตรปรอท) ดื่มชาดอกกระเจี๊ยบแดงวันละครั้งต่อเนื่อง 12 วัน พบว่า ช่วยให้ความดันโลหิตตัวบนและตัวล่างลดลงถึง 11.2 เปอร์เซ็นต์ และ 10.7 เปอร์เซ็นต์

วิธีชงชาดอกกระเจี๊ยบ

ผสมชาดอกกระเจี๊ยบแดง 2 ช้อนโต๊ะกับน้ำสะอาด 1 แก้ว (250 มิลลิลิตร) ต้มนาน 2 – 3 นาที กรองเฉพาะน้ำดื่ม

 

 

<< อ่านต่อหน้าที่ 3 >>

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.