วัยทองในเพศชาย, เพศชาย, วัยทอง, อาการวัยทอง, ฮอร์โมนเพศชาย

รับมือ วัยทองผู้ชาย หยุดหงุดหงิด ซึมเศร้า ช่วยหลับสบาย

วัยทองในเพศชายต่างจากเพศหญิงอย่างไร

วัยทองในเพศหญิงเกิดจากการหยุดทำงานของรังไข่ ทำให้ฮอร์โมนเพศหญิงหมดไปทันที เมื่อมีอายุเฉลี่ย 48 – 51 ปี โดยแบ่งเป็น

อาการวัยทองระยะสั้น มีอาการระบบประสาทแปรปรวน หงุดหงิดเครียด ซึมเศร้า ร้อนวูบวาบ

อาการวัยทองระยะกลาง มีการเสื่อมของระบบผิวหนังและเยื่อบุ ได้แก่ผิวแห้ง คันผิว ช่องคลอดแห้ง แสบช่องคลอด ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะแสบขัด

อาการวัยทองระยะยาว มีอาการของระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่นหัวใจขาดเลือด หัวใจวาย และมีปัญหาจากกระดูกพรุน

แม้อาการวัยทองในเพศหญิงจะตอบสนองต่อการรักษาด้วยฮอร์โมนเพศหญิงเป็นอย่างดี แต่อาจมีผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย เช่น มะเร็งเต้านม แพทย์จึงใช้ฮอร์โมนเพศหญิงรักษาเฉพาะอาการวัยทองระยะสั้นและระยะกลางไม่รักษาระยะยาว เพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้น

สำหรับวัยทองในเพศชายมีการศึกษาน้อยกว่า มีความเข้าใจน้อยกว่า แม้จะให้คำจำกัดความของวัยทองเพศชายว่าเกิดจากการขาดฮอร์โมนเพศชายแต่มีอาการต่างกัน ช่วงอายุที่เกิดวัยทองก็ไม่แน่นอน ระดับฮอร์โมนเพศชายที่ลดลงก็มีระดับแตกต่างกันไปในแต่ละคน จากงานวิจัยพบว่า ผู้ชายอายุ 20 -80 ปี เฉลี่ยฮอร์โมนลดลง 100 นาโนกรัมต่อเดซิลิตร หรือลดลงร้อยละ 0.4ต่อปี ในคนหนุ่มระดับฮอร์โมนเพศชายจะเปลี่ยนแปลงได้ทั้งวัน ค่าฮอร์โมนสูงสุดอยู่ที่ 8 โมงเช้า และต่ำสุดตอน 2 ทุ่ม แต่ในชายสูงวัยระดับฮอร์โมนภายในหนึ่งวันไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งพบค่าฮอร์โมนเทสทอสเทอโรนน้อยกว่า 325 นาโนกรัมต่อเดซิลิตร ซึ่งเป็นค่าที่ต่ำ โดยฮอร์โมนเพศชายต่ำมักพบในผู้ชายอายุ 60 ปี70 ปี 80 ปี คิดเป็นร้อยละ 20 30 50 ตามลำดับ แต่ไม่สามารถบอกได้ชัดเจนว่าค่าต่ำแค่ไหนจึงจะมีอาการวัยทอง เพราะผู้ชายบางคนมีฮอร์โมนอยู่ในระดับต่ำ แต่ก็ไม่มีอาการใด ๆ

วัยทองผู้ชาย, เพศชาย, อาการวัยทอง, การรับมือกับอาการวัยทอง, รับมือวัยทอง
อาการวัยทองในผู้ชายนั้นวินิจฉัยได้ยาก การรักษาได้ผลไม่แน่นอน

อาการของวัยทองในเพศชาย

ไม่สามารถแบ่งเป็นระยะได้เหมือนวัยทองในเพศหญิง แต่มีข้อบ่งชี้ที่สำคัญดังต่อไปนี้

1. อาการเซ็กซ์เสื่อม เป็นอาการที่พบได้บ่อยซึ่งสัมพันธ์กับค่าฮอร์โมนเทสทอสเทอโรนน้อยกว่า 325 นาโนกรัมต่อเดซิลิตร มี 3 ประการ คืออวัยวะเพศชายไม่แข็งตัวตอนเช้า (Poor MorningErection) ความต้องการทางเพศน้อย (LowSexual Desire) และอวัยวะเพศชายไม่แข็งตัว (Erectile dysfunction)

2. กระดูกพรุน กระดูกหัก

3. มีไขมันสะสมที่หน้าท้อง สะโพก ต้นขามวลกล้ามเนื้อและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง

4. โลหิตจาง

5. มีปัญหาทางอารมณ์ ที่พบมากคือ ร้อนวูบวาบ หงุดหงิด ซึมเศร้า นอนไม่หลับ

6. มีปัญหาความจำและขาดสมาธิ

7. เกิดโรคอ้วนลงพุง โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด

ออกกำลังกาย, ผู้ชาย, วัยทองผู้ชาย, วัยทอง, อาการวัยทอง
การออกกำลังกาย ช่วยคลายเครียด ลดเสี่ยงวัยทองในเพศชาย

การรับมือกับอาการวัยทองในเพศชาย

1. ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต อาการทางอารมณ์ในชายสูงวัยส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากวัยทอง แต่มักเกิดจากความเครียด ต้องหาวิธีลดความเครียดเช่น ออกกำลังกาย บำเพ็ญประโยชน์ หางานอดิเรกทำ พักผ่อนหย่อนใจ นวดตัว ทำสปาร้องเพลง พูดคุยปรับทุกข์ แก้ไขปัญหาความขัดแย้งในครอบครัว

2. พบแพทย์ หากสงสัยว่าเป็นอาการของชายวัยทอง โดยเฉพาะมีอาการเซ็กซ์เสื่อม ควรพบแพทย์เพื่อเจาะหาค่าฮอร์โมนเทสทอสเทอโรนในเวลา 8 – 10 โมงเช้าอย่างน้อย 2 ครั้ง หากค่าต่ำกว่า200 นาโนกรัมต่อเดซิลิตร และตรวจไม่พบโรคของลูกอัณฑะหรือโรคต่อมใต้สมอง การรักษาด้วยฮอร์โมนเพศชายอาจช่วยให้อาการเซ็กซ์เสื่อมอารมณ์หงุดหงิด หรือภาวะซึมเศร้าดีขึ้น กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้ดีขึ้นได้ทุกคน ที่สำคัญไม่ควรเพิ่มฮอร์โมนให้มีค่าสูงกว่า 400 – 500 นาโนกรัมต่อเดซิลิตร เพราะอาจเกิดความเสี่ยงต่อโรคของต่อมลูกหมาก โรคหัวใจและหลอดเลือด

3. รักษาวัยทองตามอาการ แพทย์มักใช้ยารักษาตามอาการ หากใช้ฮอร์โมนเพศชายควรรักษาในระยะสั้น

เพราะหากรักษาระยะยาวอาจมีผลเสีย เสี่ยงต่อการเกิดโรคต่อมลูกหมาก โรคหัวใจและหลอดเลือด ฯลฯ

 

จาก คอลัมน์เปิดห้องหมอสูติ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 440


บทความน่าสนใจอื่นๆ

กุยช่าย ป้องกันมะเร็งคุณผู้ชาย

13 เคล็ดลับ ของผู้ชายสุขภาพดี!

เยียวยา 5 อาการ ยอดฮิตของผู้ชาย

ติดตาม ชีวจิต ในช่องทางต่างๆ ได้ที่

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.