วิตามิน, วิตามินล้างพิษ, สูตรวิตามินธรรมชาติ, สูตรวิตามินเสริม

วิตามินล้างพิษ ช่วยสุขภาพดี หัวจรดเท้า ตอนที่ 2

วิตามินแก้ปวดศีรษะ จากไมเกรน

ศีรษะเป็นอวัยวะที่มักพบอาการผิดปกติอยู่เสมอ อาจารย์สาทิสอธิบายถึงอาการผิดปกติบริเวณศีรษะซึ่งมีสาเหตุจากท็อกซินไว้ในหนังสือ เรื่องของภูมิชีวิตสำนักพิมพ์คลินิกสุขภาพ สรุปได้ว่า

CHECKLIST

อาการผิดปกติของศีรษะจากท็อกซินภายในร่างกาย

  1. ปวดหัวเป็นครั้งคราว มีอาการปวดเมื่อเกิดความกดดันหรือความตึงเครียด
  2. ปวดไมเกรนอย่างรุนแรง มีอาการปวดตุบ ๆ ทันทีทันใด ปวดหัวข้างเดียว บางครั้งมีอาการตามืดมัว
  3. ปวดศีรษะและมีไข้ หน้าชา อาจเกิดจากเส้นเลือดในสมองแตกหรือเกิดการอักเสบ

อาการผิดปกติของศีรษะจากท็อกซินภายนอก

  1. ปวดศีรษะเวลาเดียวกัน (มีเวลาแน่นอน) ทุกวัน และไม่ใช่เราปวดคนเดียว คนรอบข้างก็มีอาการเหมือนกัน
  2. มีอาการปวดไมเกรนระดับปานกลาง คือปวดแบบเป็นจังหวะสม่ำเสมอ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับอารมณ์หรือความเครียด อาจจะเกิดจากการดื่มเหล้า หรือแพ้ยาบางชนิด
  3. ปวดศีรษะและกล้ามเนื้อคอ บ่า ไหล่ อาจเกิดจากการสูดควันพิษ
  4. ผมร่วงทันทีทันใด อาจเกิดจากการสูดควันพิษ ได้รับการฉายรังสีหรือเคมีบำบัด
วิตามิน, แก้ปวดศีรษะ, ไมเกรน, วิตามินล้างพิษ, สูตรวิตามินธรรมชาติ, สูตรวิตามินเสริม
วิตามินบางชนิด สามารถกินเสริม บรรเทาอาการปวดศีรษะได้

ไลฟ์สไตล์ก่อท็อกซิน

จะเห็นได้ว่า อาการผิดปกติสำคัญบริเวณศีรษะนั้นคือ โรคไมเกรน โดยเฉพาะคนทำงานมีความเสี่ยงสูงที่จะต้องเผชิญกับอาการปวดหัวไมเกรน อาการปวดหัวเรื้อรังแสนทรมานที่เกิดขึ้นนานหลายชั่วโมงร่วมกับอาการพะอืดพะอม คลื่นไส้อาเจียน

American Council for Headache Education ให้ข้อมูลว่า อาการปวดหัวไมเกรนเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ เช่น ความเครียด ความกดดันในการทำงานชีวิตที่เร่งรีบจนทำให้ต้องงดอาหารมื้อใดมื้อหนึ่งพฤติกรรมทำงานจนลืมนอน อดอาหารหรือออกกำลังกายหนักจนเกินไปเพื่อลดหุ่น

นอกจากนี้ยังพบว่า การกินอาหารบางชนิดซ้ำๆ อาจมีผลกระตุ้นให้เกิดอาการปวดหัวไมเกรนได้เช่นกันโดยอาหารที่ควรระวัง เช่น กาแฟ โกโก้ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกาเฟอีน นมช็อกโกแลต เนยแข็งชนิดต่างๆ ขนมปังที่หมักด้วยยีสต์ เค้ก คุกกี้ โดนัท พิซซ่า ขนมปังและขนมปังกรอบที่มีส่วนผสมของเนยแข็ง ขนมอบที่มีส่วนประกอบของช็อกโกแลต ผงชูรส อาหารแช่แข็ง อาหารหมักดอง อาหารแปรรูป

