เบาหวาน, ของหวาน, โรคแทรกซ้อน, ป้องกันเบาหวาน, ผู้ป่วยเบาหวาน

วิธีตัดวงจรโรคแทรกซ้อน เพื่อคน เบาหวาน สุขภาพเลิศ

โรคแทรกซ้อนกับอวัยวะส่วนล่าง

เมื่อป่วยเป็นโรคเบาหวาน เลือดซึ่งเต็มไปด้วยน้ำตาลปริมาณสูงจะรุกล้ำมายังอวัยวะส่วนล่างอย่างต่อเนื่อง หากปล่อยทิ้งไว้ ก็จะเกิดโรคแทรกซ้อนที่ขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ป้องกันขาขาดเลือด ลดตัดขาคนเบาหวาน

“ทุก 1 ปี 1 ล้านเท้าถูกตัดเพราะเบาหวาน”

คำกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะสถิติของสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯพบว่า ผู้ป่วยเบาหวานที่ป่วยนานตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไปมีสิทธิ์ถูกตัดขาสูงถึงร้อยละ 11 และผู้ที่ถูกตัดไปแล้วข้างหนึ่งมีโอกาสถูกตัดขาอีกข้างภายใน 2 ปีสูงถึงร้อยละ 50

ผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ จะมี

โอกาสเสี่ยงเกิดแผลบริเวณเท้าสูง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ชุมพล ว่องวานิชภาควิชาศัลยศาสตร์หลอดเลือด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อธิบายว่า

“ผู้ที่เป็นเบาหวานขั้นรุนแรง เส้นประสาทรับความรู้สึกส่วนปลายจะเกิดความเสื่อมทำให้เท้าผู้ป่วยหมดความรู้สึก แม้เดินไปเหยียบของแหลมหรือร้อนจนเป็นแผลก็จะไม่รู้สึกเจ็บปวดใดๆ และหากอาการลุกลามอาจกลายเป็นแผลติดเชื้อได้ ต้องตัดเท้าหรือขาของผู้ป่วยเพื่อรักษาชีวิตไว้”

นอกจากนี้ ผู้ป่วยเบาหวานที่สูบบุหรี่ยังมีความเสี่ยงต่อการถูกตัดขาเพิ่ม เพราะมีข้อมูลจากงานวิจัยในประเทศสวีเดน พบว่าบุหรี่มีผลต่อการอักเสบของหลอดเลือดโดยตรง นอกจากนี้ การอ้วนลงพุงโดยเฉพาะเพศชายที่มีรอบเอวมากกว่า 90 เซนติเมตร และเพศหญิงที่รอบเอวมากกว่า 80 เซนติเมตรขึ้นไป ก็เป็นสัญญาณเตือนของอาการขาขาดเลือด เพราะกลุ่มคนเหล่านี้มักเป็นเบาหวานหรืออยู่ในภาวะใกล้เป็นเบาหวาน และมีระดับไขมันในเลือดสูง จึงเสี่ยงต่อการเกิดเส้นเลือดอุดตันบริเวณขาและเท้าเช่นกัน

ทั้งนี้การอ้วนลงพุงและการสูบบุหรี่ยังทำให้เป็นโรคความดันโลหิตสูง ส่งผลให้หลอดเลือดบริเวณขาและเท้าเกิดอาการตีบและแตกได้ ทำให้ขาหมดความรู้สึกได้อีกด้วย

 

ดูแลเท้าดี มีชัยไปกว่าครึ่ง

ความผิดปกติของเท้าเป็นปัญหาสำคัญที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเบาหวานและครอบครัว อีกทั้งยังเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจที่สำคัญระดับประเทศ

องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานข้อมูลว่า 85 เปอร์เซ็นต์ของการเกิดแผลที่เท้าและขานั้นสามารถป้องกันได้ หากเราดูแลเท้าอย่างถูกต้องและปฏิบัติตามคำแนะนำที่ถูกต้องอย่างสม่ำเสมอ

คุณหมอชุมพลได้แนะนำวิธีการดูแลรักษาเท้าสำหรับผู้ป่วย เบาหวาน ว่า “อยากให้ดูแลเท้าเท่ากับดูแลรักษาใบหน้า” คือ

  1. ให้หมั่นตรวจดูสภาพเท้าว่ามีการผิดรูปหรือมีแผลหรือไม่
  2. ห้ามเดินเท้าเปล่าทั้งนอกและในบ้าน
  3. เลือกซื้อรองเท้าให้พอดีกับรูปเท้า ไม่คับหรือหลวมจนเกินไป
  4. ก่อนใส่รองเท้า ต้องเคาะเศษหินที่อาจทำให้เท้าเป็นแผลได้

นอกจากนี้ การบริหารเท้าก็สามารถช่วยให้ระบบหมุนเวียนเลือดบริเวณเท้าดีขึ้นได้ โดยสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯแนะนำวิธีบริหารเท้าไว้ดังนี้

บริหารขาด้วยท่าแกว่งเท้า

ยืนเกาะขอบโต๊ะ เหยียดขาตึง แกว่งเท้าไปด้านหน้าเกร็งขา แล้วค้างท่าไว้ นับ 1 - 10 แล้วแกว่งไปด้านหลัง ค้างท่าไว้ นับ 1 - 10 ทำ 10 ครั้ง สลับข้าง

บริหารน่อง

นั่งเก้าอี้หลังตรง ยกปลายเท้าสูงจากพื้น 1 ฟุต เกร็งปลายเท้าให้ชี้เข้าหาตัว ส้นเท้าเหยียดออกจนรู้สึกน่องตึง ค้างท่าไว้ นับ 1 - 10 คลายกล้ามเนื้อน่อง ทำ 10 ครั้ง สลับข้าง

เห็นแล้วใช่ไหมครับว่า “โรคเบาหวาน” มีขบวนพาเหรดเพื่อนร่วมโรคมากมายจริง ๆ ทางที่ดีผู้ป่วยควรจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิต และหมั่นไปตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อนเหล่านี้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ดังเช่นคำขวัญขององค์การอนามัยโลกกันนะค่ะ

“A Full Life Despite Diabetes”

“แม้เป็นเบาหวาน ชีวิตก็เบิกบานได้”

 

จาก คอลัมน์เรื่องพิเศษ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 376


บทความน่าสนใจอื่นๆ

6 ชาติ 6 ศาสตร์ สยบเบาหวาน

อาหารเยียวยาโรคเบาหวาน ยำตำลึงกุ้งสด

ไขความจริง ผู้ป่วยเบาหวานกินผักเท่าไรก็ได้จริงหรือ

ติดตาม ชีวจิต ในช่องทางต่างๆ ได้ที่

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.