การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ

ภาวะ การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ เรื่องใหญ่ในผู้ใหญ่

ภาวะ การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ เรื่องใหญ่ในผู้ใหญ่  

ว่ากันว่า เกิดเป็นหญิงแท้จริงแสนลำบาก นอกจากต้องดูแลครอบครัว ก็ต้องดูแลตัวเอง ต้องระวังความดัน (โลหิตสูง) เบาหวาน มะเร็ง และภาวะหัวใจเต้นพลิ้ว!! แถมแค่อายุเยอะ ก็เสี่ยงเกิดภาวะ การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ อีก!!  แต่จะทำยังไงได้…ในเมื่อหยุดแก่ไม่ได้จริง ๆ !!!

เมื่อผู้หญิงเริ่มอายุมากขึ้น จะเสี่ยงมีภาวะหัวใจเต้นพลิ้ว หรือหัวใจเต้นผิดปกติ เป็นเพราะความเสื่อมของระบบไฟฟ้าหัวใจ แน่นอนว่า หัวใจเต้นพลิ้ว ไม่ใช่เรื่องดีที่หัวใจจะขยันเต้นแผ่ว ๆ ถี่ ๆ  เพราะส่งผลให้เกิดภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติได้ สามารถเกิดเป็นลิ่มเลือด ไหลไปอุดตันหลอดเลือดในสมอง หรือปอดได้ ซึ่งนำไปสู่ภาวะอัมพฤกษ์ อัมพาต และอันตรายถึงชีวิตได้

องค์การอนามัยโลกเผยว่า ในแต่ละปีมีคนประมาณ 15 ล้านคนทั่วโลกเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) โดยประมาณ 5 ล้านคนเสียชีวิต อีก 5 ล้านคนพิการ

พันเอก นายแพทย์ปรีชา เอื้อโรจน์อังกูร หัวหน้าแผนกโรคหัวใจและหลอดเลือด กองอายุรกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ให้คำแนะนำว่า “การรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดแข็งตัวผิดปกติ ซึ่งเสี่ยงต่อภาวะหลอดเลือดสมองตีบ (Stroke) แพทย์จะให้ทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด เรียกว่า ยาวาร์ฟาริน  ทั้งนี้ ยาวาร์ฟารินนั้นถูกรบกวนได้ง่ายมาก ขนาดของยาที่ออกฤทธิ์ให้ผลการรักษาผู้ป่วยในแต่ละคนจะแตกต่างกัน หรือแม้แต่ในผู้ป่วยคนเดียวกันการได้ขนาดยาเท่ากัน ก็ยังให้ผลการรักษาที่ไม่สม่ำเสมอ”

มีหลายปัจจัยที่มีผลต่อการตอบสนองต่อยาวาร์ฟาริน เช่น  อาหารที่มีวิตามินเคปริมาณมาก (ผักใบเขียว) การออกกำลังกาย การดื่มแอลกอฮอลล์ การไม่ใช้ยาตามแพทย์สั่ง (noncompliance) เป็นต้น ดังนั้น ก่อนสั่งยา แพทย์จะต้องทราบข้อมูลการใช้ชีวิต และการรับประทานอาหารของผู้ป่วยอย่างละเอียด อาทิ ปกติทานผักเยอะหรือไม่ เป็นประจำหรือเปล่า ยาบำรุงทานอะไรบ้าง ทั้งนี้ เพราะเมื่ออายุมากขึ้น ผู้ใหญ่อาจจะทานยามากกว่า 1 โรค ซึ่งผู้หญิงก็อาจจะมียาบำรุงสุขภาพ อาหารเสริมต่าง ๆ   ซึ่งยาบางอย่างอาจรบกวนการทำงานของยาวาร์ฟารินได้

สิ่งที่สำคัญและจำเป็นที่สุดสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับยาวาร์ฟารินแต่ละราย คือ การติดตามผลของยาวาร์ฟารินที่เหมาะสม จากการวัดค่าการแข็งตัวของเลือด (ค่า International normalized ratio) หรือค่า INR อย่างสม่ำเสมออย่างน้อยทุก ๆ 4 สัปดาห์ แต่ถ้าผู้ป่วยเป็นคนมีกิจกรรมเยอะ ทานอาหารเปลี่ยนแปลงจากปกติมาก ๆ เช่น อยากทานเจเป็นบางช่วง วิ่งมาราธอน ก็อาจจะต้องวัดค่า INR บ่อยขึ้น

“ผู้ป่วยที่รักษาค่า INR ให้อยู่ในช่วงเป้าหมายได้เป็นอย่างดี มักเกิดจากการติดตามค่า INR อยู่สม่ำเสมอ เพื่อให้แพทย์ปรับขนาดยาที่เหมาะสมให้ ก็จะลดอัตราเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนได้ เนื่องจากค่า INR ที่ต่ำไปจะทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิด Stroke และถ้าค่า INR ที่สูงไปจะเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะเลือดออก” พันเอก นายแพทย์ปรีชา เอื้อโรจน์อังกูร ให้ข้อมูลเพิ่มเติม

ผู้ป่วยที่ต้องรับยาวาร์ฟาริน แต่มีไลฟ์สไตล์ที่เต็มไปด้วยกิจกรรม ชอบออกกำลังกาย ทานอาหารหลากหลาย นอกจากการตรวจวัดการแข็งตัวของเลือดที่โรงพยาบาล หรือคลินิกวาร์ฟาริน  ผู้ป่วยสามารถตรวจวัดค่า INR ได้อย่างรวดเร็ว บ่อย และสะดวกกว่าเดิม ด้วยเครื่องตรวจแบบพกพา ทำให้ผู้ป่วยสามารถตรวจวัดและติดตามค่า INR ได้อย่างสม่ำเสมอด้วยตัวเองที่บ้าน

ถึงแม้จะทานยาวาร์ฟาริน แต่ผู้ป่วยก็สามารถดูแลตัวเอง ทานอาหาร และทำกิจกรรมสนุกสนานกับลูกหลานได้ ทำการตรวจค่า INR ด้วยเครื่องแบบพกพาด้วยตนเองที่บ้าน ช่วยให้ผู้ป่วยรักษาค่า INR ของตัวเองให้อยู่ในเป้าหมายได้ดี ทั้งนี้ หากตรวจเองแล้วพบว่าค่า INR ไม่ตรงตามเป้าหมาย สามารถมาพบแพทย์ได้อย่างทันเวลา

การรับประทานยาวาร์ฟารินไม่ใช่เรื่องน่ากังวลจนขาดความสุข หากหมั่นดูแลวัดค่า INR ด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ

Posted in NEWS
BACK
TO TOP
cheewajitmedia
Writer

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.