เบาหวาน, ของหวาน, โรคแทรกซ้อน, ป้องกันเบาหวาน, ผู้ป่วยเบาหวาน

วิธีตัดวงจรโรคแทรกซ้อน เพื่อคน เบาหวาน สุขภาพเลิศ

โรคแทรกซ้อนกับอวัยวะส่วนกลาง

สำหรับโรคแทรกซ้อนถัดมาคือ โรคที่เกิดขึ้นกับอวัยวะช่วงกลางลำตัวซึ่งเบาหวานจะส่งผลต่อหัวใจและไต ดังนี้

หยุดเบาหวาน สลายหลอดเลือดหัวใจตีบ

ทราบหรือไม่ว่า โรคหลอดเลือดหัวใจตีบเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของประชากรทั่วโลกและของผู้ป่วยเบาหวาน

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์องอาจ วิพุธศิริ ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ป้องกันเวชศาสตร์เขตร้อนสาธารณสุขศาสตร์ และแพทย์ประจำชีวจิตโฮมคลินิก อธิบายว่า

“การมีน้ำตาลในเลือดสูงก็เปรียบเหมือนเลือดกลายเป็นเลือดเชื่อม เมื่อเลือดเชื่อมไหลไปหล่อเลี้ยงทั่วร่างกาย หลอดเลือดทั้งหมดจึงอยู่ในสภาวะแช่อิ่ม ผนังหลอดเลือดซึ่งมีเอนโดทีเลียลเซลล์ (Endothelial Cell) ก็จะแข็งตัว หยุดการเจริญ ทำหน้าที่ไม่ได้ แทนที่จะมีเอนไซม์ต่างๆ ซึ่งจะทำให้เส้นเลือดดี ใช้งานได้นาน กลับกลายเป็นเสื่อมหมด เสียความยืดหยุ่นและเปราะแตกง่าย”

และเพราะหัวใจเป็นอวัยวะสำคัญที่ทำหน้าที่สูบฉีดเลือด มีเลือดไหลผ่านในปริมาณมาก ผู้ป่วยเบาหวานและผู้มีภาวะใกล้เป็นเบาหวานที่ไม่ดูแลตัวเองจึงมักอยู่ในภาวะเหมือนหัวใจแช่อิ่ม และเป็นโรคหัวใจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เบาหวาน, โรคหัวใจ, โรคหัวใจจากเบาหวาน, โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
ผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่ดูแลตัวเอง มักเป็นโรคหัวใจร่วมด้วย

“เมื่อเส้นเลือดฝอยในหัวใจหนาขึ้น การไหลเวียนของเลือดก็เป็นไปอย่างยากลำบาก อาจผ่านได้แค่ทีละเม็ดเลือดอย่างติดขัด และที่สุดเมื่อผ่านไม่ได้ ก็ไม่สามารถนำออกซิเจนและสารอาหารเข้าไปเลี้ยงเซลล์บริเวณนั้นได้ แม้เกิดขึ้นแค่เพียงจุดใดจุดหนึ่งหรือสะดุดแค่เพียงนิดเดียวก็ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด นำมาซึ่งอาการต่างๆ เช่น เหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอก ปวดหัวใจ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหัวใจวายได้

“นอกจากนี้ ผนังหลอดเลือดที่หนาขึ้นยังส่งผลให้หัวใจต้องบีบตัวอย่างหนักเพื่อให้เลือดไปหล่อเลี้ยง ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นด้วย ซึ่งหากความดันโลหิตสูงเกิน 145/100 มิลลิเมตรปรอทต่อเนื่องนานเป็นปี ๆ ก็จะทำให้หัวใจห้องซ้ายบนโตและทำให้เส้นเลือดเริ่มตีบและแข็งตัวนำไปสู่เส้นเลือดหัวใจแตกหรือตีบ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจส่วนนั้นตายในที่สุด”

ในกรณีผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงร่วมด้วย มักมีการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจอย่างกะทันหัน แม้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะฉีดยาละลายลิ่มเลือดหรือขยายหลอดเลือดด้วยการทำบอลลูน เพื่อช่วยรักษากล้ามเนื้อหัวใจให้กลับมาทำงานได้ตามปกติ แต่ต้องได้รับการรักษาโดยด่วนหลังเกิดอาการเพื่อให้ทันการณ์

ทางที่ดีจึงควรป้องกันแต่เนิ่นๆ ด้วยวิธีที่คุณหมอแนะนำต่อไปนี้

คู่มือป้องกันโรคหัวใจจากเบาหวาน

คุณหมอองอาจเปรียบร่างกายเสมือนชามข้าว หากเติมอาหารที่มีแต่แป้ง น้ำตาล และไขมัน ก็ยิ่งเพิ่มคราบข้นเหนียวเกาะติดชาม หากทิ้งไว้ ชามจะสกปรกจนเกรอะกรังดังนั้นท่านจึงแนะให้

  1. ออกกำลังกายทุกวัน อุปมาเหมือนการล้างชามสกปรกทุกวัน ทำให้ชามสะอาด หลอดเลือดไม่อุดตัน หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องออกกำลังกายสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 – 40 นาที โดยเลือกการออกกำลังกายที่มีการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกายให้เร็วกว่าการเดินธรรมดาอย่างต่อเนื่อง เช่น เดินเร็ว วิ่ง ว่ายน้ำ รำกระบอง จึงจะช่วยลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้
เบาหวาน, ออกกำลังกาย, รำกระบอง, ป้องกันโรคหัวใจจากเบาหวาน
ออกกำลังกายเป็นประจำ ช่วยป้องกันโรคหัวใจจากเบาหวาน
  1. กินให้อายุยืน คือ เป็นคนอ่อนหวาน ไม่เป็นคนเค็มและมัน (กินหวานน้อย ไม่กินรสเค็มและของมัน) และกินอาหารที่มีรสเปรี้ยว ขม เผ็ด โดยเฉพาะรสเปรี้ยวที่มีประโยชน์ช่วยล้างเม็ดเลือด เส้นเลือดฝอย และท่อเล็กท่อน้อยทั่วร่างกายให้สะอาดได้
  2. หมั่นตรวจสุขภาพ ผู้ป่วยเบาหวานและผู้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงควรเข้ารับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อตรวจระดับการทำงานของหัวใจอย่างน้อยปีละครั้ง และหมั่นตรวจเช็กระดับน้ำตาลสะสม (HbA1c) อย่างน้อยปีละครั้ง และดูแลตัวเองไม่ให้ระดับน้ำตาลสะสมสูงกว่า 6.5 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป

เพียงเท่านี้ก็หยุดโรคหัวใจจากเบาหวานได้แล้ว

 

 

<< อ่านต่อหน้าที่ 5 >>

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.