VITAMIN GUIDE

นอกจากหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง อาจารย์สาทิสแนะนำให้ปรับเปลี่ยนวิธีกินควบคู่ไปกับการรักษาทางแผนปัจจุบัน โดยเริ่มจากลดน้ำตาลขัดขาวของหวาน น้ำอัดลม กาแฟ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด

จากนั้นงดอาหารประเภทเนื้อ นม ไข่ อาจเปลี่ยนมากินอาหารมังสวิรัติหรืออาหารเจชั่วคราว หากเลือกกินอาหารเจ ควรงดเนื้อเทียมร่วมด้วย เพราะบางคนแพ้ กินแล้วไม่ย่อย ทำให้เกิดท็อกซินในร่างกาย ส่งผลให้มีอาการปวดศีรษะมากขึ้น หรือหันมากินตามสูตรอาหารชีวจิต โดยเว้นเนื้อสัตว์ในช่วง 2 สัปดาห์แรก และหลังจากนั้นสามารถกินเนื้อปลาเพิ่มได้สัปดาห์ละ 1 – 2 ครั้ง

ส่วนวิตามินเสริม อาจารย์สาทิสแนะนำดังนี้

  • วิตามินบีคอมเพล็กซ์ 100 มิลลิกรัม 1 เม็ด เวลาเช้า
  • วิตามินบี 3 หรือไนอะซินนาไมด์ 100 มิลลิกรัม 1 เม็ด 3 เวลาหลังอาหาร
  • โคโลไมต์ (แคลเซียมและแมกนีเซียม) 1 เม็ด หลังอาหารเช้าและเย็น

 

วิตามินช่วยลดอ้วน บอกลาไขมันช่องท้อง

ช่องท้องนั้นประกอบด้วยอวัยวะหลายส่วน อาการที่พบบ่อย คือ การปวดบริเวณช่องท้องซึ่งเกิดจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการอักเสบของกระเพาะอาหาร เกิดการสะสมของไขมันในช่องท้องจนเกิดโรคเรื้อรังตามมา ซึ่งอาจารย์สาทิสแนะนำวิธีสังเกตอาการผิดปกติเบื้องต้นว่า

CHECKLIST

อาการผิดปกติของช่องท้องจากท็อกซินภายใน

  1. ปวดท้อง จากหน้าท้องไปจนถึงหลัง คลื่นไส้ อาเจียน อาจเกิดจากการอักเสบของตับอ่อน

อาการผิดปกติของช่องท้องจากท็อกซินภายนอก

  1. ปวดท้องและหมดแรง นอนไม่หลับ ตาพร่ามัวอาจได้รับก๊าซพิษคาร์บอนไดซัลไฟด์จากการทำงานด้านอุตสาหกรรม

วิตามินล้างพิษ ลดความอ้วน ลดไขมัน

วิตามิน, วิตามินล้างพิษ, ลดความอ้วน, ลดไขมัน, สูตรวิตามินเสริม
กินกรดไขมันโอเมก้า-3 วันละ 2 – 4 กรัม ช่วยลดไขมันในเลือด

 

ไลฟ์สไตล์ก่อท็อกซิน

ผลการวิจัยจากวารสาร Diabetology & Metabolic Syndrome ยืนยันว่า อาชีพที่เคลื่อนไหวร่างกายน้อย มีความเสี่ยงเป็นโรคอ้วนลงพุงสูงกว่าอาชีพที่มีกิจกรรมทำตลอดวัน โดยนักวิจัยเก็บข้อมูลจากผู้ชายชาวเยอรมัน 143 คน เปรียบเทียบระหว่างอาชีพพนักงานออฟฟิศกับพนักงานดับเพลิง

เป็นไปตามคาดหมาย พนักงานออฟฟิศซึ่งทำงานนั่งโต๊ะเป็นส่วนใหญ่ มีเส้นรอบเอวมากกว่าพนักงานดับเพลิงที่เคลื่อนไหวร่างกายตลอดเวลาขณะผจญเพลิง นอกจากนี้ยังพบว่า พนักงานออฟฟิศส่วนใหญ่มีระดับไตรกลีเซอไรด์ ไขมันร้ายในเลือด ค่าดัชนีมวลกาย (ดัชนีชี้วัดความอ้วน) และระดับความดันโลหิต สูงกว่าพนักงานดับเพลิงอีกด้วย โดยพบว่า พนักงานออฟฟิศเป็นโรคอ้วนลงพุงร้อยละ 33 ในขณะที่พนักงานดับเพลิงเป็นโรคอ้วนลงพุงร้อยละ 14

โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ข้อมูลผ่านหนังสือ ความรู้เรื่องโรคอ้วนลงพุง ว่า โรคอ้วนลงพุง หรือ Metabolic Syndrome หมายถึง กลุ่มโรคที่เกิดจากการเผาผลาญอาหารผิดปกติ ทำให้มีการสะสมไขมันบริเวณเอวหรือช่องท้องปริมาณมากเกินไป

ไขมันเหล่านี้จะแตกตัวเป็นกรดไขมันอิสระเข้าสู่ตับ มีผลให้อินซูลินมีประสิทธิภาพลดลง เกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน นอกจากนี้ยังส่งผลให้เกิดโรคไขมันในเลือดผิดปกติ ความดันโลหิตสูง ตามมาด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อร่างกายหลายระบบ

พฤติกรรมเสี่ยงของโรคนี้นอกจากการเคลื่อนไหวร่างกายระหว่างวันน้อย ยังเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ไม่ออกกำลังกาย กินอาหารพลังงานสูง อาหารหวาน มัน เค็ม เป็นประจำ มีปัญหาสุขภาพที่ทำให้อ้วนง่าย เช่น โรคของต่อมไทรอยด์หรือรังไข่ ผลจากยาบางชนิด เช่น ยากันชัก ยารักษาโรคซึมเศร้า อายุที่มากขึ้นทำให้ระบบเผาผลาญของร่างกายลดลง การอดนอนจนทำให้ระดับอินซูลินที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ

VITAMIN GUIDE

ผู้ที่เป็นโรคอ้วนลงพุงนอกจากพบว่า ผู้ชายมีเส้นรอบเอวมากกว่า 90 เซนติเมตรขึ้นไป และผู้หญิงมีเส้นรอบเอวมากกว่า 80 เซนติเมตรขึ้นไปแล้ว ยังพบปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพอื่นๆ เช่นระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์สูง ระดับคอเลสเตอรอลดีชนิดเอชดีแอลต่ำ ความดันโลหิตสูงระดับน้ำตาลในเลือดสูง

อันดับแรกจึงแนะนำให้ควบคุมอาหารและออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพราะน้ำหนักทุกกิโลกรัมที่ลดลงไม่เพียงช่วยลดพุง แต่ยังช่วยลดความเสี่ยงปัญหาสุขภาพต่างๆ อีกด้วย

สำหรับผู้ที่มีระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์สูงสมาคมโรคหัวใจ ประเทศสหรัฐอเมริกา แนะนำให้กินปลาทะเลหรือเสริมด้วยกรดไขมันโอเมก้า - 3 ที่มีส่วนประกอบของอีพีเอ (EPA) และดีเอชเอ(DHA) ที่สกัดจากปลาทะเลวันละ 2 – 4 กรัมเพื่อช่วยลดไขมันในเลือด

หากมีความดันโลหิตสูงร่วมด้วย แนะนำให้กินผักและผลไม้ที่มีโพแทสเซียมและแมกนีเซียมสูง เช่น มะระขี้นก แตงกวา กล้วย แก้วมังกรเพราะโพแทสเซียมมีผลช่วยขับโซเดียม ช่วยขยายหลอดเลือด ทำให้ความดันโลหิตลดลง ส่วนแมกนีเซียมหากมีมากในเลือด จะช่วยลดการหดตัวของหลอดเลือดและกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandin) ซึ่งเพิ่มการขยายตัวของหลอดเลือด ทำให้ความดันโลหิตต่ำลง

นอกจากนี้แนะนำให้กินธัญพืชที่มีใยอาหารสูง เช่น ข้าวกล้อง แทนข้าวขาว หลีกเลี่ยง แป้งและน้ำตาลขัดขาว เพื่อชะลอการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำตาลในเลือด เป็นการลดความเสี่ยงโรคเบาหวาน

 

 

<< อ่านต่อหน้าที่ 3 >>

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.