สมอง, เพิ่มไอคิว, ป้องกันอัลไซเมอร์, เพิ่มพลังสมอง, ฝึกจิต

วิธีฝึกจิต เพิ่มไอคิว สู้งานหนักป้องกันอัลไซเมอร์ก่อนวัย

 

รู้จักสมอง จัดการตนเอง ไอคิวพุ่ง

ปกติสมองส่วนคอร์เท็กซ์นั้นทำงานเกี่ยวข้องกับอุปนิสัยใจคอโดยตรง โดยเป็นตัวกำหนดหรือช่วยลดละอารมณ์ต่าง ๆคุณหมอแดเนียลอ้างถึงผลการตรวจ FMRIที่พบว่า หากบริเวณสมองส่วนหน้าไม่ค่อยทำงาน นั่นหมายความว่า คนคนนั้นมีปัญหาเกี่ยวกับความกังวลใจ ความกดดัน การเรียนรู้ช้า และการเสพติดพฤติกรรมบางอย่างซึ่งต้องได้รับการแก้ไข

ฉะนั้นหากผู้อ่านต้องการรู้ว่า สิ่งที่ตนเองเป็นอยู่ทุกวันนี้ต้องได้รับการแก้ไขหรือไม่ อย่างไร ให้ลองเช็กลักษณะการทำงานของสมองทั้ง 5 แบบนี้ดูค่ะ

 

1. บุ่มบ่าม ทำทันที 

คนที่มีสมองลักษณะนี้จะไม่ค่อยคิดหน้าคิดหลังก่อนพูดหรือลงมือทำ จากผลการทำ FMRI พบว่า สมองส่วนคอร์เท็กซ์ทำงานน้อยเกินไป จึงไม่เกิดการยับยั้งก่อนการตัดสินใจที่ผิดพลาด คนที่มีลักษณะสมองแบบนี้มักเป็นคนที่มีความวิตกกังวลและความเครียดสูง

BRAIN BREAKER

จากการวิจัยพบว่า มีสารโดพามีนในสมองน้อยเกินความต้องการ จึงควรเพิ่มการกินโปรตีน ลดการกินคาร์โบไฮเดรตกินอาหารเสริมประเภทชาเขียว โสม และอาหารที่มีคุณสมบัติสร้างสมดุลการทำงานของต่อมไทรอยด์

 

2. ฟุ้งซ่าน ไม่กล้าลงมือ 

คนที่มีสมองลักษณะนี้มักปล่อยให้ความคิดลบและปัญหาต่างๆ ในอดีตเข้ามาเป็นอุปสรรคขัดขวางการทำสิ่งต่างๆ โดยมักแสดงออกด้วยอาการนอนไม่หลับ จากผลการทำ FMRI พบว่า สมองส่วนคอร์เท็กซ์ทำงานมากเกินไป จนทำให้สมองหยุดสั่งการให้มองไปข้างหน้าเนื่องจากขาดสารเซโรโทนิน โดยพบว่ากาเฟอีนจะทำให้อาการแย่ลง

BRAIN BREAKER

คุณหมอแดเนียลแนะนำให้เติมเซโรโทนินให้สมองด้วยการกินอาหารที่มีเซโรโทนิน เช่น เต้าหู้ ปลาแซลมอน ถั่วต่างๆ สับปะรด หรือหากต้องการกินเซโรโทนินที่อยู่ในรูปแบบอาหารเสริมควรปรึกษาแพทย์ ***แป้งขาวและน้ำตาลก็เป็นแหล่งเซโรโทนินด้วยเหมือนกัน แต่อาหารประเภทนี้ส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว

 

3. บุ่มบ่าม ฟุ้งซ่าน 

คนที่มีสมองลักษณะนี้มักมีความสับสนอยู่ในตนเอง ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยบูลิเมียที่มีอารมณ์สองขั้ว เดี๋ยวกล้าเดี๋ยวกลัว เดี๋ยวอยากเดี๋ยวไม่อยาก จากการทำ FMRI พบว่า สมองที่อยู่ด้านในติดกับแกนสมองทำงานเยอะเกินไป ทำให้ฟุ้งซ่านเพราะความคิดลบ ขณะเดียวกันสมองส่วนคอร์เท็กซ์ก็ทำงานน้อย ทำให้ชอบทำโน่นทำนี่ที่ไม่ใช่สาระสำคัญ

BRAIN BREAKER

คนที่มีสมองลักษณะนี้ต้องเติมทั้งเซโรโทนินและโดพามีน พร้อมทั้งออกกำลังกาย รวมไปถึงอาหารเสริมที่ช่วยสมองทั้งสองส่วน การดื่มแต่ชาเขียวอย่างเดียวจะทำให้อาการแย่ลง

 

4. โศกเศร้า 

คนที่มีสมองประเภทนี้มักอยู่ในภาวะซึมเศร้า เครียด ไม่ค่อยมีกำลังใจ ไม่มีความมั่นใจในตนเอง และรู้สึกเจ็บปวดรวดร้าวตลอดเวลา จากผลการทำ FMRI พบว่า สมองส่วนที่เกี่ยวกับอารมณ์ทำงานมากเกินไป

BRAIN BREAKER

การช่วยเหลือผู้ที่มีสมองแบบ “โศกเศร้า” ควรได้รับสารอาหารเพิ่มเติมดังนี้ วิตามินดี น้ำมันปลา รวมทั้งการออกกำลังกาย

 

5. กระวนกระวายใจ 

คนกลุ่มนี้มักมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ขี้กังวล ห่วงนั่นห่วงนี่ สังหรณ์ว่าจะเกิดแต่เรื่องร้ายๆ จากการทำ FMRI พบว่า สมองส่วนในที่เกี่ยวกับความกระวนกระวายทำงานมากเกินไป และสมองขาดสารเคมีที่เรียกว่ากาบา จึงทำให้เกิดภาวะที่ร่างกายตึงเครียดตลอดเวลา

BRAIN BREAKER

คุณหมอแดเนียลแนะนำให้กินอาหารที่มีวิตามินบี 6 เช่น ปลาทูน่า ปลาแซลมอน ผักโขม กล้วย แมกนีเซียม เช่น ปลา ถั่วต่างๆ ธัญพืช ผักใบเขียว อะโวคาโด กล้วย โยเกิร์ต และกาบา เช่น ข้าวกล้อง อัลมอนด์ ถั่วเลนทิล บรอกโคลี กล้วย เพื่อให้ร่างกายผ่อนคลาย และสามารถควบคุมความกระวนกระวายได้

สมองเป็นอวัยวะที่ซับซ้อน การฝึกฝนจิตใจ พร้อมการกินอาหารสุขภาพและการออกกำลังกาย จะช่วยให้เราสามารถพัฒนาศักยภาพของสมอง เพื่อนำไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า และลดความเสี่ยงโรคสมองได้

 

จาก คอลัมน์เรื่องพิเศษ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 441


บทความน่าสนใจอื่นๆ

ออกกำลังกายแบบไหน ช่วยลูกไอคิวอีคิวสูง พุ่งปรี๊ด

สร้างสมาธิ เสริมไอคิว

6 วิธีฝึกจดจ่อเพิ่มไอคิว (ลดไฮเปอร์เทียม) เพื่อคนออนไลน์

ติดตาม ชีวจิต ในช่องทางต่างๆ ได้ที่

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.