รังไข่ ดูแลรังไข่ มดลูก มะเร็งรังไข่ อวัยวะเพศหญิง

ไม่มี รังไข่ ทำแก่ง่าย โรคร้ายรุม จริงหรือ

ข้อดีของการตัดรังไข่ทั้งสองข้าง

  1. ลดการเกิดมะเร็งรังไข่ สถิติพบว่า ตลอดชีวิตของผู้หญิงมีโอกาสเกิดมะเร็งรังไข่ร้อยละ 1.4 แต่หากมีพันธุกรรมในการเกิดมะเร็งรังไข่ เช่น มียีน BRCA1 หรือ BRCA2 มีโอกาสเกิดมะเร็งรังไข่ร้อยละ 13 – 46 หากมีพันธุกรรมมะเร็งในครอบครัว (Lynch Syndrome) มีโอกาสเกิดมะเร็งรังไข่ร้อยละ 3 – 14 การตัดรังไข่ออกทั้งสองข้างจึงลดโอกาสเกิดมะเร็งรังไข่ได้ถึงร้อยละ 99.4
  2. ลดการเกิดมะเร็งเต้านม งานวิจัยหลายชิ้นพบว่า การตัดรังไข่สองข้างเมื่ออายุต่ำกว่า 40, 45, 47.5 ปี ช่วยลดการเกิดมะเร็งเต้านม เหตุผลเพราะ เป็นการลดฮอร์โมนเพศหญิง ที่เป็นสาเหตุกระตุ้นให้เกิดมะเร็งเต้านม ในคนที่ยังไม่หมดประจำเดือนนั่นเอง
  3. ลดการผ่าตัดซ้ำ ร้อยละ 3 – 4 ของคนที่ไม่ตัดรังไข่ต้องผ่าตัดซ้ำภายใน 5 ปีเพื่อเอารังไข่ออกจากอาการปวดท้องเรื้อรัง และรังไข่ที่เหลืออาจกลายเป็นถุงน้ำ เป็นเนื้องอก หรือเป็นมะเร็งรังไข่ได้

 

ข้อเสียของการตัดรังไข่ทั้งสองข้าง

1. เพิ่มความเสี่ยงในการผ่าตัด เช่น ทำให้ผ่าตัดนานขึ้น เสียเลือดมากขึ้น แต่จะเกิดขึ้นเฉพาะในการผ่าตัดมดลูกออกทางช่องคลอด และตัดรังไข่ร่วมด้วยในกรณีมดลูกหย่อน

2. มีอาการวัยทองรุนแรงกว่าการหมดฮอร์โมนตามธรรมชาติ เช่น อาการร้อนวูบวาบ หงุดหงิด ซึมเศร้า ช่องคลอดแห้ง เจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์ แต่อาการจะดีขึ้นเมื่อได้รับฮอร์โมนเอสโทรเจนทดแทน

3. เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพระยะยาว แต่จะไม่เพิ่มความเสี่ยงหากคนไข้ได้รับฮอร์โมนเอสโทรเจนทดแทนหลังผ่าตัด โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

3.1 เสี่ยงอายุสั้น ในคนที่อายุต่ำกว่า 50 ปี จะเสี่ยงเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอด โรคมะเร็งลำไส้และทวารหนัก

โรคหัวใจและหลอดเลือด ฯลฯ มากกว่าคนทั่วไป 1.1 – 1.4 เท่า

3.2 โรคหัวใจและหลอดเลือด ในคนที่อายุต่ำกว่า 50 ปี มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคนี้สุงกว่าคนที่ผ่าตัดหลัง อายุ 50 ปี 4.55 เท่า

3.3 ความจำเสื่อม ในคนที่อายุต่ำกว่า 48 ปี เสี่ยงเกิดโรคสมองเสื่อม (Dementia) โรคสันนิบาต (Parkinson) สูงกว่าคนที่ไม่ผ่าตัด 1.89 เท่า

3.4 ต้อหิน (Glaucoma) ในคนที่อายุต่ำกว่า 43 ปี มีโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นต้อหินสูงกว่าคนที่ไม่ตัดรังไข่ทั้งสองข้าง 1.6 เท่า

3.5 กระดูกพรุน การหมดประจำเดือนตามธรรมชาติ และการตัดรังไข่ทั้งสองข้าง เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกพรุนและกระดูกหัก 1.3 – 1.9 เท่า

รังไข่
หากไม่จำเป็นไม่ควรตัดรังไข่ แต่การเป็นโรคบางโรคก็จำเป็นที่จะต้องตัดรังไข่

คำแนะนำเพื่อพิจารณาตัดรังไข่ในคนอายุน้อยกว่า 51 ปี

1. ไม่จำเป็นไม่ควรตัดรังไข่

ยกเว้นกรณีต่อไปนี้

1.1 เป็นโรค เช่น ช็อกโกแลตซีสต์ ฝีหนองรังไข่ ปวดอุ้งเชิงกรานเรื้อรังจากพังผืดรังไข่

1.2 เป็นมะเร็งรังไข่ เป็นมะเร็งกระจายมายังรังไข่

1.3 เสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร็งรังไข่และมะเร็งเต้านม โดยการตรวจพบยีนเสี่ยง

2. ในคนทั่วไปหากต้องตัดรังไข่ ควรตัดออกเมื่ออายุมากกว่า 51 ปี หากต้องตัดในอายุต่ำกว่า 51 ปี ควรรับฮอร์โมเอสโทรเจนทดแทน (หากไม่มีข้อห้าม) จนถึงอายุ 51 ปี

3. ควรดูแลสุขภาพ ออกกำลังกาย ตรวจร่างกายเป็นประจำ และพบแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติ

 

จาก คอลัมน์เปิดห้องหมอสูติ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 462


บทความน่าสนใจอื่นๆ

ครบเครื่องเรื่อง มะเร็งรังไข่ ที่คุณผู้หญิงควรรู้ไว้ รับมือได้แน่นอน

ป้องกัน มะเร็งรังไข่ อย่างไร เรียนรู้ก่อนจะสาย

ติดตาม ชีวจิต ในช่องทางต่างๆ ได้ที่

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.